
แผ่นดินไหวขนาด 8.2 ริกเตอร์ ลึกลงไป 10 กม. เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 จากรอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault) ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงมาถึงบริเวณประเทศไทยโดยวัดขนาดอยู่ระหว่าง 3-4 หลังจากเหตุการณ์สงบลง ศูนย์รับแจ้งเพื่อตรวจสอบความเสียหายของอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว (ศรต.ยผ.) ได้สรุปตัวเลขการตรวจสอบอาคารขั้นต้นทั่วประเทศ 3,375 อาคาร
ปรากฏมีอาคาร 3,130 อาคาร สามารถเข้าใช้งานได้ตามปกติ 181 อาคาร โครงสร้างอาคารมีความเสียหายปานกลาง แต่สามารถเข้าใช้งานได้ มีเพียง 34 อาคาร ที่โครงสร้างอาคารเสียหายอย่างหนัก อาจเกิดการพังถล่มลงมาได้
แต่ในจำนวนนี้ปรากฏเหตุการณ์ อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สูง 30 ชั้น งบประมาณก่อสร้าง 2,136 ล้านบาท ที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างในพื้นที่จตุจักร เพียงอาคารเดียวเท่านั้นที่พังถล่มลงมาได้สร้างความสงสัยให้กับสาธารณชนที่ว่า ทำไมจึงพังถล่ม “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ นายชวลิต จันทรรัตน์ นายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

แอ่งกรุงเทพฯทำอาคารสูงไหวแรง
คลื่นแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนสะกายที่เดินทางมาถึงบริเวณประเทศไทยเป็น คลื่นความยาวไล่มาตั้งแต่ จ.แม่ฮ่องสอน ตาก อุทัยธานี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา แต่พอคลื่นมาถึงบริเวณปทุมธานีก็จะเข้าสู่แอ่งกรุงเทพ ที่ลักษณะแผ่นดินเป็นโคลน นุ่มอ่อน เป็นแอ่งกระทะ
พอคลื่นแผ่นดินไหวซึ่งเป็นคลื่นความยาวมาถึงแอ่งกระทะบริเวณกรุงเทพฯ ทำให้เกิดการสั่นไหวรุนแรงขึ้น เรียกว่า คลื่นถูกขยาย Amplify เป็นคลื่นความถี่สูง โดยกรุงเทพฯของเราอยู่บริเวณแอ่งสีแดง หมายถึง ตรงนี้แอ่งลึกสุด คลื่นเดินทางที่มีความถี่สูงลักษณะนี้จะส่งผลทำให้อาคารสูงสั่นไหว
ขณะที่คลื่นแผ่นดินไหวที่จุดรอยเลื่อนสะกาย เป็นคลื่นความถี่ต่ำ ก็จะทำอันตรายต่ออาคารบ้านเรือนขนาดเล็ก ซึ่งจะเสียหายมากอย่างที่เห็น
อย่างไรก็ตาม ผลจากแผ่นดินไหวครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า อาคารสูงในบริเวณกรุงเทพฯได้รับความเสียหายในระดับสีแดงน้อยมาก หรือเพียง 3-4 อาคาร หรือไม่ถึง 1% เท่านั้น รวมทั้งอาคารสูงที่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างด้วย ยกเว้นอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ถือเป็นความบกพร่องของตัวอาคารเลย
ส่วนอาคารอื่น ๆ แสดงว่าได้มาตรฐาน สามารถต้านแผ่นดินไหวได้ เป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 49 ปี 2540 กับกฎกระทรวงฉบับที่ 129 ปี 2550 ที่กำหนดให้อาคารในกรุงเทพฯและปริมณฑลที่สูงเกินกว่า 15 เมตร ต้องออกแบบให้สามารถต้านแผ่นดินไหวได้
แกนกลางรับแรง พื้นไร้คาน
กรณีอาคารสำนักงาน สตง.ผมว่า ดีที่มันพังลงมาช่วงเกิดแผ่นดินไหวเสียก่อนที่จะเข้าใช้งาน มันอันตรายมาก ที่พังลงมาแบบนี้ต้องดูโครงสร้างความแข็งแรงของอาคาร เสา-คาน ที่ปรากฏให้เห็นในภาพคือ เสาหัก-ระเบิด ห้องลิฟต์-บันไดหนีไฟ ซึ่งปกติจะเป็นส่วนที่แข็งแรงที่สุดของอาคารก็หัก
