
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะนำวิธีการปฏิบัติตนอย่างปลอดภัยเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว
นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงเมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขอแนะนำวิธีการปฏิบัติตนอย่างปลอดภัยเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวขึ้น โดยให้ประชาชนยึดหลัก “หมอบ-ป้อง-เกาะ” โดยการหมอบลงใต้โต๊ะหรือจุดที่มีโครงสร้างมั่นคงแข็งแรงให้พ้นจากแนวที่สิ่งของอาจหล่นใส่ และป้องกันของตกกระแทกด้วยการหมอบราบกับพื้นหรือก้มต่ำโดยแขนหรือมือกำบังศีรษะ
รวมถึงเกาะโต๊ะหรือที่กำบังให้แน่น และเร่งอพยพออกจากอาคารสูงทันที และเมื่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวสิ้นสุด ขอให้ตรวจเช็กความปลอดภัยของคนรอบข้าง และอย่าเพิ่งรีบกลับเข้าไปในอาคารทันที ให้ตรวจสอบโครงสร้างอาคารและสภาพความมั่นคงปลอดภัยของสิ่งปลูกสร้างโดยรอบ หรือรอฟังคำสั่งจากทางราชการ เมื่อมั่นใจว่าปลอดภัยแล้วจึงค่อยเข้าไปในอาคารและตรวจสอบความเสียหายต่อไป
โดยในกรณีแผ่นดินไหวในครั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ประสานให้จังหวัดที่มีรายงานรับรู้แรงสั่นสะเทือน ติดตามสถานการณ์และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่เพื่อลดความตื่นตระหนก ประชาสัมพันธ์แนวทางการปฏิบัติตนให้ปลอดภัยและการให้ความช่วยเหลือของทางราชการ ตลอดจนเร่งสำรวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือประชาชนตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์และข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และหากได้รับความเดือดร้อนจากเหตุแผ่นดินไหวดังกล่าวสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป
กรมควบคุมโรคแนะวิธี
สิ่งสำคัญคือ ตั้งสติให้ได้ และทำตามขั้นตอนต่อไปนี้ :
ถ้าอยู่ในอาคาร (บ้าน, คอนโดฯ, ห้าง ฯลฯ)
1.หลบใต้โต๊ะที่แข็งแรง หรือเฟอร์นิเจอร์ที่พอจะกันของตกใส่ได้
2.ป้องกันศีรษะ ด้วยแขน กระเป๋า หมอน หรือสิ่งของใกล้ตัว
3.อยู่ให้ห่างจากหน้าต่าง ตู้หนังสือ หรือของแขวน ที่อาจร่วงลงมา
4.อย่าวิ่งออกนอกอาคาร ขณะอาคารยังสั่น เพราะอาจถูกเศษกระจกหรือปูนตกใส่
5.หลังแผ่นดินไหวสงบแล้ว ค่อยอพยพออกจากอาคารอย่างระมัดระวัง
ถ้าอยู่กลางแจ้ง
1.อยู่ให้ห่างจากอาคาร เสาไฟฟ้า ต้นไม้ใหญ่ และสะพาน
2.หาที่โล่ง ๆ และหมอบลงกับพื้น จนกว่าจะหยุดสั่น
ถ้าอยู่ในรถ
1.หยุดรถทันทีที่ปลอดภัย และจอดชิดข้างทาง
2.อยู่ในรถ จนกว่าการสั่นจะหยุด
3.อย่าจอดใต้สะพานลอย สะพานลอยฟ้า หรือสายไฟ
หลังแผ่นดินไหว
- ระวังอาฟเตอร์ช็อก (แรงสั่นสะเทือนที่ตามมา)
- ตรวจสอบก๊าซ ไฟฟ้า และน้ำประปา ว่ามีรั่วไหม
- ฟังข่าวจากทางการเพื่อรับคำแนะนำต่อไป
- ถ้าอยู่ในพื้นที่เสี่ยงสึนามิ ให้อพยพขึ้นที่สูงทันที
สำคัญที่สุดตั้งสติ และทำตามแนวทางที่ถูกต้อง