
ปลัดพาณิชย์คาดไทยกระทบส่งออก 8 พันล้านเหรียญ ข้าว กุ้งแปรรูป ยางล้อรถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ กระทบหนัก ขณะที่มาตรการทรัมป์ 2.0 หลังสหรัฐจ่อขึ้นภาษีนำเข้าเพิ่มอีก เซมิคอนดักเตอร์ ยา และไม้ ด้านการลงทุน ปตท. สนใจเข้าลงทุนในอุตสาหกรรมก๊าซแอลเอ็นจี
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะทำงาน นโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า คณะทำงานได้มีการเตรียมประชุมและทำแผนการเจรจาเชิงรุกร่วมกับรัฐกับภาคเอกชนไว้แล้ว
สำหรับสหรัฐมีสัดส่วนการค้าการโลก 20% และเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย แต่เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย โดยจากการขึ้นภาษีในรอบแรกไทยได้รับผลกระทบไปแล้ว คือ สินค้ากลุ่มเหล็กและอะลูมิเนียมที่มีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 12 มี.ค.
โดยเหล็กขึ้นจากภาษี 0-12.5% เป็น 25% อะลูมิเนียมจาก 0-6.25% เป็น 25% ซึ่งไทยได้รับผลกระทบแต่มีการเก็บภาษีคู่แข่งในทุกประเทศ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยมากนัก เพราะยังส่งได้ตามปกติแต่ชะลอลง เนื่องจากเป็นสินค้าสหรัฐจำเป็นต้องนำเข้าส่วนกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์จะถูกขึ้นภาษีตามมา จากเดิม 0-4.9% เป็น 25% ซึ่งจะมีผล 3 เม.ย.
อย่างไรก็ตาม คาดว่าสหรัฐจะมีการปรับขึ้นภาษีไทยเพิ่มอีก 3 รายการ ประกอบด้วย สินค้ากลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ อาจปรับภาษีนำเข้าเป็น 25% ผลิตภัณฑ์ยา และไม้และผลิตภัณฑ์จากป่า และไทยยังมีแนวโน้มที่จะถูกเก็บภาษีตอบโต้โดยสหรัฐอาจจะมีการปรับเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าให้เท่าที่ไทยเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐอีกด้วย
โดยปัจจุบันพบว่าไทยมีการเก็บภาษีสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรม สูงกว่าสหรัฐราว 11% ซึ่งหากสหรัฐปรับขึ้นภาษีให้เท่าไทยเพื่อแก้ปัญหาขาดดุลการค้า คาดว่าทำให้ไทยเสียหาย 7-8 พันล้านดอลลาร์ โดยสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเช่น ข้าว กุ้งแปรรูป ยางล้อรถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์
นายวุฒิไกรกล่าวถึงแนวทางการเจรจานั้นที่ผ่านมาได้เข้าพบสภาคองเกรส เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะแล้ว และสหรัฐยังเปิดรับความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ลงทุน ผู้นำเข้าจากทุกประเทศ ซึ่งไทยก็ได้ส่งข้อมูลชี้แจงไปแล้ว
ทั้งนี้ ไทยอาจจะใช้แนวทางในการปรับลดภาษีนำเข้าและเพิ่มปริมาณนำเข้าสินค้าบางรายการจากสหรัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าให้สหรัฐ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง เนื้อสัตว์ เศษเนื้อ และเครื่องใน สุรา และเครื่องบิน โดยในส่วนนี้อาจประสานให้บริษัทการบินไทยเช่าหรือซื้อเครื่องบินจากสหรัฐเพิ่มมากขึ้น ส่วนในเรื่องของพลังงานพิจารณาให้ ปตท.นำเข้าน้ำมันดิบ ปิโตรเคมี ก๊าซธรรมชาติ และก๊าซธรรมเหลว เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าจากสหรัฐคงไม่สามารถลดการขาดดุลการค้ากับไทยที่สูงถึง 3-4 หมื่นล้านดอลลาร์ได้ทั้งหมด ดังนั้นไทยจะต้องเจรจาให้ครอบคลุมทุกมิตินอกเหนือจากการค้า ต้องมองในเรื่องของการเข้าไปลงทุนเพิ่มในสหรัฐตามข้อเสนอของสหรัฐ ที่ต้องการให้เกิดการจ้างงานในประเทศด้วย ซึ่งปัจจุบันไทยมีการลงทุนในสหรัฐราว 70 บริษัท ใน 20 มลรัฐ ทำให้เกิดการจ้างงาน 1.1 หมื่นตำแหน่ง เบื้องต้นรัฐได้คุยกับภาคเอกชนไทย พบว่าผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมอาหาร และพลังงานของไทย พร้อมที่จะเข้าไปลงทุนในสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม สหรัฐมีข้อกังวลในเรื่องการย้ายฐานการผลิตบางประเทศมายังไทย ทำให้เกิดการสวมสิทธิสินค้าส่งออกไปยังสหรัฐ โดยขณะนี้ได้สั่งให้กรมการค้าต่างประเทศเร่งแก้ปัญหา ด้วยการขึ้นบัญชีสินค้าที่เสี่ยงสวมสิทธิประเทศไทยแล้ว 49 รายการ โดยเฉพาะเหล็ก ผลิตภัณฑ์จากจีน
