เงินเฟ้อ มี.ค. 68 ต่ำกว่าคาด โต 0.84% จ่อหั่นเป้าทั้งปี เหตุภาษีทรัมป์ฉุด

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์

พาณิชย์เผยเงินเฟ้อทั่วไป มี.ค. 68 สูงขึ้น 0.84% ต่ำกว่าตลาดคาด ส่วนไตรมาส 2 ยังแผ่ว คาดแตะ 0.14-0.15% จ่อหั่นเป้าทั้งปีหลังไตรมาสแรกต่ำ-ภาษีทรัมป์กดดัน กระทบราคาน้ำมัน-หารือนำเข้าสินค้าสหรัฐเพิ่ม

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทยเดือนมีนาคม 2568 เท่ากับ 100.35 เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2567 ซึ่งเท่ากับ 99.51

ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 0.84% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจัยหลักมาจากการสูงขึ้นของราคาสินค้า ในกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เนื้อสัตว์ และอาหารสำเร็จรูป ประกอบกับมีการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดีเซล และค่าเช่าบ้าน เป็นสำคัญ สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2568 พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยสูงขึ้น 1.08% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ

โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 22 จาก 130 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และต่ำเป็นอันดับ 4 ในกลุ่มประเทศอาเซียนจาก 8 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (อินโดนีเซีย บรูไน สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สปป.ลาว)

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่สูงขึ้น 0.84% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในเดือนนี้ มีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้

ADVERTISMENT

หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 2.35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำอัดลม กาแฟ (ร้อน/เย็น)) กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ (เนื้อสุกร ปลานิล ปลาทู กุ้งขาว) กลุ่มอาหารสำเร็จรูป (ข้าวราดแกง กับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว)

กลุ่มผลไม้สด (ทุเรียน ฝรั่ง สับปะรด มะพร้าวอ่อน) กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร (น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) น้ำพริกแกง) กลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง (ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ขนมอบ) และกลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาล (ขนมหวาน น้ำตาลทราย)

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ตาม มีสินค้าหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ ผักสดบางชนิด (มะนาว พริกสด ผักกาดขาว ขิง ผักชี ต้นหอม มะเขือ ขึ้นฉ่าย) ไข่ไก่ ไก่ย่าง ผลไม้บางชนิด (องุ่น มะละกอสุก) และอาหารโทร.สั่ง (Delivery)

หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะแก๊สโซฮอล์ ของใช้ส่วนบุคคล (แชมพู ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว สบู่ถูตัว แป้งผัดหน้า)

สิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด (ผลิตภัณฑ์ซักผ้า น้ำยาล้างจาน น้ำยาถูพื้น น้ำยารีดผ้า) เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ และเสื้อผ้า (กางเกงขายาวบุรุษ เสื้อยืดบุรุษและสตรี) ขณะที่มีสินค้าสำคัญหลายรายการที่ราคาสูงขึ้น อาทิ น้ำมันดีเซล ค่าเช่าบ้าน และค่าแต่งผมบุรุษและสตรี

อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก) สูงขึ้น 0.86% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ที่สูงขึ้น 0.99% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือนมีนาคม 2568 เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ลดลง 0.20% ตามการลดลงของหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม 0.44% โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง (แก๊สโซฮอล์ น้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน)

ตามสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลกที่ลดลง และค่ากระแสไฟฟ้า จากมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าให้ประชาชนตามนโยบายรัฐบาล นอกจากนี้ ค่าของใช้ส่วนบุคคล (ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว โฟมล้างหน้า ยาสีฟัน) และสิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด (ผลิตภัณฑ์ซักผ้า น้ำยาล้างจาน น้ำยารีดผ้า) ราคาปรับลดลงจากกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการ

