
ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่ม หลังสกุลเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ท่ามกลางแรงกดดันจากการปรับเพิ่มภาษีนำเข้าของสหรัฐ
หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ.ไทยออยล์ระบุว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคามีดังนี้ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสและเบรนต์ปรับเพิ่มขึ้น หลังค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวลดลง 0.33% ส่งผลให้สัญญาน้ำมันดิบที่ซื้อขายด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐมีราคาถูกลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น
โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสซื้อขายเมื่อ 2 เม.ย. 2568 อยู่ที่ 71.71 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น +0.51 เหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันดิบเบรนต์อยู่ที่ 74.95 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น +0.46 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ลงนามบังคับใช้อัตราภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ที่ระดับ 10% สำหรับทุกประเทศนับตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย. 68 นี้ ก่อนที่อัตราภาษีดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับครึ่งหนึ่งของอัตราที่แต่ละประเทศเรียกเก็บจากสหรัฐ ในวันที่ 9 เม.ย. 68
โดยสหภาพยุโรปจะถูกเรียกเก็บที่ระดับ 20% ขณะที่จีนจะถูกเรียกเก็บเพิ่มเติมอีก 34% ส่งผลให้อัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนจะอยู่ที่ระดับ 54% การประกาศบังคับใช้มาตรการดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลกระทบให้ต้นทุนราคาสินค้าต่าง ๆ ปรับเพิ่มสูงขึ้น และกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 28 มี.ค. 68 ปรับเพิ่มขึ้น 6.2 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 439.8 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับลดลง 2.1 ล้านบาร์เรล
ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังรายงานปริมาณการซื้อขายน้ำมันเบนซินในตลาดสิงคโปร์ประจำเดือน มี.ค. 68 ปรับเพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ตลาดได้รับแรงกดดันจากอุปทานน้ำมันเบนซินในภูมิภาคที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้น ภายหลังโรงกลั่นของเกาหลีใต้กลับมาดำเนินการอีกครั้ง
ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลปรับลดลงสวนทางราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังอุปทานน้ำมันดีเซลในภูมิภาคมีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้น ภายหลังโรงกลั่นของเกาหลีใต้กลับมาดำเนินการอีกครั้ง นอกจากนี้ ตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากรายงานปริมาณการซื้อขายน้ำมันดีเซลในตลาดสิงคโปร์ประจำเดือน มี.ค. 68 ซึ่งปรับลดลง 16% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า