แผ่นดินไหว-ทรัมป์ขึ้นภาษี ฉุด GDP ไทย 2.02% มูลค่าเสียหาย 3.5 แสนล้าน

ธนวรรธน์ พลวิชัย
ธนวรรธน์ พลวิชัย

ศูนย์พยากรณ์ฯ ม.หอการค้าไทย ประเมินผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว-ทรัมป์ขึ้นภาษีทำความเสียหายให้กับไทยรวม 374,851.8 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.02% ต่อ GDP คาดทั้งปีอาจโตได้แค่ 1%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า มาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐ ที่จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าไทย เพิ่ม 36% และทั้งโลกยังโดนเก็บภาษีในอัตราเฉลี่ย 10% ถือว่ามากกว่าคาด ทำให้ผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อไทยมีมากขึ้น และมองว่าผลกระทบครั้งนี้อยู่ในระดับสูง หลังจากนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของไทยในการเจรจากับสหรัฐ โดย รัฐบาลต้องดูผลกระทบรอบด้าน ซึ่งการเจรจาครั้งนี้ไทยอาจจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ มากขึ้น เพื่อปกป้องประโยชน์ส่วนรวม รัฐและเอกชนต้องพูดคุยกัน และดูถึงผลกระทบต่อประชาชนด้วย

ทั้งนี้ จากมาตรการนี้ของสหรัฐ เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจที่อาจทำให้เงินหายไปประมาณ 200,000-350,000 ล้านบาท มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ถ้าจำเป็นต้องใช้ จะต้องมีสเกลที่ใหญ่เพื่อประคองเศรษฐกิจไทยไม่ให้รับผลกระทบในวงกว้าง ดังนั้น การใช้เงินของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ควรใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรทำให้เกิดการจ้างงาน การลงทุน และเงินสะพัด และควรใช้มาตรการทางการเงินผสมผสาน เติมสภาพคล่องของธุรกิจที่เริ่มมีปัญหาจากการค้าขาย ส่งออกที่อาจถดถอยลง

นอกจากนี้ จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว และมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐ ทั้ง 2 กรณี จะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจไทย 374,851.8 ล้านบาท ฉุดให้จีดีพีไทยปีนี้ลดลง 2.02% ส่งผลให้จีดีพีไทยทั้งปีนี้อาจขยายตัวปรับลดลงเหลือ 1% ต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ที่ 3%

โดยในส่วนของ ผลกระทบเหตุการณ์แผ่นดินไหว จะสร้างความเสียหายราว 15,747.8 ล้านบาท ฉุดให้จีดีพีลดลง 0.08% ส่วน มาตรการภาษีตอบโต้ จะสร้างผลกระทบมากถึง 359,104 ล้านบาท ฉุดจีดีพีลดลง 1.93%

นายวิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลกระทบของภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ที่มีต่อเศรษฐกิจไทย คาดว่า จะมีผลทำให้มูลค่าการส่งออกรวมของไทยลดลงประมาณ 359,104 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ -1.93% ของ GDP โดยมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนี้

ADVERTISMENT

1. ผลกระทบทางตรง : ส่งออกสินค้าจากไทยไปยังตลาดสหรัฐ การขึ้นภาษีสินค้าไทยเป็น 36% อาจทำให้การส่งออกของไทยไปยังตลาดสหรัฐ ลดลง 8,703 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 300,237 ล้านบาท) โดยกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คืออุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (2,014 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 69,492 ล้านบาท) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (1,378 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 47,533 ล้านบาท) และอาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม (1,010 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 34,843 ล้านบาท)

2. ผลกระทบทางอ้อม : การส่งออกวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทานจีน-สหรัฐ : การขึ้นภาษีสินค้าจีนเป็น 54% อาจทำให้ไทยสูญเสียมูลค่าการส่งออกวัตถุดิบที่เชื่อมโยงกับจีนประมาณ 1,103 ล้านดอลลาร์ (38,063 ล้านบาท) การส่งออกวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทานสหรัฐ-จีน : เมื่อจีนได้มีการตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีสินค้าจากสหรัฐ เพิ่มขึ้นอีก 10-15% วัตถุดิบไทยที่เชื่อมโยงกับการส่งออกของสหรัฐ ไปจีนลดลงประมาณ 16 ล้านดอลลาร์ (552 ล้านบาท)

ADVERTISMENT

การส่งออกวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทานเม็กซิโก-สหรัฐ : การขึ้นภาษีสินค้าเม็กซิโกอีก 25% อาจทำให้ไทยสูญเสียมูลค่าการส่งออกวัตถุดิบที่เชื่อมโยงกับเม็กซิโกประมาณ 420 ล้านดอลลาร์ (14,490 ล้านบาท)

การส่งออกวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทานแคนาดา-สหรัฐ : การขึ้นภาษีสินค้าของแคนาดาอีก 25% สำหรับสินค้าทั่วไป และ 10% สำหรับสินค้ากลุ่มพลังงาน อาจทำให้ไทยสูญเสียมูลค่าการส่งออกวัตถุดิบที่เชื่อมโยงกับแคนาดาประมาณ 76 ล้านดอลลาร์ (2,662 ล้านบาท)

การส่งออกวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทานสหรัฐ-แคนาดา : เมื่อแคนาดามีการตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีสินค้าจากสหรัฐ เพิ่มขึ้นอีก 25% วัตถุดิบไทยที่เชื่อมโยงกับการส่งออกของสหรัฐ ไปแคนาดาอาจลดลงประมาณ 91 ล้านดอลลาร์ (3,140 ล้านบาท)