
จับตาประชุมบอร์ด กกพ.วันนี้ (2 เม.ย. 68) พิจารณามติ ครม. สั่งการหาทางออกลดค่าไฟไม่เกิน 3.99 บาทต่อหน่วยงวดหน้า (พ.ค.-ส.ค. 68)
ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า เบื้องต้นทาง กกพ.ได้รับทราบมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีมติกำหนดราคาเป้าหมายสำหรับค่าไฟงวดเดือนพ.ค.-ส.ค. 2568 ไม่เกิน 3.99 บาท/หน่วยแล้ว โดยวันนี้ (2 เมษายน 2568) จะมีการนำมติดังกล่าวเข้าหารือ
ร่วมกับคณะกรรมการ (บอร์ด) กกพ. ซึ่งจะต้องพิจารณาในส่วนของรายละเอียดของมติและข้อสั่งการว่ากกพ.จะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง ซึ่งที่ผ่านมา กกพ.ได้เสนอแนวทางการทบทวนและปรับปรุง เงื่อนไขการสนับสนุนทั้งในรูปแบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder)-Feed in Tariff (FIT) จะสามารถทำให้ค่าไฟลดลงได้ 17 สตางค์ หรือประมาณ 3.98 บาทต่อหน่วยไปแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงกันยายน 2566 ที่ผ่านมา ครม.เคยมีมติเห็นชอบเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าที่ 3.99 บาทต่อหน่วย จากเดิมหน่วยละ 4.45 บาท โดยให้มีผลตั้งแต่กันยายน-ธันวาคม 2566 ทำให้มีส่วนต่างหน่วยละ 46 สตางค์ จำเป็นต้องให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ ปตท. แบกรับภาระไปก่อน
ซึ่งราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ย (Pool Gas) สำหรับเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 ของ กกพ.เดิมอยู่ที่ 323 บาทต่อล้านบีทียู แต่ราคาที่ กกพ.จะเจรจากับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อยู่ที่ 304 บาทต่อล้านบีทียู หากวันที่ถึงกำหนดจ่ายค่าก๊าซธรรมชาติแล้ว ราคา Pool Gas เฉลี่ยสูงเกิน 304 บาทต่อล้านบีทียู ก็จะให้ ปตท.เป็นผู้รับภาระไว้ก่อน แล้วจึงให้ กฟผ.ทยอยจ่ายคืนส่วนต่างค่าเชื้อเพลิงให้ ปตท.เป็นงวด ๆ
ทั้งนี้ เมื่อวานนี้ (1 เมษายน 2568) ที่ประชุม ครม.ได้กำหนดปรับอัตราเป้าหมายค่าไฟเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2568 ไว้ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย โดยมอบให้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กำกับดูแลให้คณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ร่วมกันดูแล กฟผ.ให้ปรับลดค่าไฟตามเป้าหมาย
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังมีมติให้ กฟผ.และ กกพ.ร่วมกันหา 1) แนวทางแก้ไขสัญญารับซื้อในรูปแบบสัญญารับซื้อไฟฟ้า (Adder-FIT) และเงื่อนไขที่กำหนดให้สัญญาดังกล่าวมีอายุต่อเนื่องโดยมีวันกำหนดสัญญา 2) หาแนวทางแก้ไขปัญหาค่าความพร้อมจ่าย (AP) และค่าพลังงาน (VP) รวมทั้งสัญญารับซื้อไฟฟ้าเงื่อนไขอื่นจากโรงรับซื้อไฟฟ้าเอกชน (IPP) ตามสัญญารับซื้อไฟฟ้าระยะยาว (PPA) ให้สัญญาที่มีเงื่อนไขที่ทำให้รัฐหรือ กฟผ.เสียเปรียบ ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงเกินสมควร 3) หาแนวทางแก้ไขปัญหาในสัญญารับซื้อไฟฟ้าต่าง ๆ ที่ทำให้ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าไม่สามารถบริหารการจัดการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.ให้ลดลงได้
นอกจากนี้ ยังมีมติให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ศึกษาและเสนอแนวทางปรับโครงสร้าง Pool Gas เพื่อให้ราคาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้ามีราคาต่ำลง โดยกำหนดให้ทันการประกาศราคาไฟฟ้าในรอบกันยายน-ธันวาคม 2568
โดยทั้งหมดนี้ให้ดำเนินการพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป