เปิดไพ่3ขั้วชิงไฮสปีดเชื่อม3สนามบิน BTS-ปตท.ลุ้น/ซีพีเต็งจ๋า !!

ยักษ์ธุรกิจไทย-เทศ ตีตั๋วประมูลรถไฟไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน เผยพันธมิตร 3 กลุ่ม ร่วมท้าชิง “กลุ่มซีพี” แกนนำเต็งจ๋าจับมือ “อิโตชู ญี่ปุ่น-ซิติก รัฐวิสาหกิจสายแข็งจากจีน” BSR ไม่ถอย “คีรี-ซิโนไทย-ราชบุรีฯ” จับกันแน่น “ปตท.” ฐานะการเงินแข็งแกร่ง ตัวแปรชี้ขาดเกมประมูลครั้งประวัติศาสตร์ “อิตาเลียนไทยฯ-ยูนิคฯ” ไม่ยอมตกขบวน หว่านเปิดดีล 2 ขั้ว ฟากเจ้าสัว “เจริญ” จองสายใต้

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สินและรักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างเปิดให้บริษัทเอกชนไทยและต่างชาติที่สนใจร่วมลงทุน PPP net cost ระยะเวลา 50 ปี โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา และพัฒนาเชิงพาณิชย์สถานีมักกะสัน 150 ไร่ และสถานีศรีราชา 25 ไร่ วงเงินลงทุนกว่า 2.24 แสนล้านบาท ซึ่งเริ่มเปิดขายเอกสารวันที่ 18 มิ.ย.-วันที่ 9 ก.ค. 2561 ปรากฏว่าช่วง 2 วันแรก (18-19 มิ.ย.) มีสนใจซื้อเอกสารประกวดราคาแล้ว 7 ราย

คาดซื้อไม่เกิน 10-15 ราย 

ประกอบด้วย 1.บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) 2.บจ.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง (ซีพี) 3.บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ 4.บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น 5.บจ.เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ (EnCo) บริษัทลูกของ ปตท. 6.บจ.อิโตชู คอร์ปอเรชั่น จากประเทศญี่ปุ่น และ 7.บจ.ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ผู้รับเหมาจากประเทศจีน จะเปิดยื่นซองวันที่ 12 พ.ย. คาดว่าจะได้ผู้ร่วมลงทุนสิ้นปี 2561 จากนั้นเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเซ็นสัญญา และเริ่มงานก่อสร้างต้นปี 2562 ใช้เวลา 5 ปี แล้วเสร็จปี 2566-2567

“เอกชนที่จะร่วมทุนกันยื่นประมูลในรูปแบบกิจการร่วมค้า จะต้องซื้อเอกสารทุกราย ส่วนบริษัทที่เป็นซับคอนแทร็กเตอร์ เช่น งานระบบ ไม่ต้องซื้อเอกสารก็ได้”

แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.คาดว่าจะมีบริษัทซื้อเอกสารไม่เกิน 10-15 ราย นอกจาก 7 บริษัทนี้แล้ว คาดว่าจะมีมาซื้ออีก เช่น บมจ.ซิโนไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งส์ ซึ่งเป็นผู้ร่วมทุนของบีทีเอส จะยื่นในนามกิจการร่วมค้า BSR ส่วนที่เหลืออาจจะมี บมจ.การช่าง บริษัทรับเหมาจากจีนและยุโรป อาทิ ฝรั่งเศส เยอรมนี แคนาดา

“ตอนนี้ยังฝุ่นตลบ ต้องรอให้ถึงวันสุดท้ายขายซองประมูล จะเห็นภาพทั้งหมดว่าใครจะจับกับใครและใครจะยื่นประมูลบ้าง โดยคาดว่าจะมียื่นประมูลไม่เกิน 3 ราย เพราะเป็นงานโครงการขนาดใหญ่ใช้เงินลงทุนสูง คนที่จะเข้ามาได้ต้องมีศักยภาพและสถานะการเงินที่แกร่งมาก ๆ”

