‘ตึก สตง.’ สะเทือนโรงงานเหล็ก 88 บริษัทในไทยต้องสงสัย ‘ไร้มาตรฐาน’

iron

เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปอยู่แล้วว่า อุตสาหกรรมเหล็กไทยเผชิญกับภาวะ “ขาลง” มาตลอดหลายปีที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากสินค้าจากจีนที่มีกำลังการผลิตสูง อีกทั้งยังมีต้นทุนที่ต่ำกว่า เข้ามาตีตลาด ดัมพ์ราคา จนทำให้ผู้ประกอบการในประเทศปรับตัวไม่ได้ หลายบริษัทถึงกับต้องปิดกิจการ หรือจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์หันไปร่วมทุนกับจีนแทน

แต่พลันที่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อบ่ายวันที่ 28 มีนาคม 2568 ศูนย์กลางเกิดที่ประเทศเมียนมา แต่แรงสั่นสะเทือนส่งมาถึงประเทศไทย และกรุงเทพมหานครรับรู้ได้ ยิ่งไปกว่านั้น ผลกระทบที่รุนแรงสุด แรงสั่นสะเทือนมีผลให้อาคารก่อสร้างที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 ย่านจตุจักร ถล่มราบลงมา

ตึก สตง.สูง 30 ชั้น เป็นเพียงตึกเดียวใน กทม. ที่ได้รับผลกระทบแผ่นดินไหว จนถล่มราบ เป็นเหตุให้เกิดข้อสงสัยว่า การถล่มราบประหนึ่งว่า ถูกระเบิดจากภายใน น่าจะเกิดจาก “ความไร้คุณภาพ ไม่มีมาตรฐานในการก่อสร้าง” หาใช่ผลจากแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวเพียงอย่างเดียว

นั่นเป็นที่มาทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งตรวจสอบหาสาเหตุ และแน่นอนว่า ข้อสงสัยแรก หนีไม่พ้น “คุณภาพเหล็ก” ที่ใช้ในการก่อสร้าง

รง.เหล็กในไทยมีกว่า 4,000 โรง

นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านอุตสาหกรรมเหล็ก เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการเหล็กในประเทศส่วนใหญ่สามารถผลิตเหล็กได้เกือบทุกประเภท ทั้งที่ใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งแบ่งเป็นโรงงานเหล็กขั้นต้น และขั้นกลาง รวมทั้งหมดประมาณ 88 โรงงาน กำลังการผลิตรวมกัน 33.5 ล้านตัน ซึ่งหากรวมโรงงานเหล็กขั้นปลายด้วยแล้วจะมีจำนวนมาก รวมกัน 4,000 โรงงาน

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เหล็กในปัจจุบันที่กำลังการผลิตเกินความต้องการ ขณะที่ผู้ประกอบการไทยประสบปัญหาถูกเหล็กจากต่างประเทศที่มีอัตราต้นทุนที่ถูกกว่าเข้ามาตีตลาด ทำให้บางโรงงานมีการปิดตัวไป ซึ่งยอมรับว่าช่วงที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมมีการเข้มงวดในการตรวจคุณภาพเหล็กมาโดยตลอด โดยเฉพาะเรื่องของการทยอยกำหนดให้เป็นมาตรฐานบังคับ (มอก.บังคับ) ให้ได้มากที่สุด รวมถึงการลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานผลิตให้เป็นไปตามกฎหมาย ขณะเดียวกันในส่วนของผู้นำเข้าก็จะต้องมีใบอนุญาตการนำเข้าที่ถูกต้อง

ADVERTISMENT

แต่ขณะนี้มีเพียง “เหล็กอาคารก่อสร้างสำเร็จรูป” ที่นำเข้ามาจำนวนมาก แต่ยังไม่เป็นมาตรฐานบังคับ ซึ่งแน่นอนว่าในอนาคต ทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จะเร่งดำเนินการกำหนดมาตรฐานเหล็กอาคารก่อสร้างสำเร็จรูปให้เร็วที่สุด

ยันเหล็กข้ออ้อยใช้สร้างตึกได้

ส่วนกรณีเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารสำนักงานใหญ่ สตง. ที่มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับปัญหาคุณภาพเหล็กนั้น ในฐานะผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเหล็กขอยืนยันว่า “เหล็กข้ออ้อย” เป็นเหล็กที่สามารถใช้ในการก่อสร้างตึกได้ สอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของ “นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย” ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ซึ่งได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนว่า เหล็กทั้ง 7 ประเภท จำนวน 28 ชิ้น ซึ่งประกอบด้วย 1.เหล็กข้ออ้อย SD40T ขนาด 12 มม. 2.เหล็กข้ออ้อย SD40T ขนาด 16 มม. 3.เหล็กข้ออ้อย SD40T ขนาด 20 มม. 4.เหล็กข้ออ้อย SD50T ขนาด 25 มม. 5.เหล็กข้ออ้อย SD50T ขนาด 32 มม. 6.เหล็กเส้นกลม SR24 ขนาด 9 มม. จำนวน 2 เส้น 7.ลวดสลิง ขนาด 15.2 มม. จำนวน 5 เส้น ถูกผลิตมาเพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารสูงอยู่แล้ว แต่หน้าที่ของสถาบันเหล็กฯนั้นจะต้องเป็นกลางและห้ามใช้ความรู้สึก ความคิดเห็นส่วนบุคคลมาพิจารณาหรือตัดสินว่า เหล็กที่นำมาทดสอบนั้นผิดหรือถูก แต่สถาบันเหล็กฯจะต้องดูจากผลตรวจที่ผ่านการทดสอบเท่านั้น ซึ่งต้องใช้เวลาตรวจสอบก่อน

