TDRI ติงลดน้ำมัน 1 บาท ใช้กองทุนน้ำมันฯผิดวัตถุประสงค์

ดร. อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์

นักวิชาการพลังงาน TDRI ชี้มาตรการลดราคาน้ำมันเบนซิน-ดีเซล 1 บาทต่อลิตรไม่ใช่ของขวัญสงกรานต์ ติงใช้กองทุนน้ำมันฯผิดวัตถุประสงค์ แนะรัฐควรปรับโครงสร้างภาษีซ้ำซ้อนลดได้ 3-4 บาท 

ดร. อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการนโยบายพลังงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าภาครัฐใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาช่วยลดราคาน้ำมันเป็นของขวัญวันสงกรานต์ถือเป็น “เครื่องมือทางการเมือง” หาเสียงกับประชาชน

และผิดวัตถุประสงค์ของกองทุนน้ำมันฯ ที่มีไว้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศ ในช่วงสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกมีความผันผวนเกิดสภาวะวิกฤติ แต่ขณะนี้ไม่ได้เกิดวิกฤตการณ์ใดๆ และสถานการณ์โลกยังไม่แน่นอนว่าจะเกิดปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์หรือไม่

แม้สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกตอนนี้ลดลง แต่ไม่ใช่จะลดลงตลอด ด้วยปัจจัยความเสี่ยงหลายๆอย่าง ทั้งนโยบายประธานาธิบดีทรัมป์อะไรก็เกิดขึ้นได้ ควรเอาเงินกองทุนฯไปช่วยประชาชนตอนเกิดวิกฤติจริงๆ“ดังนั้นการลดราคาน้ำมันเป็นของขวัญช่วงสงกรานต์ไม่ใช่วิกฤติการณ์”

ดร.อารีพรกล่าวต่อไปว่า ในกรณีที่กองทุนน้ำมันฯนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์นั้น อาจจะยังไม่สามารถเอาผิดชัดเจนได้ เนื่องจากตามพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 นั้นกำหนดให้จัดตั้ง “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื่อเพลิง

ซึ่งในกฎหมายฉบับนี้นิยามคำว่า “วิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง” ไม่ชัดเจน ไม่ระบุว่าหมายถึงสถานการณ์วิกฤติแบบใด กรณีตัวอย่างเช่น ราคาน้ำมันสูงขึ้นมากกว่า 10% ภายใน 3 วัน ถือว่าวิกฤติเพราะกระทบกับค่าครองชีพของผู้บริโภค

ADVERTISMENT

“เป็นช่องโหว่ของการใช้คำว่าวิกฤติ ตอนนี้ราคาน้ำมันตลาดโลกลดลง ไม่ใช่วิกฤติแน่ๆ กลายเป็นนำเงินกองทุนฯไปสนับสนุนราคา” ดร.อารีพรกล่าว

ส่วนการลดราคาน้ำมัน 2 ระยะ ระยะละ 50 สตางค์ต่อลิตรนั้น มองว่าเป็นการพิจารณาผลกระทบของสถานะกองทุนน้ำมันฯ รวมถึงทิศทางสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกด้วย นอกจากนี้ยังมองว่าการลด 2 ระยะยังเป็นไปได้ที่จะช่วยลดผลกระทบกับผู้ค้าน้ำมันในการบริหารจัดการสต๊อกน้ำมันให้มีประสิทธิภาพและลดต้นทุน หากลดทันทีรอบเดียวผู้ค้าฯอาจจะตั้งตัวไม่ทัน แต่มองว่าค่อยๆทยอยลด ดีกว่าลดทีเดียว ต้องให้ความเป็นธรรมทั้งผู้ใช้และผู้ค้าฯด้วย

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ตามมองว่า รัฐสามารถทำให้ราคาน้ำมันถูกลงได้มากกว่า 1 บาทต่อลิตร หากพิจารณาโครงสร้างราคาน้ำมัน จะพบว่าต้นทุนน้ำมันหน้าโรงกลั่นประมาณ 20 บาท ประชาชนต้องจ่ายประมาณ 30 กว่าบาท ถูกคิดค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อนรวมอยู่ด้วย เช่น ภาษีสรรพสามิต ขึ้นอยู่กับประเภทของน้ำมัน เช่น น้ำมันเบนซินมีอัตราภาษีประมาณ 5.85 บาทต่อลิตร (iTAX) , ภาษีเทศบาล: จัดเก็บในอัตรา 10% ของภาษีสรรพสามิต

เพื่อใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น หากภาษีสรรพสามิตอยู่ที่ 5.85 บาทต่อลิตร ภาษีเทศบาลจะอยู่ที่ประมาณ 0.585 บาทต่อลิตร และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT): จัดเก็บในอัตรา 7% จากราคาขายส่งและค่าการตลาดของน้ำมัน(iTAX) ดังนั้นภาครัฐควรเร่งปรับโครงสร้างราคาที่มีการเก็บค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อนก็จะช่วยลดไปได้ 3-4 บาท

ดังนั้น ขณะนี้ราคาน้ำมันในตลาดโลกลด เป็นโอกาสที่จะให้เราเห็นกองทุนน้ำมันเป็นบวกได้ จึงควรปล่อยให้กองทุนทำหน้าที่ตามหลักต่อไปจะได้เอาไปใช้เมื่อเกิดวิกฤติจริงตามวัตถุประสงค์ ขณะเดียวกันราคาน้ำมันควรจะถูกลงจากต้นทุนที่ถูกลง ไม่ใช่จากเงินที่จ่ายให้กองทุนน้อยลง และเร่งปรับลดภาษีซ้ำซ้อน

“ถ้ากองทุนน้ำมันฯติดลบเพิ่มขึ้น ก็แปลว่าก็ต้องเก็บเพิ่มขึ้น เก็บจากใคร ก็เก็บจากประชาชน ทุกๆบาทที่เราเติมน้ำมัน ก็จะเป็นเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ” ดร.อารีพรกล่าว