
เอกชนประเมินไม่ผิด ทรัมป์จัดหนัก ขึ้นภาษีไทยเกินคาด ทะลุ 36% สรท.เชื่อกระทบเกือบทุกอุตสาหกรรม ฉุดส่งออกปี 2568 คาดตัวเลขวูบหลังสงกรานต์ จี้รัฐอย่าช้า เร่งเจรจาสหรัฐ ส.อ.ท.กังวลกระทบจีดีพีหายอีก 0.6% คาดปีนี้ไปไม่ถึงฝันที่ 3% แนะรีบสรุป FTA EU หาตลาดใหม่ให้ได้ มุ่งเป้ากลุ่มประเทศตะวันออกกลางคือความหวัง
กรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศนโยบายเก็บภาษีตอบโต้ประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 (ตามเวลาประเทศไทย) ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมายลำดับต้น ๆ จึงถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงถึง 36% ส่งผลต่อความกังวลของเอกชนเป็นอย่างมาก แม้จะตั้งรับกับเรื่องดังกล่าวไว้แล้วก็ตาม
นายธนากร เกษตรสุวรรณ กรรมการสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สงครามการค้ารอบนี้ หรือ War Trump 2.0 หลายอุตสาหกรรมต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน แต่จะมากหรือน้อยอยู่ที่สัดส่วนและมูลค่าการส่งออกไปว่าเท่าไร จากนี้ สรท.จะหารือกับทุกกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคการส่งออก เพื่อประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งหมดในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นแน่นอนว่าจะกระทบภาพรวมการส่งออกปี 2568 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ ณ เดือนเมษายน 2568 ว่าจะเติบโตอยู่ที่ 1-3% ซึ่งยังไม่รวมผลกระทบจากมาตรการตอบโต้ทางภาษีของสหรัฐ
คาดส่งออกหลังสงกรานต์วูบ
“ไตรมาส 1 ปีนี้เรายังเห็นตัวเลขส่งออกโต 2 หลักได้อยู่ เพราะยังมีคำสั่งซื้อล่วงหน้าไว้แล้ว แต่ไตรมาส 2 หลังสงกรานต์เป็นต้นไป เชื่อว่าจะแพนิกทำให้ตัวเลขลดลง แต่ถ้ามองอีกมุม เรายังโชคดีที่ถูกเก็บภาษีในอัตราที่น้อยกว่าคู่แข่งอย่างเวียดนาม ดังนั้นอาจเป็นโอกาสที่นักลงทุนยังชะลอ หรือไม่คิดที่จะย้ายฐานการผลิตออกไปจากไทย ในอีกมุม สหรัฐอาจต้องเผชิญกับราคาสินค้าที่แพงขึ้นและการบริโภคจะหายไป ในอีกไม่ช้าเราจะเห็นการเจรจาต่อรองกันกับประเทศคู่ค้าและต่อรองกันดุเดือดมากขึ้น”
แนะ 3 ต้องทำรับมือสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม ส่งออกของไทยไม่ได้มีเพียง War Trump 2.0 เท่านั้น เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงและความผันผวน คือ เรื่องของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ค่าเงินบาทยังคงมีความผันผวน ความกังวลจากภาคการขนส่งสินค้าทางทะเล ดังนั้น 3 แนวทางของประเทศไทยที่รัฐบาลและเอกชนจะต้องทำ 1.รัฐบาลต้องเร่งเจรจากับสหรัฐ ไม่เพียงเรื่องการเก็บภาษีที่ 36% แต่จะต้องเจรจาเรื่องการส่งเสริมการลงทุนไทยในสหรัฐ เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการกีดกันทางการค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย พร้อมทั้งเร่งนำเข้าสินค้าที่ไทยต้องการจากสหรัฐ เพื่อลดการเกินดุลการค้า ขณะเดียวกันต้องใช้แนวทาง ASEAN+1 (ญี่ปุ่น) ในการเจรจาเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองกับสหรัฐ
2.เร่งเจรจาและใช้ประโยชน์จากการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่ค้าสำคัญอื่น เพื่อกระจายความเสี่ยงทางการค้า และกระจายสินค้าไปในตลาดอื่นได้มากขึ้น โดยเฉพาะทูตพาณิชย์ต้องมีการทำงานอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนซึ่งกันและกัน 3.เร่งปฏิรูปการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของไทย โดยต้องสนับสนุนการลงทุน ในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้วัตถุดิบ (Local Content) เป็นส่วนประกอบหลัก ใช้ซัพพลายเออร์ภายในประเทศ แน่นอนว่าต้องเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีชั้นสูงภายในประเทศ เพื่อให้แรงงานไทยมีการยกระดับ
เข้มมาตรฐานสินค้าทะลักเข้าไทย
นอกจากนี้ ต้องเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบมาตรฐานสินค้านำเข้า จากการหลบเลี่ยงมาตรการสหรัฐ เข้ามาทุ่มตลาดไทย รวมถึงการทำ Re-export ผ่าน Free Zone และต้องปฏิรูประบบโลจิสติกส์และการอำนวยความสะดวกทางการค้า เพื่อลดต้นทุนการค้าระหว่างประเทศของไทย ให้แข่งขันได้ เช่น แก้ไขปัญหาความแออัดภายในท่าเรือแหลมฉบัง พัฒนาระบบ National Single Window ให้เป็น Single Submission โดยสมบูรณ์ พัฒนาระบบ Port Community System (PCS) และส่งเสริมการถ่ายลำ (Transshipment) ทั้งหมดนี้ควรถือเป็นจุดเริ่มต้นในการปฏิรูปทั้งการส่งออกและการลงทุน แม้จะต้องใช้ระยะเวลา 2-3 ปี ที่จะเกิดความผันผวนขึ้นแต่ประเทศไทยจำเป็นต้องทำ เพราะหากช้าไทยจะไม่สามารถแข่งขันกับใครได้
กกร.แนะเจาะตลาด ตอ.กลาง
นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโส สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กังวลกับผลที่จะเกิดขึ้นตามมา หลังทรัมป์ประกาศขึ้นภาษี และคาดว่าหากรัฐเจรจาไม่สำเร็จ อาจจะกระทบต่อ GDP หายไป 0.2-0.6% จากเดิมที่ประเมินว่า GDP จะโตอยู่ในช่วง 2.4-2.9% จึงน่าจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากที่รัฐตั้งเป้าจะโตถึง 3% เพราะปัจจัยลบหลายอย่างเกิดขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมที่ไทยส่งออกไปสหรัฐค่อนข้างสูง คือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ปิโตรเคมี จะยิ่งเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น และยังอาจเป็นผลทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยที่หดตัวอยู่แล้ว ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นไปอีก
ในส่วนของ ส.อ.ท.เองได้พยายามส่งสัญญาณให้กับผู้ประกอบการรับรู้ถึงสถานการณ์มาโดยตลอด พร้อมทั้งแผนรับมือที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และจำเป็นต้องทำมากที่สุด คือ การพยายามหาตลาดใหม่ หาคู่ค้าที่การแข่งขันยังไม่สูง ตลาดเป้าหมายยังคงต้องชี้เป้าไปที่กลุ่มประเทศ GCC ซึ่งประกอบด้วย บาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์