ขณะนี้คณะทำงานได้เตรียมมาตรการบรรเทาผลกระทบให้แก่ผู้ประกอบการแล้ว โดยระยะสั้นจะเร่งการเยียวยาเร่งด่วนทั้งผู้ประกอบ เอสเอ็มอี ด้วยมาตรการ ลดดอกเบี้ย เข้าแหล่งเงินทุนมากขึ้น ส่วนระยะยาวจะเร่งเจรจาเอฟทีเอกับตลาดใหม่ ๆ เพื่อขยายการค้าการลงทุน เพื่อชดเชยผลกระทบจากกรณีถูกสหรัฐตอบโต้ทางการค้า
“แนวทางการเตรียมรับมือและการเจรจานี้คณะทำงานคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติด้วยความรอบคอบและความเสียหายกับประเทศให้น้อยที่สุด โดยการเจรจายึดหลักการเน้นผลประโยชน์ร่วมกัน 2 ฝ่าย เพื่อสร้างสมดุลทั้ง 2 ประเทศ โดยแผนเจรจาให้เสนอให้นายกฯทั้งหมดแล้ว ซึ่งสุดท้ายนายกฯจะเป็นคนตัดสินใจ“ นายวุฒิไกรกล่าว
นายสมภพ พัฒนอริยางกูล รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ไทยกับสหรัฐมีความร่วมมือด้านพลังงานอย่างใกล้ชิดกัน ทั้งในเรื่องการนโยบายพลังงาน และการโอกาสด้านการลงทุน โดยในปี 2567 ไทยได้นำเข้าน้ำมันดิบ ปิโตรเคมี ก๊าซธรรมชาติ และก๊าซธรรมเหลว มูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์
ล่าสุดลงนามนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี 1 ล้านตันต่อปี รวมระยะเวลา 15 ปี รวมมูลค่า 7.5 พันล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ ปตท.ยังมีการลงทุนในสหรัฐ 1.2 พันล้านบาท ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และล่าสุดได้มีการพบหารือกับผู้ว่าการรัฐอะแลสกา โดยขณะนี้ภาคเอกชนไทย คือ ปตท. สนใจเข้าลงทุนในอุตสาหกรรมก๊าซแอลเอ็นจี
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป้าหมายของทรัมป์ในการขึ้นภาษี เพื่อต้องการดึงการลงทุนและการจ้างงานกลับคืน ซึ่งปีที่ผ่านมาไทยเกินดุลสหรัฐเพิ่มขึ้นจนมาอยู่ที่อันดับ 11 ของโลก โดยคาดอุตสาหกรรมที่เกินดุลมากก็จะได้รับผลกระทบ เช่น เหล็ก และอะลูมินัมที่โดนขึ้นภาษีไปก่อนแล้ว ซึ่งไทยเราส่งออกไปสหรัฐค่อนข้างมากถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
นอกจากนี้จะมีการขึ้นภาษีแบบเจาะจง ซึ่งจะทำให้กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนรับผลกระทบเพิ่มอีก โดยภาคเอกชนก็ต้องเตรียมแผนรับมือ รวมถึงต้องเตรียมข้อมูลชี้แจงด้วยว่าการเกินดุลบางส่วนก็มาจากการที่สหรัฐเข้ามาลงทุนในไทย และส่งออกกลับไปสหรัฐ เช่น อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ขณะเดียวกันสหรัฐก็ยังเกินดุลไทยหลายส่วน โดยเฉพาะธุรกิจบริการออนไลน์ ดาต้าเซอร์วิส รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญา
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ ส.อ.ท.เป็นห่วงคือ เรื่องการที่สินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนเข้ามาสวมสิทธิสินค้าไทยเพื่อส่งออกไปสหรัฐ ซึ่งประเด็นนี้สหรัฐมีการจับตาค่อนข้างมาก อีกทั้งในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ที่ไทยมีการส่งออกไปสหรัฐเพิ่มไปมากขึ้นเยอะ
ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการเร่งนำเข้าก่อนใช้มาตรการภาษี แต่สิ่งที่สวนทางคือดัชนีการผลิตในประเทศที่ลดลง และสอดคล้องตัวเลขนำเข้าจากจีนก็เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจมีการนำสินค้าจีนเข้ามาเพื่อใช้สิทธิส่งออก หรืออาจนำวัตถุดิบมาผลิต แต่ใช้วัตถุดิบในประเทศเพียง 10-20% แต่ใช้วัตถุดิบจากจีนถึง 70-80%
“ตัวเลขที่น่าสนใจการนำเข้าจากจีนยังเพิ่มต่อเนื่อง โดยเฉพาะเดือน ม.ค. 68 เพิ่มถึง 20% โดยเฉพาะเหล็ก ยางรถยนต์ ดังนั้น ส.อ.ท.จึงร่วมกับสมาชิกตั้งทีมติดตามดูอย่างใกล้ชิด พร้อมกับตั้งแพลตฟอร์ม FTI EYE ขึ้นมาเพื่อรับแจ้งข้อมูลเข้ามาหากพบเจอพฤติกรรมดังกล่าว และเร่งนำมาแก้ไขให้ทันท่วงที”