เกิดอะไรขึ้นกับ WHA หุ้นร่วงจนต้องชะลอแผน Spin-off

WHA
จรีพร จารุกรสกุล

ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นที่ฉายแววไม่สดใส สะท้อนปัญหาหลักมาจาก “ความไม่เชื่อมั่น” ของนักลงทุนเป็นสำคัญ แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากมาย การออกโครงการลงทุนขนาดใหญ่ การแจกเงินผ่านดิจิทัลวอลเลต เพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน แต่หากขาด “ความเชื่อมั่น” ความพยายามก็เหมือนจะไร้ผล

เหมือนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กับปรากฏการณ์ “Panic Sell” ตลอดช่วงเดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาหุ้นร่วง 20% สวนทางกับดีลใหญ่ที่อยู่ระหว่างการเจรจาและเตรียมปิดยอดขายพื้นที่และเตรียมโอนในเร็ว ๆ นี้กว่า 700 ไร่ ยังไม่รวมยักษ์ใหญ่ที่ขอพื้นที่ 1,000 ไร่ เพื่อลงทุนด้านเทคโนโลยีขั้นสูงที่กำลังจะตามมา

โบรกฯมองรายได้ต่ำกว่าเป้า

แล้วเหตุใด ราคาหุ้น WHA จึงสวนทางดิ่งลงต่ำไปแตะที่ 3 บาท จาก 5 บาท ในวันที่ WHA ประกาศจะนำธุรกิจนิคอุตสาหกรรม ภายใต้บริษัทลูกอย่าง บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAID เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) เสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนครั้งแรก (IPO) ซึ่ง “บล.หยวนต้า (ประเทศไทย)” วิเคราะห์ว่า ราคาหุ้น WHA ที่ปรับตัวลง ประเด็นหลักเนื่องจากนักลงทุนผิดหวังผลประกอบการไตรมาส 4/2567 ต่ำกว่าคาดกว่า 20%

ส่วนประเด็นการ Spin-off จะทำให้ WHA สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง แต่ WHA จะกลายเป็นบริษัท Holding ในระยะยาวมูลค่าจะปรับลดลง เช่นเดียวกับ “บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์” ที่ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ด้วยกำไร Q4/2567 ของ WHA อยู่ที่ 1,250 ล้านบาท ต่ำกว่าคาด และจากรายได้จากธุรกิจขายน้ำลดลง ยอดโอนที่ดินต่ำกว่าที่คาด จึงปรับลดประมาณการกำไรปี 2568 ลง 15% เป็น 4,640 ล้านบาท แม้ว่าแผนดังกล่าวจะทำเพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินและเพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงโอกาสในการเติบโตของทุกธุรกิจในอนาคตทั้ง 5 กลุ่มด้วยการวางเงินลงทุนปีนี้ถึง 20,000 ล้านบาท คือ ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ธุรกิจโมบิลิตี้ ธุรกิจดิจิทัล ธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน โดยเฉพาะการเตรียมพื้นที่รองรับคลื่นนักลงทุนระลอกใหญ่ครั้งใหม่นี้

รายได้ทะลุหมื่นล้าน

ช่วงเช้าวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา หลังจากที่ WHA ประกาศแผน Spin-off ของ WHAID เวลาเพียงไม่นานหุ้นในกระดานของ WHA กลับร่วงลงมาอย่างไม่มีสาเหตุ บวกกับจังหวะที่มีนักวิเคราะห์ได้ประเมินถึงทิศทางของ WHA สำหรับเป้าหมายที่อาจไม่ได้ดังที่ตั้งไว้ โดยเฉพาะในส่วนของรายได้ในช่วงไตรมาส 4/2567 นั้นต่ำกว่าที่คาดการณ์

“นางสาวจรีพร จารุกรสกุล” ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวในระหว่างการเปิดแถลงข่าวด่วนในช่วงบ่ายว่า อาจเป็นผลมาจาก “Panic Sell” แต่การจะตีความว่า WHA นั้นมีรายได้ไม่เป็นไปตามเป้าจะต้องพิจารณาจากผลการดำเนินทั้งปี 2567 ไม่ใช่เพียงแค่ไตรมาสเดียวเท่านั้น และแน่นอนว่าทั้งปี 2567 WHA รายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรปกติ 14,303 ล้านบาท และกำไรปกติ 4,526 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากผลดังกล่าวสัปดาห์ต่อมา

ADVERTISMENT

มติที่ประชุมของบอร์ดตัดสินใจให้ชะลอแผน IPO ของ WHAID และการปรับโครงสร้างการถือหุ้นบริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP แม้ว่าแผนทั้งหมดได้ผ่านกระบวนการพิจารณาและเตรียมการร่วมกับที่ปรึกษาในด้านต่าง ๆ มาอย่างรอบคอบในช่วงปีที่ผ่านมาแล้วก็ตาม

เบรก IPO บวกมากกว่าลบ

หลังการประกาศชะลอแผน IPO ทางด้าน “บล.กสิกรไทย” มองว่า อาจจะส่งผลดีต่อราคาหุ้น แต่นักลงทุนยังคงต้องการเห็นแผนการลงทุนถัดไปของบริษัท หากไม่ได้เงินจาก IPO ดังกล่าวนี้แล้ว สอดคล้องกับ “บล.กรุงศรี” ที่มองว่า การชะลอแผนออกไปจะช่วยลดความกังวลต่อนักลงทุน ด้วย WHA มีผลดำเนินงานที่แข็งแกร่ง มียอดขายที่ดินมากกว่า 700 ไร่ในไตรมาส 1/2568 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 30% ของเป้าหมายปี 2568 ซึ่งอยู่ที่ 2,350 ไร่ ที่มาจากอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และดาต้าเซ็นเตอร์

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจากับลูกค้ารายใหญ่หลายรายที่พร้อมจะปิดดีล ที่อาจส่งผลให้มียอดขายพื้นที่มากกว่า 2,500 ไร่ และอาจปรับเพิ่มเป้าหมายปีนี้แตะที่ 2,700 ไร่ จึงปริมาณการการเติบโตของกำไรธุรกิจหลักในปีนี้อยู่ที่ 5,000 ล้านบาท เติบโต 10% ซึ่งเป็นสถิติสูงสุด 4 ปีติดต่อกัน

แผน 5 ปียังคงเดิม

เป้าหมายในปี 2568 WHA ยังคงเตรียมเม็ดเงินลงทุนถึง 20,000 ล้านบาท และสำหรับเป้าหมาย 5 ปี (2568-2572) ที่ 119,000 ล้านบาท จะทำให้มีรายได้ทะยานไปถึง 150,000 ล้านบาท โดยยังคงตั้งธงว่า “ธุรกิจโลจิสติกส์” ภายใต้งบฯลงทุน 19,000 ล้านบาท จะต้องเพิ่มสินทรัพย์ให้ได้ 3,309,000 ตารางเมตร มีโครงการให้เช่าพื้นที่ใหม่ 200,000 ตารางเมตร ซึ่งปีนี้เตรียมขยายธุรกิจโลจิสติกส์ทั้งในไทยและเวียดนาม โดยมุ่งเน้นพื้นที่ยุทธศาสตร์ เช่น สมุทรปราการ EEC และเมืองรองของประเทศไทย รวมทั้งขยายคลังสินค้าขนาดใหญ่ในเวียดนาม เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซและอุตสาหกรรมส่งออก

“ธุรกิจโมบิลิตี้” ภายใต้แบรนด์ Mobilix ต้องมีผู้ใช้บริการเช่าไปแตะที่ 20,000 คัน ด้วยงบฯลงทุน 30,000 ล้านบาท ที่ขยายการให้บริการทั้งบริการเช่ารถยนต์ไฟฟ้า บริการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า และโมบิลิกส์ซอฟต์แวร์โซลูชั่น และปีนี้จะต้องมีผู้ใช้บริการรถเช่าสะสมจำนวน 1,700 คัน “ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม” ด้วยงบฯลงทุน 37,000 ล้านบาท เตรียมพื้นที่รองรับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สินค้าอุปโภคบริโภค อิเล็กทรอนิกส์ ดาต้าเซ็นเตอร์ สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ คลาวด์เซอร์วิส ถึง 88,000 ไร่ และคาดว่าปีนี้อาจมียอดขายที่ดิน 2,350 ไร่

“ธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน” ที่คาดหวังว่าในปีนี้จะมียอดขาย 173 ล้านลูกบาศก์เมตร ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้ 1,185 เมกะวัตต์ และจะเพิ่มเป็น 280 ล้านลูกบาศก์เมตร 1,600 เมกะวัตต์ ในปี 2572 ด้วยเงินลงทุน 29,000 ล้านบาท “ธุรกิจดิจิทัล” จะต้องพัฒนา 5 แอปพลิเคชั่นใหม่ขึ้นมาใช้ภายในองค์กร ภายใต้เงินลงทุนที่ 4,000 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่

เป็นนักลงทุนไม่ใช่นักเล่นหุ้น

อย่างไรก็ตาม “จรีพร” ได้ย้ำมาตลอดในฐานะนักลงทุนว่า WHA จะต้องมองเทรนด์ของโลกให้ออก ซึ่งแน่นอนว่าขณะนี้ธุรกิจของ WHA เองเกิดขึ้นตามเมกะเทรนด์ของโลกแล้วจริง ๆ หากย้อนกลับไปช่วง 2-3 ปีก่อน ได้เคยวิเคราะห์แนวโน้มตลาดไว้อย่างน่าสนใจว่า EV เกิดขึ้นแน่และพลังงานสะอาดจะตามมา เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ WHA ผุดแบรนด์ Mobilix ขึ้นมาเริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนรถขนส่งในคลังสินค้าให้เป็น EV จนนำมาสู่การให้บริการแบบครบวงจรในปัจจุบัน

ขณะเดียวกันการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าสะอาดใช้เองภายในโรงงานได้เริ่มทยอยทำมาหลายปี นี่จึงเป็นคำตอบที่ว่า “จรีพร” เป็นนักลงทุนมองเกมการแข่งขันออก แต่ไม่ใช่นักเล่นหุ้นที่จะกล้าเสี่ยงในวันที่ตลาดผันผวนหนักขนาดนี้ แม้ว่าอาจจะเล็งตลาดหุ้นเวียดนามไว้แล้วก็ตามในสเต็ปถัดไป แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้การขอหยุดแผน IPO ดังกล่าวอย่างไม่มีกำหนด ชัดเจนว่าจะไม่เกิดขึ้นภายใน 2 ปีนี้อย่างแน่นอน และขอให้ ก.ล.ต. หยุดการทำ Forced Sell

เจรจาดีลใหญ่มาแน่

สำหรับการตัดสินใจนำ WHAID ซึ่งประกอบธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักของกลุ่ม WHA เข้า SET คงเป็นเพราะสัญญาณการลงทุนจากต่างประเทศ ความน่าสนใจของประเทศไทยที่มีทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค วัตถุดิบ สิทธิประโยชน์ และพื้นที่อย่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่พร้อม โดยคาดว่าบิ๊กค็อปอย่าง Google น่าจะเป็นอีกรายที่เลือก WHA

ซึ่งยังไม่รวมดีลในส่วนของซัพพลายเชนของ BYD ที่จะตามมา เนื่องจากความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวก ที่แม้จะมีต้นทุนราคาที่ดินสูงโดยเฉพาะใน EEC แต่ WHA สามารถบริหารจัดการให้ราคาที่เหมาะสมเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่สูงกว่าเกือบเท่าตัว สามารถหาโลเกชั่น และรวมแปลงใหญ่ให้ได้ตามที่ลูกค้าต้องการ ความพร้อมของน้ำ ไฟ

จึงคาดการณ์ว่ารายชื่อบริษัทระดับโลกที่มาจากยานยนต์ EV ดิจิทัล BCG ดาต้าเซ็นเตอร์ คลาวด์ เซมิคอนดักส์ ที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในปี 2567 นั้น WHA น่าจะกวาดเข้าพอร์ตมาได้เกือบทั้งหมด ส่งผลให้ WHA ยังคงยืนอยู่ในตำแหน่งความเป็นผู้นำเบอร์ 1 ของประเทศ

ตัวเลขบีโอโอปี 2567 ที่สูงถึง 1.1 ล้านล้านบาท สูงสุดในรอบ 10 ปี ยิ่งตอกย้ำว่าเงินลงทุนจะทะลักเข้ามาอย่างแน่นอน หน้าที่ของผู้พัฒนานิคมรายใหญ่อย่าง WHA จึงไม่ยอมที่จะทิ้งโอกาสนี้ไปแน่เพราะมันคือธุรกิจหลัก ที่ปัจจุบันมีนิคมอุตสาหกรรมกว่า 15 แห่ง (เปิดดำเนินการแล้ว 13 แห่ง อยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 2 แห่ง) มีพื้นที่กว่า 78,500 ไร่ ทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม และยังมีโครงการใหม่รวมถึงส่วนขยายอีก 7 โครงการ แต่อย่างไรก็ตาม ถึงจะเป็นข่าวดี

แต่หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนลึกลงไป ประเทศไทยมีคู่แข่งที่ค่อนข้างมาก “มาเลเซีย-เวียดนาม” ที่พร้อมจะดึงอุตสาหกรรมเดียวกันจากไทยไป ความได้เปรียบในเรื่องของค่าจ้างแรงงาน การครอบครองที่ดิน ต้นทุนด้านพลังงานโดยเฉพาะค่าไฟ หรือแม้แต่นโยบายของรัฐบาลที่ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา แม้ตัวเลขบีโอไอจะสูง แต่อย่าลืมว่านั่นเป็นเพียงตัวเลขการยื่นขอยังไม่ใช่เม็ดเงินลงทุนจริง ซึ่งนักลงทุนมีเวลาคิดถึง 3 ปี

ดังนั้นให้เผื่อใจไว้ว่า 50% นักลงทุนอาจเปลี่ยนใจจากไทยไปก็ย่อมได้ จากนี้อยู่ที่ “รัฐบาล” ที่ต้องสร้างทั้งความเชื่อมั่น และความมั่นคงให้ได้ เพราะเอกชนเขาพร้อมและทำทุกอย่างไว้รอหมดแล้ว