
คอลัมน์ : สัมภาษณ์
“ไทยคิดว่าตัวเองแจ๋ว แต่นักลงทุนกลับไปลงที่เวียดนาม”
บทสนทนาที่ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “นายวิกรม กรมดิษฐ์” ประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ฟังแล้วค่อนข้างที่จะบั่นทอนความรู้สึกและขัดแย้งกับตัวเลขยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ปี 2567 ที่ทะลุไปถึง 1.1 ล้านล้านบาท ขณะที่รัฐบาลคาดหวังว่าปี 2568 จะดันเศรษฐกิจให้โตแตะ 3% ให้ได้
แล้วอมตะฯ ในฐานะนักลงทุนเบอร์ต้น ๆ ของประเทศมองเช่นไร
ต้องลงทุนจริงเศรษฐกิจถึงจะโตได้
การเติบโตของเศรษฐกิจ มันเกี่ยวข้องกับการลงทุน มันต้องมีการผลิต อย่างตอนนี้มันมีกว่า 200 โรงงานที่เป็นสายการผลิตที่มีการผลิตทั้งวันทั้งคืน เหมือนประเทศจีนหากเราย้อนกลับไปดูในอดีต เช่นเดียวกันกับเวียดนาม ทำไมเศรษฐกิจเขาถึงโตกว่าไทย ขณะเดียวกันเราก็เห็นนักลงทุนเข้าไปลงทุนในเวียดนามมากกว่าไทย 2-3 เท่าอีก ดังนั้น ไทยก็จำเป็นที่ต้องมีการลงทุนเข้ามา และไทยจะต้องมีการส่งเสริม
เราต้องหันกลับไปมองจีนและสิงคโปร์ เศรษฐกิจเขาโต 5-6% ได้ ก็เพราะเขาส่งเสริมการลงทุน แล้วไทยที่ว่าให้แล้ว ดีแล้ว ทำไมไม่มา แสดงว่ามันยังไม่น่าสนใจ
หรือเราลองไปดูอย่างที่ดูไบ ทั้งที่เมืองเขามีแต่ทะเลทราย แต่ทำไมนักลงทุนยอมทุ่มเงินเพื่อไปลงทุนที่นั่น เราเห็นตั้งแต่ปี 2000 (2543) เป็นต้นมา มีการลงทุนไปที่ดูไบมูลค่าสูงมาก โครงการก็มาก และรัฐบาลเขาก็ให้สิทธิประโยชน์เต็มที่มาก ในสิ่งที่รัฐส่งเสริมมันมาตั้งแต่เรื่องของนโยบาย การดูแล การสนับสนุน ความโปร่งใส การบริการด้านการลงทุน แค่นี้เราก็พอเห็นแล้วว่าการที่นักลงทุนไม่มาไทยก็เพราะเราให้ไม่มากพอ เรากลายเป็นล้าหลังไปหมด
เราอยากเห็นเศรษฐกิจโต 3-3.5% สิ่งสำคัญมันก็ต้องมาจากการลงทุน มันต้องมีการลงทุนเข้ามา ถ้าเราไม่มีการลงทุน เราก็กระด๊อกกระแด๊ก ไม่ไปไหน เราเองไม่เข้าใจว่า “ความสามารถในการแข่งขัน” มันเป็นยังไง เพราะเราคิดว่าเรา “แจ๋ว”
นิคมศูนย์เหรียญเป็นไปไม่ได้
เราเห็นนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น สัดส่วนแซงนักลงทุนญี่ปุ่นไปแล้ว แต่ก็มีการตั้งประเด็นเรื่อง “จีนเทา” ว่าเขาเข้ามาแล้วไม่ลงทุนจริง แต่เรายืนยันได้เลยว่า ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะฯ จีนมาลงทุนจริง ที่เราเห็นตอนนี้ 95 โรงงาน คือ จีนสัดส่วนถึง 85% จากเดิมที่เป็นญี่ปุ่น และจีนเขาก็ลงทุนแบบประสบความสำเร็จ 100% จากเดิม 70% ด้วย เพราะเขารู้ปัญหาตลอด เขาก็ปรับปรุงตัวเอง ปรับปรุงโรงงาน บวกกับเราเองก็มีมาตรการดูแลและควบคุมที่เข้มงวด
โดยเฉพาะกฎระเบียบของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ทำให้การลงทุนของจีนไม่ได้มาทำอะไรแบบมั่ว ๆ
