เอาให้ชัดๆ ตั๋วสัญญาใช้เงิน PN ออกแทนสัญญาเงินกู้ เลี่ยงภาษีได้มั้ย

ภาพประกอบเนื้อหาจาก Adobe Stocks
ภาพประกอบเนื้อหาจาก Adobe Stocks

เอกสารการเงินที่เรียกว่าตั๋วพีเอ็นได้มาเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ก็เมื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24-25 มีนาคมที่ผ่านมา ฝ่ายค้านมีการพูดถึง โดยระบุว่านายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร  ใช้ตั๋วพีเอ็น เป็นช่องทางในการหลบเลี่ยงภาษีที่เกิดจากการรับโอนมรดก

ทำมาความรู้จักตั๋วสัญญาการใช้เงิน (Promissory Note) คืออะไร และคนทำธุรกิจต้องรู้ มีความสำคัญอย่างไรกับการทำธุรกรรมทางการเงิน ข้อดีคืออะไร เป็นหลักประกันให้เกิดความมั่นใจกับผู้รับเงิน หรือเจ้าหนี้จะได้รับเงินตรงเวลา เพราะเป็นเอกสารที่ระบุจำนวนเงินที่เป็นหนี้ มันดีกว่าสัญญาเงินกู้จริงไหม

คุณกายสิทธิ์ พิศวงปราการ อดีตอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา สำนักงานอัยการสูงสุด ได้อรรถาธิบายในเรื่องตั๋วพีเอ็นให้เข้าใจกันว่า

ตั๋วสัญญาใช้เงิน เป็นเอกเทศสัญญา เป็นตราสารทางการเงินมีใช้กันแพร่หลายมานานในแวดวงการค้าและธุรกิจ รูปแบบของตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นไปตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 983 คือ (1) คำบอกชื่อว่าเป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน (2) คำมั่นสัญญาอันปราศจากเงื่อนไขว่าจะใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน (3) วันถึงกำหนดใช้เงิน (4) สถานที่ใช้เงิน (5) ชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับเงิน (6) วันและสถานที่ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน (7) ลายมือชื่อผู้ออกตั๋ว

ตั๋วสัญญาใช้เงินมี 2 ประเภทคือ

  • ตั๋วสัญญาใช้เงินเปลี่ยนมือได้
  • ตั๋วสัญญาใช้เงินที่เปลี่ยนมือไม่ได้

โดยตั๋วสัญญาใช้เงินนี้มีการกำหนดเวลาชำระเงินชัดเจน หรือใช้เงินเมื่อทวงถาม ซึ่งขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างผู้ออกตั๋วสัญญา และผู้รับตั๋วสัญญา  ทั้งนี้ ผู้ที่ออกตั๋วสัญญาใช้เงินมีได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล

ADVERTISMENT

ตั๋วสัญญาใช้เงินที่นักธุรกิจใช้กันอยู่แพร่หลายในภาคธุรกิจปัจจุบัน เช่น Promissory Note (ตั๋ว PN) โดยภาคธุรกิจออกเพื่อเป็นหลักฐานการชำระเงินให้ธนาคารพาณิชย์ เพื่อเบิกเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้น เมื่อครบกำหนดก็สามารถต่ออายุได้ตามที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกัน

และตั๋วสัญญาใช้เงิน Bill of Exchange (ตั๋ว BE) ที่บริษัทมหาชน ออกตั๋ว BE เพื่อชำระหนี้เงินกู้จากนักลงทุน เพื่อเป็นการระดมทุนแบบหนึ่งผ่านตราสารหนี้ โดยก่อนที่บริษัทมหาชนจะระดมทุนผ่านตั๋ว BE ได้ ต้องได้รับการอนุมัติจากสำนักงาน กลต.ก่อน เป็นต้น

ADVERTISMENT

แต่หากเป็นการออกตั๋วสัญญาใช้เงินระหว่างบุคคลธรรมดาเพื่อชำระหนี้เงินกู้ ก็ไม่ต้องขออนุมัติจากใคร สามารถออกมาเพื่อชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย หากเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้ด้วยตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับนั้น ดังที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น

เหตุที่คนในภาคธุรกิจนิยมติดต่อการค้า โดยใช้ตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นหลักฐานแห่งการเป็นหนี้และใช้ชำระหนี้ เพราะว่าสะดวก ยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนเนื้อหาและรูปแบบได้ตามความเหมาะสม ระหว่างผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินและผู้รับเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน

ไม่ว่าจะเป็นการชำระหนี้สินค้า หนี้เงินกู้ รวมทั้งเงื่อนไขในตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นสามารถปรับให้เหมาะสมกับข้อตกลงของทั้งสองฝ่าย เช่น วันครบกำหนดชำระเงิน หรือจำนวนอัตราดอกเบี้ยเป็นเท่าไรเป็นต้น

แต่เท่าที่พบเห็นในกรณีกู้เงิน ส่วนมากเจ้าหนี้มักไม่สบายใจในการรับชำระหนี้โดยตั๋วสัญญาใช้เงิน จึงนิยมทำเป็นสัญญากู้เงินแทน แต่ลูกหนี้ก็สามารถออกตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อชำระหนี้ได้ ถ้าอีกฝ่ายยอมรับตามที่ตกลงกัน ตั๋วสัญญาใช้เงินในกรณีนี้เป็นเอกเทศสัญญา และมิใช่สัญญากู้เงิน แต่เป็นตราสารที่ออกมาเพื่อชำระหนี้

โดยในตั๋วสัญญาใช้เงินสามารถระบุถึงอัตราดอกเบี้ยได้ โดยไม่อยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ โดยมีแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 1783/2551 ได้วินิจฉัยไว้ชัดเจนแล้ว

ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องการเสียภาษีหรือไม่นั้น ถ้าตั๋วสัญญาใช้เงินยังไม่ได้มีการชำระเงินตามข้อตกลง ผู้รับตั๋วก็ยังไม่ต้องเสียภาษีแต่ประการใด

แต่เมื่อใดก็ตาม มีการได้รับเงินจากตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นเงินที่เรียกว่าอะไรก็ตาม ก็จะต้องเสียภาษีตามกฎหมายต่อไป