สำหรับสินค้าที่ราคาปรับสูงขึ้น อาทิ ค่าเช่าบ้าน ค่าโดยสารเครื่องบิน และกางเกงขายาวสตรี ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 0.19% ปรับสูงขึ้นตามราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มอาหารสด โดยเฉพาะเนื้อสุกร และผักสด (ผักคะน้า มะนาว มะเขือ ผักกวางตุ้ง ผักชี) เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากสภาวะอากาศร้อน ขณะที่ความต้องการบริโภคยังมีอย่างต่อเนื่อง

ประกอบกับราคากาแฟผงสำเร็จรูป และน้ำมันพืช มีการปรับสูงขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม มีสินค้าที่ราคาปรับลดลง อาทิ อาหารโทร.สั่ง (Delivery) ไข่ไก่ ผักสดบางชนิด (ชะอม แตงกวา พริกสด) และผลไม้บางชนิด (มะม่วง ฝรั่ง แตงโม)

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป เฉลี่ยไตรมาสแรกของปี 2568 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2567 สูงขึ้น 1.08% และเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 ลดลง 0.14%

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสที่ 2 ปี 2568 คาดว่าจะปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ 1 ปี 2568 ซึ่งอัตราเงินเฟ้อไตรมาส 2 เคยคาดการณ์ไว้ที่ 0.1-0.2% ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 0.14-0.15%

โดยมีปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ได้แก่ (1) ภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง (2) ฐานราคาผักสดและไข่ไก่ในปีก่อนหน้าอยู่ในระดับสูง ขณะที่ในปี 2568 สภาพอากาศเอื้ออำนวยมากกว่าปี 2567 ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ระบบมากขึ้น

(3) การลดลงของราคาน้ำมันดิบดูไบในตลาดโลก โดยราคาในปีนี้ต่ำกว่าปีก่อนหน้า จึงส่งผลให้ราคาแก๊สโซฮอล์ภายในประเทศปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกัน

และ (4) การจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

อย่างไรก็ดี มีปัจจัยสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น ได้แก่ (1) วัตถุดิบต้นน้ำของสินค้าเกษตรบางชนิดราคายังอยู่ระดับสูง โดยเฉพาะพืชสวน เช่น มะพร้าว กาแฟ และปาล์มน้ำมัน ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปปรับตัวสูงขึ้น ทั้งกะทิ กาแฟ และน้ำมันพืช และ (2) อาหารสำเร็จรูป โดยเฉพาะอาหารพร้อมทาน ราคายังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากมีการปรับราคาตามต้นทุนวัตถุดิบบางชนิดที่สูงขึ้น

สำหรับกรณีนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศเก็บภาษีนำเข้าประเทศไทยในอัตราอยู่ที่ 36% นั้น พิจารณาเบื้องต้นประกอบไปด้วย 2 กลุ่มทั้งสินค้าและบริการ กลุ่มแรกเป็น สินค้าที่อาจส่งผลให้เงินเฟ้อลดลงประมาณ 50% จากราคาน้ำมันที่อาจปรับลดลง

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสินค้าที่อาจจะมีการเจรจาให้นำเข้าสินค้าจากสหรัฐเพิ่มมากขึ้น 2) ภาคบริการรัฐและเอกชนคาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าบริการทางการศึกษา อย่างไรก็ตาม มาตรการของนายโดนัลด์ ทรัมป์ และการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าการคาดไว้จะนำมาพิจารณาอัตราเงินเฟ้อของปีนี้อีกครั้ง

ส่วนอัตราเงินเฟ้อไตรมาส 2 เคยคาดการณ์ไว้ที่ 0.1-0.2% ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 0.14-0.15% เนื่องจากจะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน (เบนซิน แก๊สโซฮอล์ ดีเซล) คาดว่าจะต่ำกว่าไตรมาส 2 ของปี 2567

ซึ่งการประมาณการในครั้งนี้ จะรวมกับมาตรการของภาครัฐโดยเฉพาะมาตรการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท แม้เงินเฟ้อในไตรมาส 1 จะลดลงและชะลอตัว ซึ่งไตรมาส 2 ยังมีแนวโน้มลดลงอีกแต่ยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังคงเป็นบวกอยู่