ยื่นประมูล 3 กลุ่ม 

สำหรับ 3 รายที่จะยื่นประมูล ได้แก่ 1.กลุ่มบีทีเอสจะร่วมกับซิโน-ไทยฯ, ราชบุรีโฮลดิ้งส์, ยูนิคฯ, ซิโนไฮโดรฯ และอาจจะมี ปตท.เข้าร่วมด้วย หากคุยเรื่องสัดส่วนการถือหุ้นลงตัว 2.กลุ่มซีพีจะร่วมกับอิโตชู รัฐวิสาหกิจจากจีน อาจจะมี ช.การช่างและ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพหรือ BEM ส่วนกลุ่มที่ 3 อาจจะเป็นกลุ่ม ปตท.หากสรุปสุดท้ายไม่ได้ข้อยุติกับบีทีเอสและซีพี หากสามารถหาพันธมิตรได้ก็อาจจะแยกวงประมูลต่างหาก

“7 รายที่มาซื้อเอกสารในวันแรก คือ โต้โผที่จะยื่นประมูลโครงการนี้ บีทีเอสยังไงก็ต้องร่วมประมูล เพราะเป็นธุรกิจหลักของเขาอยู่แล้ว และคงไม่ร่วมกับ BEM ธุรกิจในเครือของ ช.การช่าง เพราะเป็นคู่แข่งทางธุรกิจกัน ส่วนซีพี เขาคาดหวังกับโครงการนี้ไว้มาก ส่วน ปตท.รับนโยบายจากรัฐบาลให้เข้ามาร่วมลงทุน เพื่อจะทานอำนาจของต่างชาติที่จะมาลงทุน ซึ่งตอนนี้ยังไม่ชัดเจนจะร่วมกับใครระหว่างบีทีเอสหรือซีพี แต่มีความเป็นไปได้สูงจะร่วมกับบีทีเอส เพราะคุยกันมานานหลายเดือน แต่ยังติดเรื่องสัดส่วนการลงทุน ส่วนอิตาเลียนไทยฯก็เข้าหาทั้งซีพีและบีทีเอส”

นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิโน-ไทยฯ กล่าวว่า จะร่วมกับบีทีเอสและราชบุรีโฮลดิ้งส์ยื่นประมูลในนามกิจการร่วมค้า BSR และกำลังเจรจากับพันธมิตรรายอื่น ๆ ทั้ง ปตท. ที่ยังไม่สรุปเรื่องสัดส่วนการลงทุน ซึ่งต้องดูเป็นรายโปรเจ็กต์ จากเดิมสายสีชมพูกับสีเหลืองบริษัทจะลงทุน 15% ส่วนพันธมิตรต่างชาติมีทั้งยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี จีน ญี่ปุ่น ยังไม่สรุปเช่นกัน

นายนที พานิชชีวะ ประธานกรรมการ บมจ.ยูนิคฯ กล่าวว่า บริษัทได้ซื้อทีโออาร์ประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินมาศึกษารายละเอียด อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะเข้าร่วมหรือไม่และกับใคร ยังไม่สามารถสรุปได้ในขณะนี้ แต่บริษัทก็มีความเชี่ยวชาญก่อสร้างรถไฟฟ้ามาหลายสาย โดยร่วมกับซิโนไฮโดรฯ เช่น สายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย เป็นต้น

บริษัทไทย-จีน-ญี่ปุ่นมาครบ 

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยว่า หลังประกาศเชิญชวนการคัดเลือกเอกชนการร่วมลงทุนกับเอกชนในกิจการของรัฐโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีกลุ่มธุรกิจรายใหญ่อันดับต้น ๆ ในประเทศไทย มาซื้อเอกสารคัดเลือกกันครบหมดตั้งแต่วันแรก จำนวน 7 ราย คาดว่ากลุ่มธุรกิจที่จะมาซื้อเอกสารคัดเลือกเพิ่ม น่าจะเป็น บมจ.ช.การช่าง และอาจจะมีกลุ่มธุรกิจในเครือนายเจริญ สิริวัฒนภักดี และบริษัทชั้นนำจากเกาหลีใต้ และจากสหภาพยุโรป