เรื่อง “นิคมศูนย์เหรียญ” มันเป็นการตั้งคำวลีขึ้นมาเอง มองจากเรื่องทัวร์ศูนย์เหรียญ ที่ว่านักท่องเที่ยวจีนเข้ามาแล้วไม่ซื้อไม่ช็อปอะไรที่ไทยเลย จึงทำให้ไทยไม่ได้ประโยชน์ จากนั้นก็มาขยายความลากเรื่องนิคมศูนย์เหรียญไปเป็นประเด็น ทั้งที่ความจริงมันไม่สามารถทำได้เลย ต้องอธิบายให้เข้าใจและอย่าผิดประเด็น ถ้าจะเรียกนิคมศูนย์เหรียญ นั่นหมายถึงเขาเข้ามาสร้างนิคมอุตสาหกรรมแล้วไม่เกิดขึ้นจริง มันจะเป็นไปได้อย่างไร เพราะการจะสร้างนิคม มันก็ต้องซื้อที่ดินตั้งแต่แรกแล้ว
ขั้นแรกเขาก็ควักเงินจ่ายมาแล้ว แล้วอะไรคือบอกว่าเขาไม่ลงทุนเลย ไม่มีใครสร้างนิคม โดยได้ที่ดินมาฟรี อย่างน้อยมันต้องใช้เงินถึงระดับ 10,000 ล้านบาทแน่นอน
ส่วนถ้าจะมองว่า นิคมศูนย์เหรียญ คือจีนเข้ามาลงทุนแล้วไม่ใช้วัตถุดิบในประเทศ (Local Content) ไม่จ้างแรงงานไทย ไม่ใช้ซัพพลายเชนไทย อันนี้มันคนละประเด็น มันไม่ใช่เรื่องของการสร้างนิคม จะมาเรียกว่านิคมศูนย์เหรียญไม่ได้ และที่สำคัญ เงื่อนไขการลงทุนรัฐก็กำหนดไว้อยู่แล้วว่า ต้องใช้ Local Content เท่าไร จ้างงานเท่าไร จึงจะได้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน
ลุยนิคมลาวพื้นที่ 20,000 ไร่
ตอนนี้เราลงทุนในต่างประเทศ 2 แห่ง คือ เวียดนาม มีบริษัท อมตะ วีเอ็น จำกัด (มหาชน) หรือ AMATAV ดูแลอยู่ ที่นี่ยอดขายดีเพราะเวียดนามให้สิทธิประโยชน์ดี และที่ลาว โดยปี 2568 เป็นปีแรกที่เราจะเริ่มขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมที่ สปป.ลาว มีบริษัท อมตะซิตี้ ลาว จำกัด ดูแลนิคมอุตสาหกรรม อมตะ สมาร์ท แอนด์ อีโค ซิตี้ นาหม้อ ใน สปป.ลาว ซึ่งตอนนี้มีพื้นที่ทั้งหมด 20,000 ไร่ เป็นที่ดินที่พร้อมพัฒนาแล้วเกือบ 6,000 ไร่ ปีนี้ตั้งเป้าจะขายพื้นที่เฟสแรกให้ได้ 500 ไร่ ด้วยเงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท
ที่เราเลือก อ.นาหม้อ สปป.ลาว เพราะเป็นเขตเศรษฐกิจแห่งใหม่ ที่รัฐบาลลาวมอบให้กับอมตะฯ เพียงรายเดียว ให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนสูงสุดในภูมิภาค โดยได้รับยกเว้นภาษีถึง 30 ปี ซึ่งสูงที่สุดในโลก สำหรับผู้ลงทุนใน 7 ปีแรกที่ครอบคลุมอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตร
เพื่อสนับสนุนการใช้วัตถุดิบภายในให้มีมูลค่ามากขึ้น ลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์พลังงานทดแทน อุตสาหกรรมผลิตยานยนต์และอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ สปป.ลาว ถือว่าเป็นตลาดที่ใหม่มาก เราเป็นนักลงทุนรายแรกที่ไปลงทุนทำนิคม และเป้าหมายต้องการผลักดันให้เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี เพื่อเป็นประตูการค้าสู่ประเทศจีนตอนใต้
