หอการค้าไทยเสนอ 8 ข้อต่อภาครัฐ-เอกชน จี้เร่งทำระบบเตือนภัย ดึงความเชื่อมั่น

พจน์ อร่ามวัฒนนานนท์

ประธานกรรมการหอการค้าไทยมั่นใจเศรษฐกิจไทยยังเดินหน้าต่อได้ แม้เกิดแผ่นดินไหว พร้อมเปิด 8 ข้อเสนอของต่อภาครัฐ-เอกชน เร่งสร้างมาตรฐานหลักระบบเตือนภัย สร้างความเชื่อมั่นให้กลับมา ยังมั่นใจไม่มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ยังมองไว้ที่ 3%

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า กรณีแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ทางหอการค้าไทยยังยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยยังสามารถเดินหน้าต่อได้ หากมีการบริหารจัดการร่วมกันอย่างเต็มที่จากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนอย่างเป็นระบบ รวดเร็ว โปร่งใส และการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องออกสู่สังคม และต้องยอมรับว่าแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือน

จึงเป็นสิ่งที่ทุกหน่วยงานจะต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น และระบบเตือนภัย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและอันดับแรกที่จะต้องเร่งดำเนินการ รวมไปถึงการสร้างศูนย์กลางเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้กับสังคมทั้งในประเทศและทั่วโลก มีความเข้าใจ และให้ทุกภาคส่วนยังคงมีความเชื่อมั่น เพราะจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

“ยังคงมั่นใจว่าภาคการผลิตยังไม่มีผลกระทบ รวมไปถึงภาคของการส่งออก ยังมองว่าเป็นทิศทางที่ดี ส่วนการท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์ไม่น่าจะมีปัญหา แต่จำเป็นจะต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมาโดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งเร่งตรวจสอบระบบอาคารทั่วประเทศทุกจังหวัด ให้กลับมาโดยเร็วที่สุด อาคารไหนที่ยังเป็นความเสี่ยงก็จำเป็นจะต้องเร่งแจ้ง ส่วนไหนสามารถดำเนินการได้ก็ประชาสัมพันธ์เพื่อให้มีความมั่นใจ ส่วนจีดีพีของไทยในปีนี้ยังคงอยู่ที่ 3% การส่งออกยังคงโตตามเป้าหมาย แม้จะมีความกังวลในส่วนของทรัมป์ 2.0 อยู่บ้าง”

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าภัยพิบัติเป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดการณ์และประเมินล่วงหน้าได้ แต่สิ่งที่จะต้องเร่งและสร้างมาตรฐาน คือ การทำระบบแจ้งเตือนภัย ต้องให้มีความรวดเร็ว เพื่อที่ให้ประชาชนได้รับรู้และมีการเตรียมรับมือ

นอกจากนี้ หอการค้าไทยขอให้ทางรัฐบาลช่วยประสานงานไปยังทุกจังหวัดทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในครั้งนี้ ให้มีหน่วยงานกลางที่ช่วยประสานงานเข้าแก้ปัญหาในรูปแบบเดียวกันกับกรุงเทพมหานคร

ADVERTISMENT

อีกทั้งหอการค้าไทยขอนำเสนอแนวทางข้อเสนอของต่อภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้การจัดการด้านความปลอดภัยต่อระบบภัยพิบัติ รวมไปถึงการสร้างมาตรฐานใหม่เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ มีดังนี้

1. เร่งดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ในตึกอาคารอย่างรวดเร็วที่สุด โดยร่วมมือกับหน่วยงานภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งดำเนินการสืบหาข้อเท็จจริงเพื่อเป็นแบบอย่างในการป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคต

ADVERTISMENT

2. กำหนดให้มีตรวจสอบโครงสร้างอาคาร ทั้งสำนักงาน โรงงาน อาคารสูง และสิ่งปลูกสร้างในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย รวมถึงสอบหาข้อเท็จจริงถึงปัญหาที่เกิดเหตุขึ้น

