
ดีพร้อม-บางจาก ผนึก 5 พันธมิตรจัดหาน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วผลิตน้ำมันอากาศยาน SAF ตั้งเป้ากำลังผลิตวันละ 1 ล้านลิตร คาดหลังร่วมมือมีผลผลิตป้อนเข้าวันละ 4-5 หมื่นลิตร ยันไม่กระทบตั๋วเดินทางผู้บริโภค
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM) กระทรวงอุตสาหกรรมผสานความร่วมมือบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ ได้แก่ กลุ่มเซ็นทรัลบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) และสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เร่งขับเคลื่อนการส่งเสริมการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน(Sustainable Aviation Fuel) หรือที่เรียกว่า SAF ตามนโยบาย Bio-Circular-Green Economy”
เพื่อสร้างเครือข่ายในการบริหารจัดการโซ่อุปทานของน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว (Used Cooking Oil: UCO) สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบผลิต SAF ในเชิงพาณิชย์ โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ พร้อมยกระดับอุตสาหกรรมการบินไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและปรับบทบาทให้ประเทศไทยเป็นผู้เล่นสำคัญทางเศรษฐกิจในเวทีโลก รวมถึงการมุ่งมั่นสู่การเป็นศูนย์กลางทางการบิน (Aviation Hub) ของภูมิภาค ที่จะช่วยสร้างข้อได้เปรียบให้ผู้ผลิตสินค้าและบริการในประเทศและช่วยเปิดประตูบานใหญ่สู่การค้าโลก
ด้านนายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มบางจากได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการหน่วยผลิตน้ำมันอากาศยานยั่งยืน (SAF) เป็นหน่วยผลิตน้ำมันอากาศยานยั่งยืนแห่งแรกในประเทศไทย นำน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วจากครัวเรือนและ ภาคธุรกิจผ่านโครงการ “ทอดไม่ทิ้ง” และช่องทางอื่น ๆมามาผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน
ซึ่งเป็นการขานโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG และมีความยินดีที่หน่วยงานภาครัฐและพันธมิตรภาคธุรกิจให้การสนับสนุนการผลิต SAF กุญแจสำคัญสู่การลดคาร์บอนจากอุตสาหกรรมการบิน โดยมีความพร้อมในฐานะผู้บุกเบิกการผลิต Neat SAF 100% ในประเทศไทย คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและสามารถเริ่มผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนได้ภายในไตรมาส 1 ปี 2568 มีกำลังการผลิต 1,000,000 ลิตรต่อวัน
ซึ่งการจัดหาวัตถุดิบได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรทั้ง 5 องค์กรชั้นนำ คาดว่าจะสามารถจัดหาวัตถุดิบได้มากกว่า 70% จากภายในประเทศ หลังจากเกิดความร่วมมือจาก 5 องค์กรชั้นนำ คาดว่าจะมีผลผลิตป้อนเข้าบางจากประมาณ 4-5 หมื่นลิตรต่อวัน หรือ 4-5% ส่งผลให้สามารถผลิตน้ำมัน SAF ได้อย่างต่อเนื่องและมีต้นทุนที่แข่งขันได้
นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันราคาน้ำมัน SAF สูงกว่าน้ำมันทั่วไปประมาณ 1 เท่าตัว หากผสมน้ำมัน SAF เข้าไป 1% แสดงว่ายังมีน้ำมันธรรมดาถึง 99% ดังนั้นสัดส่วนดังกล่าวอาจจะทำให้ราคาตั๋วเครื่องบินเพิ่มขึ้นไม่ถึงสลึง จึงยืนยันว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อราคาตั๋วเดินทางของผู้บริโภค
อย่างไรก็ดี หลายๆประเทศเริ่มมีการกำหนดป้าหมายในการใช้น้ำมัน SAF เช่น สิงคโปร์ และยุโรปที่ตั้งเป้าให้สายการบินเติมน้ำมัน SAF เริ่มต้นที่ 2 % ในปี 2569 ปัญหาสำคัญที่ประเทศไทยกำลังเผชิญและจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเร่งด่วน คือ 1) การสร้างความหลากหลายของวัตถุดิบสำหรับการผลิต SAF และ 2) การกำหนดนโยบายภาครัฐที่ชัดเจนหรือ mandate เพื่อผลักดันการใช้ SAF ในประเทศโดยเร็ว
จึงขอเสนอแนวทางต่อหน่วยงานภาครัฐในการพิจารณา mandate เช่นการกำหนดสัดส่วนการใช้ SAF ในอุตสาหกรรมการบิน ควบคู่กับการออกมาตรการสนับสนุนหรือสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่ภาคธุรกิจ และจูงใจให้เกิดการลงทุนในระบบนิเวศของ SAF อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ไม่เพียงช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจไทย แต่ยังสร้างโอกาสในการยกระดับประเทศไทย ให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางพลังงานสะอาดของภูมิภาคในอนาคตได้
ขณะที่ นางกอบบุญ ศรีชัย ผู้บริหารสูงสุด สายงานกิจการองค์กรและลงทุนสัมพันธ์ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ ได้รับการประสานจากกลุ่มบริษัทบางจาก เข้าร่วมโครงการผลิตนำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยังยืนจากน้ำมัน ปรุงอาหารใช้แล้ว โดยได้ลงนาม MOU ร่วมกันไปเมื่อปี 2567
ในวันนี้ ถือเป็นการขยายผลต่อยอดและเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมอาหาร ให้ก้าวไกลไปพร้อมกับโลก สอดรับกับแนวคิด Sustainovation ที่ซีพีเอฟนำมาใช้ขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร มุ่งมั่นผลิตอาหารที่ดีต่อกายและดีต่อใจ ควบคู่ไปกับการดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม