
“พีระพันธุ์” ขีดเส้นให้เวลา 45 วัน สั่ง “กกพ.-กฟผ.” หาช่องลดค่าไฟฟ้าให้ได้ตามเป้าหมายที่ ครม.กำหนด หน่วยละ 3.99 บาท จากเดิมที่ กกพ.มีมติคงที่อัตรา 4.15 บาท หาแนวทางแก้สัญญา Adder-FiT พร้อมถกความเหมาะสมค่าพร้อมจ่าย ลดต้นทุน เผยวิธีการกดค่าไฟฟ้าในอดีตใช้วิธีให้ ปตท.แบกภาระต้นทุนก๊าซส่วนเกินไปก่อน แล้วค่อยให้ กฟผ.ทยอยจ่ายคืน
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 ได้มีมติลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชนตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ และมอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กำกับดูแลให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ร่วมกันพิจารณาหาแนวทางบรรลุเป้าหมายค่าไฟ สำหรับรอบเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2568 ไม่เกินหน่วยละ 3.99 บาท ลดลงจากอัตราหน่วยละ 4.15 บาท ในปัจจุบัน (มกราคม-เมษายน 2568)
ซึ่งอัตราดังกล่าวเป็นต้นทุนค่าไฟจริง 3.95 บาทต่อหน่วย ส่วนเกินอีกประมาณ 20 สตางค์ เป็นส่วนที่จัดเก็บไว้เผื่อกรณีต่าง ๆ เช่น ชำระหนี้ ดังนั้นเมื่อพิจารณาต้นทุนจริงเบื้องต้นที่ 3.95 บาทนั้น หากปรับลดส่วนเกินลงมาจาก 20 สตางค์ เหลือ 4 สตางค์ ก็จะได้ราคาค่าไฟที่ 3.99 บาทต่อหน่วย
“มติ ครม.ไม่ได้บังคับ 3.99 บาท แต่นโยบายของรัฐบาลตั้งไว้เป็นเป้าหมายให้ทาง กฟผ. และคณะกรรมการ กกพ.ไปพิจารณาร่วมกันว่าจะมีส่วนไหนดำเนินการให้ปรับลดลงมาให้ถึงเป้าหมายหรือต่ำกว่าเป้าหมายได้” นายพีระพันธุ์กล่าว
นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติให้หาแนวทางแก้ไขปัญหาสัญญารับซื้อไฟฟ้า ในรูปแบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า Adder-FiT และเงื่อนไขที่กำหนดให้สัญญาดังกล่าวมีการต่อสัญญาในเงื่อนไขเดิมอย่างต่อเนื่องโดยไม่สิ้นสุดสัญญา
ตลอดจนหาแนวทางแก้ไขปัญหาการชำระค่าความพร้อมจ่าย (AP) และค่าพลังงาน (EP) รวมทั้งเงื่อนไขข้อตกลงอื่น ๆ ในสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชน (IPP) ตามสัญญารับซื้อไฟฟ้าระยะยาว (PPA) ทุกสัญญา ที่ทำให้ กฟผ. หรือรัฐเสียเปรียบ หรือมีภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวที่สูงเกินสมควร หรือสูงเกินความเป็นจริง
ขณะเดียวกันโรงไฟฟ้าเอกชนมีสัญญารับซื้อ 2 ประเภท ได้แก่ ราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และ Feed-in-tariff (FiT) ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีการเสนอให้ทบทวน ปรับปรุงสัญญา โดยได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ให้เหตุผลว่าไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ซึ่งสัญญาดังกล่าวมีมากกว่า 500 สัญญา และกระทรวงพลังงานไม่สามารถเข้าถึงสัญญาได้ เนื่องจากอยู่ที่ กฟผ., การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ดังนั้นจึงมีมติให้ทั้ง 3 หน่วยงานพิจารณาสัญญาและเสนอแนวทางตรวจสอบแก้ไขส่วนใดได้บ้าง
นอกจากนี้ มติ ครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ศึกษา และเสนอแนวทางปรับโครงสร้างระบบ Pool Gas เพื่อให้ราคาก๊าซสำหรับใช้ในการผลิตไฟฟ้าให้ประชาชนมีราคาต่ำลง เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยยังใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก ซึ่งข้อสั่งการทั้งหมดให้ศึกษาภายในระยะเวลา 45 วัน และดำเนินการให้ทันการประกาศราคาไฟฟ้า สำหรับรอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2568
“ค่าไฟ 3.99 บาทเป็นการปรับลดรายรับภาครัฐลง หากปรับตามมติ ครม.ได้ก็จะมีบางส่วนลดลงได้อีก เช่น เงินที่ กกพ. เคยเก็บอยู่ก็เอาจาก กฟผ.ไป” นายพีระพันธุ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2568 ที่ประชุม กกพ. มติเห็นชอบค่าเอฟทีสำหรับเรียกเก็บในงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2568 คงเดิมที่ 36.72 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งสอดคล้องกับอัตราที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอมา เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วยแล้ว ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็น 4.15 บาทต่อหน่วย เท่ากับค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในงวดปัจจุบัน
ซึ่งคาดว่าจะสามารถชำระคืนภาระต้นทุน AF คงค้างสะสมได้จำนวน 14,590 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 20.33 สตางค์ต่อหน่วย) เพื่อให้ กฟผ.สามารถชำระมูลค่าส่วนต่างของราคาก๊าซธรรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงกับค่าก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 ของรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 ครม.เคยมีมติเห็นชอบเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าที่ 3.99 บาทต่อหน่วย จากเดิมหน่วยละ 4.45 บาท ทำให้มีส่วนต่างหน่วยละ 46 สตางค์ จำเป็นต้องให้ กฟผ.และ ปตท. แบกรับภาระไปก่อน
โดย ปตท.ต้องปรับลดค่าก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บจากกิจการผลิตไฟฟ้า ซึ่งแต่เดิมกำหนดไว้ 323.37 บาทต่อล้านบีทียู เป็นไม่เกิน 304.79 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งหากวันที่ถึงกำหนดจ่ายค่าก๊าซธรรมชาติแล้ว ราคา Pool Gas เฉลี่ยสูงเกิน 304 บาทต่อล้านบีทียู ก็จะให้ ปตท.เป็นผู้รับภาระไว้ก่อน แล้วให้ กฟผ.ทยอยจ่ายคืนส่วนต่างให้ ปตท.เป็นงวด ๆ