สภาผู้บริโภคฯแนะ กกพ. แสดงจุดยืนลดค่าไฟ 17 สตางค์ แทนตรึงราคา 4.15 บาท

รสนา โตสิตระกูล
รสนา โตสิตระกูล

สภาผู้บริโภคชี้ กกพ.ควรแสดงจุดยืนลดค่า Ft งวด พ.ค.-ส.ค. 68 ลง 17 สตางค์ แทนตรึงราคา 4.15 บาทต่อหน่วย ให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าในราคาที่เป็นธรรม พร้อมดันโซลาร์ภาคประชาชน

สภาองค์กรของผู้บริโภคได้เปิดเผยบทความผ่านเว็บไซต์ถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบกรอบราคาค่าไฟเป้าหมายที่ 3.99 บาทต่อหน่วย สำหรับงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2568 โดยระบุว่า

นางรสนา โตสิตระกูล กรรมการนโยบายสภาผู้บริโภค ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า จากกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบกรอบราคาค่าไฟเป้าหมายที่ 3.99 บาทต่อหน่วย สำหรับงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2568 แต่ยังไม่มีมติอนุมัติให้ปรับลดค่าไฟฟ้า ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยยังคงอยู่ที่ 4.15 บาท/หน่วยนั้น

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ควรดำเนินการตามขอบเขตอำนาจที่ทำได้เพื่อทำให้ราคาค่าไฟฟ้ามีความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น และแสดงจุดยืนตามข้อเสนอที่เคยเสนอไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานผ่านการลดค่า Ft สำหรับงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2568 ลง 17 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.98 บาทต่อหน่วย

โดยแก้ไขประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง กรอบหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้า (Electric Tariff Regulatory Framework) พ.ศ. 2564 และประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง กระบวนการ ขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ พ.ศ. 2565 ยกเลิกค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐ

“แม้ว่าเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา กกพ.ได้มีข้อเสนอไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในเรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดค่าบริการของผู้รับใบอนุญาตแต่ละประเภทให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และคำนึงถึงผลตอบแทนที่เหมาะสมของการลงทุนในกิจการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ แต่ถูกปฏิเสธจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แต่ กกพ.ควรแสดงจุดยืนให้มีการดำเนินการตามความเห็นที่ได้เสนอไป ไม่ใช่ประกาศตรึงราคาค่า Ft ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.15 บาทต่อหน่วยตามที่เป็นข่าว” รสนาระบุ

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ทางเลือกทั้ง 3 ทางเลือกของ กกพ. ยังคงเป็นไปในแนวทางเดิม คือ หนึ่ง ขึ้นค่า Ft เต็มจำนวนเพื่อจ่ายคืนหนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) ทั้งหมด สอง ขึ้นค่า Ft บางส่วนเพื่อจ่ายคืนหนี้ กฟผ.บางส่วน และสามคือ ตรึงค่า Ft โดยจ่ายคืนหนี้ กฟผ.เพียงเล็กน้อย โดยไม่ได้ทบทวนสูตรการคำนวณค่า Ft ว่ามีต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าส่วนใดบ้าง ที่สามารถบริหารจัดการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าได้ และควรเปลี่ยนแปลงนโยบายใดบ้าง เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้า

นอกจากนี้ รสนากล่าวย้ำว่า สภาผู้บริโภคยังคงมีข้อเสนอต่อ กกพ. 3 ข้อ 1) ขอให้ กกพ.ตรึงค่า Ft เพื่อให้ค่าไฟฟ้าเท่ากับ 4.18 บาทต่อหน่วย หรือลดลงกว่าเดิม และควรปฏิบัติหน้าที่ในการปกป้องผลประโยชน์ของผู้ใช้พลังงาน รวมทั้งควรเร่งรัดให้เกิดการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งส่งผลต่อราคาค่าพลังงานไฟฟ้า ที่สร้างผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่ม

ADVERTISMENT

2) ขอให้ กกพ.เสนอความเห็นของสภาผู้บริโภค ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรี ในการกำหนดนโยบายด้านพลังงาน โดยย้ำถึงเหตุผลและความจำเป็นของการดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าว (อ่านรายละเอียดข้อเสนอได้ที่ : เสนอ ตรึงค่า Ft ม.ค.-เม.ย. 68 ช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าประชาชน)

3) กกพ.ควรปรับปรุงโครงการโซลาร์ภาคประชาชน โดยกำหนดราคาแบบหักลบกลบหน่วยไฟฟ้า (Net Metering) ปรับปรุงราคารับซื้อไฟฟ้าคืนจากผู้บริโภค จากเดิม 2.20 บาทต่อหน่วย เป็นราคาเดียวกับที่ กฟผ.ขายให้กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และควรเร่งดำเนินการเปิดเสรีการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาแบบ Net Billing สำหรับภาคธุรกิจขนาดใหญ่ และภาคอุตสาหกรรม โดยไม่กำหนดโควตากำลังการผลิตและระยะเวลาการรับซื้อ