ADVERTISMENT

เผย 3 บ.เจ้าของเหล็กสร้างตึก สตง.

อย่างไรก็ตาม หากผลการตรวจสอบของสถาบันเหล็กฯออกมาแล้วพบว่า เหล็กจำนวนทั้งหมดมีมาตรฐานตามที่กฎหมายบังคับ สิ่งที่จะต้องโฟกัสในประเด็นต่อไป คือ เรื่องของ “โครงสร้างการออกแบบ” เพราะมีบางกรณีที่ค่อนข้างจะเป็นไปได้ว่า เหล็กผ่านมาตรฐาน แต่การออกแบบมีปัญหา ซึ่งจากการตรวจสอบรายชื่อตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยพบว่า เหล็กที่นำมาตรวจสอบเป็นของบริษัทที่อยู่ในประเทศ และค่อนข้างที่จะมั่นใจได้ว่าเป็นเหล็กที่ผลิตจากโรงงานในประเทศไทย เพราะที่ผ่านมา ส.อ.ท.ได้พยายามเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐใช้เหล็กในประเทศ (Local Content) 90% และก็ได้รับคำตอบที่พึงพอใจที่ภาครัฐสนองตอบคำขอ โดยยินยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว ส่งผลให้โครงการก่อสร้างหลาย ๆ แห่งต้องใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศ ที่ได้ใบรับรองและขึ้นทะเบียนสินค้า Made in Thailand : MIT เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

และจากการตรวจสอบรายชื่อบริษัทที่ผลิตเหล็กที่ใช้ในอาคาร สตง. มีจำนวน 3 บริษัท คือ ยี่ห้อ SKY (เป็นของบริษัทซินเคอหยวน ซึ่งเป็นผู้ผลิตจากจีน) TATA (เป็นของบริษัท ทาทา สตีล ผู้ผลิตจากอินเดีย) และ TYS (เป็นของเครือบริษัทไทยคูณ ผู้ผลิตจากจีนร่วมทุนกับไทย) อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นคงจะสรุปอะไรไม่ได้ และเราคงไม่สามารถปรักปรำบริษัทเจ้าของสินค้าทั้ง 3 แบรนด์ดังกล่าวได้ จนกว่าผลการตรวจสอบจะออกมาอย่างเป็นทางการ และทาง สมอ.จะต้องยืนยันว่า ผลของเหล็ก ซึ่งเป็นส่วนประกอบของอาคารก่อสร้างสำนักงานใหญ่ สตง.นั้น เป็นบวกหรือลบ

2 เดือนแรกปีนี้อุตฯเหล็กยังอ่วม

ส่วนภาพรวมเหล็กในประเทศปี 2568 นั้น ปีนี้น่าจะยังคงเป็นอีกปีที่อุตสาหกรรมเหล็กยังอยู่ในช่วงขาลงและยังคงเผชิญสภาวะวิกฤตเหมือนกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณเหล็กจีนจำนวนมากยังคงมีการนำเข้ามาแข่งขัน และดัมพ์ราคา ทุ่มตลาดไม่หยุด เนื่องจากเหล็กที่ผลิตจากจีนมีจำนวนมาก และมีต้นทุนการผลิตที่ถูกมาก

โดยพบว่าในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2568) มีการนำเข้าเหล็กจากจีนเพิ่มขึ้น 6% แม้ว่าความต้องการใช้เหล็กในประเทศเพิ่มขึ้น 2% ก็ตาม นั่นหมายความว่า เริ่มต้นปีค่อนข้างที่จะดี มีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น แต่เมื่อมีการนำเข้าสูงขึ้นในอัตราที่มากกว่า จึงทำให้เห็นภาพของโรงงานผลิตเหล็กในประเทศผลิตได้ลดลง

ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศต้องหากลยุทธ์มาแข่งขัน และปรับตัวเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ โดยไม่ต้องประสบกับปัญหาจนต้องปิดกิจการ เหมือนกับโรงเหล็กกรุงเทพ ซึ่งจำเป็นที่ภาครัฐต้องมีมาตรการช่วยเหลือ และดูแลผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ โดยไม่ปล่อยให้ผู้ประกอบการเผชิญปัญหาเพียงลำพัง