พิชัย รับตกใจทรัมป์รีดภาษี 36% ตั้งแผนลดภาษี-เพิ่มนำเข้า จ่อเจรจาสหรัฐทันที

พิชัย นริพทะพันธุ์
พิชัย นริพทะพันธุ์

พิชัย รมว.พาณิชย์ยอมรับตกใจทรัมป์ประกาศเก็บภาษีนำเข้า 36% คาดอาจแตะระดับ 37% จ่อเจรจาสหรัฐ 3 มาตรการปรับลดภาษี-เพิ่มสินค้า-ลดเงื่อนไขนำเข้า พบ 15 สินค้าเกษตร ข้าวหอมมะลิส่งออกสูงสุดกระทบหนัก

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศไทยถูกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 36% โดยยอมรับว่าค่อนข้างตกใจที่เห็นสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าจากไทยเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้

ซึ่งรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีได้ตั้งคณะทำงานนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาขึ้นมาแล้ว และได้มานั่งวิเคราะห์กันว่าสหรัฐอาจจะใช้คำนวณรวมภาษีโดยตั้งไว้ที่ 72% แล้วหารสองเหลือ 36%

ต้องบอกว่าทุกประเทศได้รับผลกระทบทั้งหมด อย่างประเทศที่ได้ไปเจรจากับสหรัฐก่อนหน้านี้ อย่างเวียดนามก็ถูกเก็บภาษีเพิ่มเป็น 46% และญี่ปุ่น 24%

ทั้งนี้ แนวทางปฏิบัติหลังจากนี้ ต้องเร่งเจรจากับสหรัฐว่าจะทำอย่างไรให้ลดภาษีนำเข้าตรงนี้ให้ได้ รวมถึงต้องพยายามหาแนวทางเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วย

อย่างไรก็ตาม ได้ติดตามสถานการณ์ตั้งแต่ช่วงเมื่อคืนที่ผ่านมา และได้ติดต่อไปทางสหรัฐแล้ว ว่าไทยอยากเข้าไปเจรจา ย้ำว่า “ไม่ได้นิ่งนอนใจ”

ADVERTISMENT

ยืนยันว่าได้ดำเนินงานอย่างเต็มที่ และติดต่อกับสหรัฐมาโดยตลอด ซึ่งขณะนี้ ทางคณะทำงานก็ได้มีการเตรียมข้อมูลไว้แล้วว่าจะเจรจากับสหรัฐอย่างไร

ส่วนตัวเลขทางเศรษฐกิจ GDP จะถูกปรับลดลงหรือไม่ นายพิชัยระบุว่ายังไม่รู้ว่าแนวทางจะเป็นอย่างไร แต่ทิศทางส่งออกของไทยขณะนี้ยังดีอยู่ โดยสถิติการส่งออกช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึง 11.8%

ADVERTISMENT

ด้านนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะทำงานนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกากล่าวว่า ข้อมูลอัตราภาษี Reciprocal Tariff ของไทยตามที่ประกาศออกมาอัตราอยู่ที่ 36% แต่ข้อมูลของฝ่ายบริหาร : Executive Order (EO) ระบุอัตราภาษี Reciprocal Tariff ของไทยอยู่ที่ 37% ซึ่งคงต้องรอยืนยันอย่างเป็นทางการอีกครั้งว่าจะอยู่ที่ระดับ 36% หรือ 37%

1.ปรับลดภาษีสินค้านำเข้าบางรายการ

2.เพิ่มการนำเข้าสินค้าบางรายการที่ยังไม่เคยนำเข้า

3.ลดเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้า เช่น การตรวจสอบสินค้าที่อาจอ้างแหล่งกำเนิดสินค้าจากไทย

พร้อมยืนยันว่าไทยพร้อมเจรจากับสหรัฐ ซึ่งไทยเคยทาบทามขอเจรจาตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมาแล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับการตอบรับ หากสหรัฐพร้อมเจรจา ไทยก็พร้อมเดินทางไปเจรจาทันที

อีกทั้งมองว่าอุตสาหกรรมที่อาจได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ 10 สินค้าที่ส่งออกไปสหรัฐสูงที่สุด อาทิ สินค้าเกี่ยวกับโทรศัพท์ สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ยานยนต์ เซมิคอนดักเตอร์ และหม้อแปลงไฟฟ้า

ส่วนสินค้าเกษตรที่อาจได้รับผลกระทบ คือสินค้าเกษตรที่ส่งออกไปสหรัฐมากที่สุด 15 อันดับแรก เช่น ข้าวหอมมะลิ

นอกจากนี้ สำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐ ในช่วงบ่ายของวันนี้ (3 เม.ย. 68) จะเข้าหารือกับนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อหารือถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออกสินค้าไปสหรัฐ โดยเฉพาะเรื่องดอกเบี้ย และคาดว่าจะใช้งบประมาณช่วยเหลือจากงบฯ กลาง

สำหรับสินค้าส่งออกที่ได้รับผลกระทบการออกมาตรการ Reciprocal Tariff ของสหรัฐ การออกมาตรการ Reciprocal Tariff ของสหรัฐ โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เมษายน 2568 อาจส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกสำคัญของไทย อาทิ

• เครื่องโทรศัพท์รวมถึงสมาร์ทโฟนและเครื่องโทรศัพท์อื่น ๆ (สัดส่วน 12.5% ต่อการส่งออกไปสหรัฐรวม) อย่างไรก็ตาม อัตราภาษีที่ไทยถูกจัดเก็บยังต่ำกว่าประเทศคู่แข่งอื่น เช่น เวียดนาม (ครองส่วนแบ่งอันดับ 2) (46%)

• เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ (สัดส่วน 11.1% ต่อการส่งออกไปสหรัฐ อย่างไรก็ตาม อัตราภาษีที่ไทยถูกจัดเก็บยังต่ำกว่าประเทศคู่แข่งอื่น เช่น เวียดนาม ครองส่วนแบ่งอันดับ 4 (46%)

• ยางรถยนต์ (สัดส่วน 6.4% ต่อการส่งออกไปสหรัฐรวม) อย่างไรก็ตาม อัตราภาษีที่ไทยถูกจัดเก็บ ยังต่ำกว่าประเทศคู่แข่งอื่น เช่น เวียดนาม ครองส่วนแบ่งอันดับ 5 (46%)

• เซมิคอนดักเตอร์ (สัดส่วน 4.5% ต่อการส่งออกไปสหรัฐรวม) อย่างไรก็ตาม อัตราภาษีที่ไทยถูกจัดเก็บยังต่ำกว่าประเทศคู่แข่งอื่น เช่น เวียดนาม ครองส่วนแบ่งอันดับ 1 (46%)

• หม้อแปลงไฟฟ้า (สัดส่วน 3.8% ต่อการส่งออกไปสหรัฐรวม) อย่างไรก็ตาม อัตราภาษีที่ไทยถูกจัดเก็บยังต่ำกว่าประเทศคู่แข่งอื่น เช่น เวียดนาม ครองส่วนแบ่งอันดับ 5 (46%)