บอร์ดรถไฟ อนุมัติแก้สัญญา ‘ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน’ คาดลงนาม มิ.ย.นี้

high speed train

บอร์ด ร.ฟ.ท. อนุมัติแก้สัญญาไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ภายใต้เกณฑ์ใหม่ 5 ข้อ เตรียมลงนามเดือนมิถุนายนนี้ คาดจะพร้อมให้บริการปี 2572

นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด ร.ฟ.ท. ได้พิจารณาเห็นชอบอนุมัติ ร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ฉบับแก้ไขแล้ว โดยขั้นตอนต่อไป ทาง ร.ฟ.ท. จะส่งร่างแก้ไขสัญญาให้คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (คณะกรรมการกำกับสัญญา) ตาม พ.ร.บ.อีอีซี ให้ความเห็นก่อน

จากนั้นขั้นตอนต่อไปจะส่งร่างสัญญาฉบับแก้ไขให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบภายในเดือนเมษายน 2568 เพื่อตรวจสอบตามขั้นตอน ซึ่งจะใช้เวลาตรวจสอบประมาณ 30 วัน และจากนั้นเมื่อผ่านการตรวจสอบก็ต้องกลับมาที่บอร์ดรถไฟเพื่อรับทราบ

นายอนันต์กล่าวว่า จากนั้นจะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซีพิจารณา ก่อนที่ส่งต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ และเมื่อ ครม. อนุมัติ คาดว่าจะมีการลงนามแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ ภายในเดือนมิถุนายน 2568

และสำหรับแผนก่อสร้าง หลังจากออกหนังสือแจ้งเริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) เอกชนที่จะรับผิดชอบการก่อสร้าง จะต้องเริ่มงานภายใน 30 วัน และจะใช้เวลาขั้นออกแบบและก่อสร้างทั้งหมด 5 ปี นับจากวันที่ออกหนังสือเริ่มแจ้งงาน และคาดว่าจะดำเนินการเสร็จและสามารถเปิดให้บริการในช่วงปี 2572

สำหรับการก่อสร้าง รูปแบบเร่งด่วนที่เอกชนจะต้องดำเนินการ คือ เร่งออกแบบโครงสร้างร่างร่วม และเริ่มการก่อสร้างบริเวณใต้รันเวย์ ที่ 2 สนามบินอู่ตะเภา และบางซื่อ-ดอนเมือง บริเวณที่มีโครงสร้างร่วมกับโครงการรถไฟไทย-จีน (สัญญา 4-1)

ADVERTISMENT

สัญญาใหม่แก้ไข 5 ประเด็น

ทั้งนี้หลักการการแก้สัญญามีทั้งหมด 5 ประเด็น ได้แก่ แก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ภายใต้สัญญาใหม่ 5 ข้อ ได้แก่

1. วิธีชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุน (Public Investment Cost : PIC) จากเดิม รัฐจะจ่ายเมื่อเอกชนเปิดเดินรถไฟความเร็วสูง โดยรัฐจะ “แบ่งจ่าย” เป็นเวลา 10 ปี ปีละเท่า ๆ กัน รวมเป็นเงิน 149,650 ล้านบาท เปลี่ยนมาเป็นรัฐจะจ่ายเป็นงวดตามความก้าวหน้าของงานก่อสร้างที่ ร.ฟ.ท.ตรวจรับ วงเงินไม่เกิน 120,000 ล้านบาท

ADVERTISMENT

แต่มีเงื่อนไขให้เอเชีย เอรา วัน ต้องวางหลักประกันเพิ่มเติมจากสัญญาเดิม รวมเป็นจำนวน 152,164 ล้านบาท เพื่อประกันว่างานก่อสร้างและรถไฟความเร็วสูงจะเปิดให้บริการได้ภายในระยะเวลา 5 ปี กรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างจะทยอยตกเป็นของ ร.ฟ.ท.ทันทีตามงวดการจ่ายเงินนั้น ๆ

2. การกำหนดการชำระค่าสิทธิให้ร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) จะให้เอเชีย เอรา วัน แบ่งชำระค่าสิทธิ จำนวน 10,671.09 ล้านบาท ออกเป็น 7 งวด เป็นรายปี ในจำนวนแบ่งชำระเท่า ๆ กัน แต่บริษัทจะต้องชำระงวดแรก ณ วันที่ลงนามแก้ไขสัญญากับ ร.ฟ.ท.

และบริษัทยังต้องวางหนังสือค้ำประกันที่ออกโดยธนาคารในมูลค่าเท่ากับค่าสิทธิ ARL รวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเงินอื่น ๆ ที่ ร.ฟ.ท.จะต้องรับภาระด้วย

3. การกำหนดส่วนแบ่งผลประโยชน์ตอบแทน (Revenue Sharing) เพิ่มเติม หากในอนาคตอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของโครงการลดลงอย่างมีนัยสำคัญและเป็นผลทำให้เอเชีย เอรา วัน ได้ผลประโยชน์ตอบแทน (IRR) เพิ่มขึ้นเกินกว่า 5.52% แล้วก็จะให้สิทธิ ร.ฟ.ท.เรียกให้บริษัทชำระส่วนแบ่งผลประโยชน์เพิ่มได้ตามแต่จะตกลงกันต่อไป

4. การ “ยกเว้น” เงื่อนไขการออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) ให้คู่สัญญาจัดทำบันทึกความตกลงยกเว้นเงื่อนไข NTP ที่ยังไม่สำเร็จ (การรับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ) เพื่อให้ ร.ฟ.ท.สามารถออกหนังสือ NTP ให้กับเอเชีย เอรา วัน ได้ทันทีหลัง 2 ฝ่ายลงนามในการแก้ไขสัญญา และ

5. ป้องกันการเกิดปัญหาในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการ โดยทำการปรับปรุงข้อสัญญาในส่วนของ “เหตุสุดวิสัย” กับ “เหตุผ่อนปรน” ให้สอดคล้องกับสัญญาร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในโครงการอื่น

ข้อมูลจาก มติชน