ไทยรับมือ ทรัมป์ 2.0 เปิดทางนำเข้าสินค้าสหรัฐเพิ่ม 4 รายการ แลกขึ้นภาษี

ทรัมป์

วุฒิไกร ปลัดพาณิชย์ จับมือหน่วยงานรัฐ-เอกชน การเตรียมความพร้อมของไทยต่อนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา ย้ำประสาน USTR ตั้งรับอย่างเป็นระบบ ด้านหอการค้าไทยเปิดลิสต์รายการสินค้านำเข้าจากสหรัฐ

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะทำงานนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้บริหารภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

วุฒิไกร ลีวีระพันธุ์
วุฒิไกร ลีวีระพันธุ์

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดการแถลงข่าวเพื่อสื่อสารและสร้างความเข้าใจแก่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องภายในประเทศต่อการกำหนดแนวทางเตรียมความพร้อมของไทยต่อนโยบายการค้าสหรัฐ เพื่อลดผลกระทบจากการขึ้นภาษีของสหรัฐ ผ่านการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐในมิติต่าง ๆ

โดยหลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศใช้มาตรการทางภาษีต่อประเทศต่าง ๆ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาลสหรัฐ และกระตุ้นการลงทุนในประเทศ รัฐบาลไทยได้ตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และได้เตรียมการรับมืออย่างเป็นระบบ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งแต่งตั้ง คณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกาขึ้นทันที เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และกำหนดแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสม โดยคณะทำงานฯ ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และมีประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี (นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์) และที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี (นายศุภวุฒิ สายเชื้อ) ทำหน้าที่ที่ปรึกษาคณะทำงานฯ ที่ผ่านมา คณะทำงานฯ ได้หารือกันอย่างใกล้ชิดพร้อมหารือกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ

ทั้งนี้ เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย และหาแนวทางเจรจากับสหรัฐ เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกัน ลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น พร้อมทั้งวางแผนให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐผ่านมาตรการทางการเงิน อาทิ การให้เงินชดเชยดอกเบี้ยสำหรับเงินทุนหมุนเวียน

ADVERTISMENT

นายวุฒิไกร กล่าวอีกว่า จากการติดตามสถานการณ์พบว่า หลายประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐได้ยื่นข้อเสนอการเจรจา รวมมูลค่ากว่าแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้สหรัฐยังมิได้ให้การตอบรับ และทุกประเทศทั่วโลกยังคงได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีดังกล่าว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสหรัฐมุ่งเน้นการเพิ่มรายได้เข้ารัฐเป็นสำคัญ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจของประเทศ และการขาดดุลการค้าที่มีสูงมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในแต่ละปี

อย่างไรก็ดี คณะทำงานมีความพร้อมในการหารือกับสหรัฐอย่างสร้างสรรค์ เพื่อหาทางออกที่เป็นประโยชน์ร่วมกันสำหรับทั้งสองประเทศ โดยมุ่งเน้นแนวทางที่สมดุลและเป็นธรรม เพื่อลดผลกระทบต่อภาคธุรกิจและเกษตรกรไทยตลอดจนรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้น

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการภาษีของสหรัฐจะมีความชัดเจนมากขึ้นหลังจากการประกาศ Reciprocal Tariff ของสหรัฐ ในวันที่ 2 เมษายน 2568 (ตามเวลาสหรัฐ) คณะทำงานฯ ขอให้ความมั่นใจกับประชาชนและภาคธุรกิจว่า รัฐบาลไทยจะดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อลดผลกระทบจากการเก็บภาษีเพิ่มของสหรัฐบนพื้นฐานการรักษาความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ และปกป้องรักษาผลประโยชน์ของไทยอย่างดีที่สุด

เปิดสินค้าน่าเจรจา

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า กรณีสหรัฐจะมีมาตรการภาษี (ทรัมป์ 2.0) กับทั่วโลก หอการค้าไทย ยอมรับว่ากังวล เพราะอาจทำให้มีสินค้าจากต่างประเทศทะลักเข้าสู่ตลาดอาเซียนรวมถึงไทย ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อการส่งออกของไทยและผู้ประกอบการไทยในทุกระดับต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น

พจน์ อร่ามวัฒนานนท์
พจน์ อร่ามวัฒนานนท์

โดยที่ผ่านมา หอการค้าไทยได้มีการร่วมหารือแนวทางรับมือร่วมกำหนดจุดยืนของไทย รวมทั้งให้ข้อมูลและทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐและเอกชนของทั้งไทยและสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันไทยและทั่วโลกยังคงจำเป็นต้องเฝ้าจับตาการประกาศนโยบายภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariff Policy) ของสหรัฐ ในวันที่ 2 เมษายน 2568 นี้ ซึ่งมุ่งเน้นไปยังกลุ่ม 15 ประเทศที่สหรัฐ ขาดดุลทางการค้าด้วยเป็นหลัก

ซึ่งหอการค้าไทยยังมีความเป็นห่วงต่อภาพรวมและตัวเลขการค้าของไทยซึ่งได้ดุลการค้าจากสหรัฐสูง ไทยจึงมีความเสี่ยงที่จะถูกขึ้นภาษี เนื่องจากเป็นหนึ่งในประเทศที่สหรัฐ ขาดดุลการค้าลำดับที่ 11 เพื่อป้องกันผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว

โดยไทยเองควรพิจารณาเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร อาหาร และพลังงาน เพื่อลดความกดดันด้านดุลการค้า รวมถึงพิจารณาปฏิรูปโควตาภาษีนำเข้าของไทยกับสหรัฐให้มีจุดยืนที่เป็นธรรมและสมดุล (Fair and Balance Position) ในการเจรจากับสหรัฐ

อย่างไรก็ดี หนึ่งในแนวทางที่สำคัญในการลดแรงกดดันทางการค้าจากสหรัฐ คือ การเพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารที่จำเป็นจากสหรัฐ ซึ่งจะช่วยให้ไทยมีจุดยืนที่ดีขึ้นในการเจรจาต่อรอง หากพิจารณามูลค่าการค้าเฉพาะหมวดสินค้าเกษตรและอาหารพบว่าไทยเกินดุลสหรัฐเพียง 142,634 ล้านบาท โดยประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกเกษตรอาหารอันดับที่ 11 ของโลกและไทยยังมีศักยภาพในการเติบโตอีกมาก ดังนั้นปัจจัยสำคัญที่จะเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ให้มากขึ้นได้

โดยการนำเข้าวัตถุดิบที่มีคุณภาพและราคาที่เหมาะสม โดยหอการค้าฯ เสนอให้รัฐบาลไทยพิจารณาการนำเข้าสินค้ากลุ่มต่าง ๆ ที่จะไม่กระทบต่อผู้ค้าและเกษตรกรภายในประเทศของไทย

1) พืชอาหารสัตว์ (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเหลือง) ที่ผ่านมาไทยผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่เพียงพอสำหรับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และปัจจุบันยังต้องนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและหมอกควัน การเปิดโควตานำเข้าข้าวโพดจากสหรัฐ ในช่วงนอกฤดูเก็บเกี่ยวของไทย จะช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ (โค สุกร ไก่) ไทยมีต้นทุนวัตถุดิบที่ดีและถูกลง ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกเนื้อสัตว์ไปต่างประเทศดีขึ้น รวมทั้งจะช่วยผู้บริโภคในประเทศในประเภทเนื้อสัตว์ด้วย

2) สินค้าอาหารทะเล เช่น ปลาแซลมอนแช่แข็ง หอยเชลล์ และปลาทูน่าจากเรือชักธงสหรัฐ ซึ่งไทยสามารถนำเข้าวัตถุดิบเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมแปรรูปภายในประเทศ

3) สินค้าประเภทสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ (Whisky & Wine)

4) เครื่องในสัตว์ เพื่อนำมาผลิตและแปรรูปในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยง ทำเป็นสินค้าเกรดพรีเมี่ยมเพื่อส่งออก

นายพจน์กล่าวอีกว่า หอการค้ามองว่านโยบายภาษีของสหรัฐ (Trump Tariff) จะทำให้ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของโลกเปลี่ยนไปอย่างรุนแรง ซึ่งปัจจุบันประเทศจีน เกาหลีและญี่ปุ่นได้มีการร่วมมือกันทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคกันแล้ว อีกทั้งสหภาพยุโรปก็มีแนวโน้มที่จะร่วมมือกับแคนาดาในการเปิดตลาดกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกด้วยเช่นกัน

ดังนั้น ทางหอการค้าฯ เห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีที่รัฐบาลของไทยจำเป็นต้องเร่งเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง FTA ไทย-ยุโรป FTA อาเซียน-แคนาดา รวมถึงการปรับปรุง ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ให้สำเร็จภายในปี 2568 นี้ให้ได้ ซึ่งจะทำให้ GDP ของไทยเติบโตขึ้นได้ไม่ต่ำกว่า1 % รวมทั้งการส่งออกจะโตได้ไม่ต่ำกว่า 10 % ซึ่งจะลดผลกระทบจากนโยบาย Trump Tariff

นอกจากนี้ ในส่วนของการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสหรัฐ หอการค้าไทย หอการค้าอเมริกันในประเทศไทย (AMCHAM Thailand) และ U.S. Chamber of Commerce ก็จะมีกำหนดการจัดงาน “Thailand – U.S. Trade and Investment Summit 2025” ในวันที่ 19-20 พฤษภาคม 2568 นี้ ณ โรงแรม ไฮแอท รีเจ็นซี กรุงเทพฯ เพื่อเสริมความสัมพันธ์อันดีและศักยภาพเศรษฐกิจระหว่างกัน

รวมถึง ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย ก็ยังมีกำหนดจัดคณะผู้แทนหอการค้าไทย พร้อมกับนักธุรกิจ เดินทางเยือนสหรัฐ และเข้าร่วมงาน Select USA 2025 ระหว่างวันที่ 11-14 พฤษภาคม 2568 ณ มลรัฐแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา เพื่อแสวงหาแนวทางและโอกาสในการลงทุนร่วมกันระหว่างสองประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม หอการค้าพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วนอย่างใกล้ชิด เพื่อหาแนวทางรับมือและแก้ไขปัญหาจากผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยภายใต้การเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของสหรัฐต่อไป