โดยอาศัยเส้นทางรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน เนื่องจากนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวอยู่ห่างจากชายแดนจีนเพียง 40 กิโลเมตรเท่านั้น
ลาวให้สิทธิประโยชน์แบบสุด ๆ
ที่ สปป.ลาว เป็นประเทศที่ 2 ที่เราออกไปลงทุน เราไม่ได้มองแค่ที่นี่ แต่เราต้องหาการเจรจากับรัฐบาลที่ให้เรามากที่สุด เขาให้เราตั้งใน อ.นาหม้อ สิ่งที่เราได้ คือ 1.ประกาศให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ 2.ยกเว้นภาษีกำไร 30 ปี 3.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอัตราคงที่ 5% และส่วนลด 50% จากราคาปกติ 4.สิทธิในการนำเข้าแรงงาน สามารถนำเข้าแรงงานแบบยืดหยุ่นจากเมียนมา อาเซียน และจีน ตามความต้องการของนักลงทุน
5.สิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษี สัญญาเช่าระยะยาว (สูงสุด 50 ปี+20 ปี) 6.ภาษีอื่น ๆ รัฐบาลเขายกเว้นภาษีนำเข้าส่งออกสำหรับการผลิตเพื่อการส่งออก ภาษีมูลค่าเพิ่ม 1% สำหรับการผลิตเพื่อการส่งออกและการจัดหาสาธารณูปโภค
แผนต่อไป คือ อ.นาเตย ซึ่งได้ซื้อที่ไว้แล้วประมาณ 3,000 ไร่ ได้รับการอนุมัติสัมปทานจากรัฐบาลแล้วเช่นกัน ในส่วนนี้จะพัฒนาให้เป็นศูนย์โลจิสติกส์ ที่นาเตยเองห่างจากชายแดนจีนแค่ 10 กิโลเมตรเท่านั้น
ในไทยตุน 7,000 ล้าน ซื้อที่ใน EEC
ส่วนการลงทุนในปีนี้ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA ตั้งเป้าหมายยอดขายที่ดินทั้งในไทยและต่างประเทศ 3,500 ไร่ เติบโตจากปีก่อนมากกว่า 15% โดยเฉพาะในเวียดนามที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างมาก ทั้งญี่ปุ่น จีน เกาหลี และยุโรป เป็นต้น
สำหรับแผนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยทั้ง 3 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี, นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง และนิคมอุตสาหกรรมไทย-จีนนั้น ได้เตรียมงบฯลงทุนในไทยไว้ไม่ต่ำกว่า 7,000 ล้านบาท เพื่อหาพื้นที่ใหม่ขยายพื้นที่และพัฒนาที่ดินรองรับการลงทุนจากภาคอุตสาหกรรม
โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อย่างชลบุรีและระยอง โดยพื้นที่นิคมในแต่ละแห่งตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ทางด้านการค้าที่สำคัญ และเรายังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมทางด้านพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามหลักปรัชญา ALL WIN เข้ามาใช้ เพราะมันเป็นการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตได้แบบมั่นคงและยั่งยืน