แกนนำ 3 กลุ่มธุรกิจยักษ์ไทย 

แหล่งข่าวคาดการณ์ว่า บริษัทที่น่าจะเป็นแกนหลัก ในการร่วมทุน ยังคงเป็นบริษัทไทย 3 ราย คือ กลุ่มแรก บจ.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง เป็นแกนนำ กลุ่มที่สอง มี บจ.เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ (EnCo) เป็นแกนหลัก และกลุ่มที่สาม คือกลุ่มบีเอสอาร์ ที่มี บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง เป็นหัวขบวน

โดยกลุ่มแรก บจ.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ ยักษ์ใหญ่ บจ.อิโตชู คอร์ปอเรชั่น เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดของประเทศญี่ปุ่น มีระบบโลจิสติกส์และเครือข่ายธุรกิจทั่วโลกที่มีมาตรฐานระดับสากล และก่อนหน้านี้กลุ่มอิโตชู ร่วมกันลงทุนกับกลุ่มซิติกฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทของรัฐบาลจีนที่ใหญ่ที่สุด

กลุ่มที่ 2 บมจ.ปตท. ซึ่งซื้อเอกสารคัดเลือกโดย บจ.เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ กลุ่มนี้จะเป็นตัวแปร ในการลงทุนและอาจพลิกให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งขึ้นเป็นผู้ชนะประมูล และรัฐบาลหวังจะใช้ฐานะการเงินที่แข็งแกร่งของกลุ่ม ปตท. เป็นแกนนำในการประมูลโครงการประวัติศาสตร์ ส่วนกลุ่มที่ 3 กลุ่ม BSR ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง, บมจ.ซิโน-ไทยฯ และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งส์

“ส่วนอิตาเลียนไทยฯ ยูนิคฯ และซิโนไฮโดรฯ ที่ซื้อเอกสารไป คาดว่าจะร่วมขบวนกับ 3 กลุ่มดังกล่าว” แหล่งข่าวกล่าวและว่าโครงการนี้ลงทุนสูงถึง 2.24 แสนล้านบาท ผลตอบแทนในระบบเศรษฐกิจ ตลอดอายุโครงการ 6.52 แสนล้านบาท ในระยะเริ่มต้นมีกำไรไม่มาก แต่จะเป็นการลงทุนในระยะยาว และโครงการมีโอกาสทำกำไรในช่วงระยะกลาง ถึงหมดสัมปทาน 50 ปี ซึ่งรัฐบาลอาจจะต้องออกแบบการช่วยเหลือบางรายการ ในระยะเริ่มโครงการ

อนุสรณ์แห่งการลงทุน

“กลุ่มธุรกิจที่จะเป็นแกนนำ และร่วมลงทุนในโครงการนี้ ต้องเป็นกลุ่มที่มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งจริง ๆ และต้องวางแผนไว้ล่วงหน้าแล้ว ในการจับมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจร่วมลงทุนในครั้งนี้ เพราะหัวใจของโครงการไม่ใช่กำไรในการบริหารที่ดินเชิงพาณิชย์อย่างเดียว แต่หากใครชนะประมูลก็จะได้ใช้โครงการนี้เป็น trophy หรือเป็นโครงการที่อนุสรณ์ เป็นสัญลักษณ์ในชัยชนะ ที่จะถูกอ้างอิงในอนาคต” แหล่งข่าวกล่าว

เจริญรอตีตั๋วไฮสปีดสายใต้

แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.กล่าวว่า การที่ยังไม่มีชื่อบริษัทเป็นธุรกิจในเครือของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี มาซื้อเอกสาร เนื่องจากสนใจลงทุนเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211 กม. เพราะมีที่ดินที่หาดชะอำนับ 1 หมื่นไร่จะพัฒนาโครงการมารองรับ ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.นำเสนอโครงการให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาเพื่อเสนอคณะกรรมการ PPP อนุมัติแล้ว โดยดำเนินการคู่ขนานไปกับการขออนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

การลงทุนเป็นรูปแบบ PPP net cost (สัมปทาน) เป็นโมเดลเดียวกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยรัฐลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ส่วนเอกชนลงทุนงานโยธาและงานระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถ พร้อมได้สิทธิเดินรถและพัฒนาพื้นที่ภายในสถานีและโดยรอบ เป็นระยะเวลา 50 ปี ทั้งโครงการใช้เงินลงทุน 100,125 ล้านบาท