3. เร่งจัดทำระบบเตือนภัยพิบัติไปสู่ภาคประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องมีโดยด่วน และการจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงและซักซ้อมแผนฉุกเฉิน ในกรณีภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทั้งภาคประชาชน ภาคสังคม และภาคธุรกิจ พร้อมสนับสนุนระบบสื่อสารฉุกเฉิน และอบรมเจ้าหน้าที่ในสถานประกอบการ

4. การส่งเสริมมาตรฐานผู้ออกแบบ ผู้รับเหมาก่อสร้าง ระบบควบคุมอาคารและการควบคุมให้เป็นไปตามมาตรฐาน ในทุกจังหวัด โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ เพื่อเสริมความเชื่อมั่นต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์

5. เร่งรัดมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูผู้ประกอบการรายย่อย SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ รวมถึงการประสานผู้ประกอบการด้านก่อสร้างและวัสดุ เพื่อซ่อมแซมอาคารและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่มีคุณภาพ ราคาประหยัด อันจะเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน

6. การสื่อสารเชิงรุก เชิงบวกและสร้างความเข้าใจร่วมกับภาคีเครือข่ายในทุกจังหวัด เพื่อให้ประชาชนและนักลงทุนมั่นใจว่าไทยสามารถบริหารสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

7. รัฐบาลควรมีหน่วยงานกลางที่จะเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ เพื่อสื่อสารให้ทันเวลา โปร่งใส อย่างถูกต้องตามสถานการณ์ที่เป็นจริงให้กับสาธารณชนและต่างประเทศได้รับทราบ

8. หอการค้าไทยกำลังดำเนินการจัดตั้งศูนย์ช่วยแก้ไขปัญหาการช่วยเหลือ SMEs และสมาชิก อาทิ การช่วยเหลือซ่อมแซมอาคารที่ได้รับผลกระทบ หรือมาตรการสินเชื่อ เพื่อแก้ไขผลกระทบดังกล่าว

หอการค้าไทยพร้อมประสานงานและสนับสนุนสมาชิก ที่เป็นผู้ประกอบการทั่วประเทศ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินนี้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ และร่วมฟื้นฟูประเทศไทยให้มั่นคง แข็งแรง และยั่งยืนผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ด้วยความปลอดภัย และร่วมกันสร้างประเทศไทยที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของผู้สูญเสีย และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมาและกระทบมายังหลายพื้นที่ของประเทศไทย เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา

จากรายงานสถานการณ์ล่าสุดของศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 30 มีนาคม 2568 เวลา 18.00 น. พบว่า มีผู้บาดเจ็บ 33 ราย เสียชีวิต 18 ราย สูญหาย 78 ราย (ตัวเลขอาจมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากยังอยู่ในระหว่างการค้นหาและให้ความช่วยเหลือ) ในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ หอการค้าขอส่งกำลังใจไปยังทุกท่านและครอบครัวที่ประสบภัย รวมถึงเจ้าหน้าที่และบุคลากรทุกฝ่ายที่ปฏิบัติหน้าที่ให้ความช่วยเหลืออย่างไม่ลดละ

หอการค้าไทยขอชื่นชมและเป็นกำลังใจต่อหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงหน่วยงานความมั่นคงที่ระดมความช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่ อาทิ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ภายใต้การนำของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมระดมทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญเข้าไปตรวจสอบและประเมินสภาพอาคารอย่างรวดเร็วและเป็นระบบ เพื่อเข้าแก้ไขสถานการณ์ภัยพิบัติอย่างเต็มที่ ถือเป็นการบริหารสถานการณ์เชิงรุกที่ช่วยคลี่คลายความตื่นตระหนกและเสริมสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนอย่างยิ่ง

นอกจากนั้น ยังขอชื่นชมหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้จัดมาตรการที่เหมาะสมและรวดเร็ว มายังประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ อาทิ

• มาตรการ “พักหนี้-ลดดอกเบี้ย” ของ ธปท. รวมถึง 7 ธนาคารพาณิชย์ SME D Bank และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

• มาตรการด้านประกันภัย จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย และสมาคมประกันชีวิตไทย ที่เร่งดำเนินการช่วยเหลือและจ่ายค่าสินไหมให้ผู้ถือกรมธรรม์ในพื้นที่ได้รับผลกระทบ