เสารองคู่หน้าของอาคารก็ระเบิดออกมาเลย แสดงว่ามีแรงกดอย่างมหาศาล ทำให้คอนกรีตรับแรงกดไม่ได้ถึงแตกออกมา ความบกพร่องผิดพลาดเหล่านี้จะต้องรอผลการตรวจสอบอาคารของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาเป็นหลัก
ส่วนที่บริษัทจีน ผู้ก่อสร้างอาคารหลังนี้ (บริษัท China Railway No.10 Engineering Group หรือ CRCC เครือรัฐวิสาหกิจจีน) บอกว่า ตัวอาคาร สตง.นั้นใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีความซับซ้อนที่ใช้กับอาคารสูงเป็นพิเศษ (ตึก สตง.สูง 30 ชั้น)
อาทิ โครงสร้างอาคารแบบแกนกลางรับแรง-พื้นไร้คาน ลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะเราทำอาคารแบบนี้ได้มาตั้งแต่ 40 ปีที่แล้ว และมาฮิตมากในช่วง 20 ปีหลัง โดยเอาลิฟต์เป็นหลักแล้วใช้เสาโดยรอบ
ดังนั้นแนวลิฟต์ต้องแข็งแรงเพราะต้องทำพื้นออกจากตัวลิฟต์แล้วไปพาดอยู่บนคานกับเสาโดยรอบ โดยคานตรงกลางไม่ต้องมีเพื่อไม่ให้เสียพื้นที่ ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีก่อสร้างแบบไร้คานพื้นรับน้ำหนักต้องแข็งแรง เรื่องเหล่านี้คณะกรรมการสอบก็ต้องเข้าไปดู แต่มันไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ เราทำกันอยู่แล้ว
การที่อาคาร สตง.ถล่มลงมานั้น ผมคิดว่า เราต้องพูดถึง “เหตุ” 4 ประการที่เกิดขึ้น คือ 1) การออกแบบ ตัวอาคาร สามารถรับแรงได้ถึง 7 หรือไม่ ส่วนนี้จะอยู่ในความรับผิดชอบของบริษัทผู้ออกแบบอาคารหลังนี้ กับคนตรวจแบบ ซึ่งเข้าใจว่าเป็น กรมโยธาธิการและผังเมือง
2) เรื่องของการก่อสร้าง เท่าที่ติดตามดูพบว่า เสาและตัวแกนหลักของอาคารเป็นของบริษัทจีน (CRCC) เป็นคนทำ ส่วนบริษัทไทยทำพื้น ซึ่งตอนนี้บริษัทจีนชุดใหญ่ก็เดินทางกลับประเทศไปแล้วตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา เพราะตัวโครงสร้างอาคาร สตง.สร้างเสร็จมาเกือบปีแล้ว
เหล็กข้ออ้อยตัว T
3) เรื่องของวัสดุ ที่กำลังทดสอบเหล็กกันอยู่ในขณะนี้ ผมคิดว่า เหล็กข้ออ้อย ที่ใช้ เป็นเหล็กชนิดที่ไม่ควรนำมาใช้กับอาคารสูงแบบนี้ เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทำไมผมจึงพูดอย่างนี้ ก็เพราะว่าเหล็กข้ออ้อยที่ใช้ในอาคาร เป็นเหล็กข้ออ้อยที่มีสัญลักษณ์ตัว T หมายความว่าอย่างไร
เหล็กข้ออ้อยชนิดนี้มีกระบวนการผลิตเมื่อถูกรีดร้อนออกมาแล้ว จะไม่ถูกปล่อยให้เย็นลงตามธรรมชาติ แต่ไปใช้วิธีฉีดน้ำ (สเปรย์น้ำ) เพื่อเร่งกระบวนการให้เกิดการเย็นตัวเร็วขึ้นกว่าการเย็นตัวในอากาศปกติ หรือเรียกกระบวนการแบบนี้ว่า TEMP-CORE ซึ่งจะใช้สัญลักษณ์เป็นรูป ตัว T โรงงานเหล็กเส้นของจีนส่วนใหญ่จะผลิตเหล็กข้ออ้อยด้วยวิธีการนี้ทั้งสิ้น
คนที่ทำงานก่อสร้างรู้กันดีว่า เหล็กข้ออ้อยรูปตัว T นั้น มันกรอบข้างนอกและแตกหักง่าย จะดัดไม่ได้เลย ดังนั้นเมื่อนำเหล็กข้ออ้อยรูปตัว T ไปทดสอบก็จะพบว่า ทั้งการรับแรงกดและแรงดึง (ความแข็งแรง) ก็จะได้มาตรฐาน โดยเหล็กเส้นจากโรงงานจีนนี่มีความแข็งแรงมาก แต่เวลาดึงเหล็กข้ออ้อยเหล่านี้ปรากฏว่า
เมื่อดึงจนถึงจุดล้าสุด (Fatigue) เหล็กมันจะขาดเร็วมาก หรือใช้เวลาสั้นกว่าเหล็กข้ออ้อยไม่มีตัว T หรือเหล็กข้ออ้อยไทย คือมันใช้เวลาสั้นกว่า 16% เมื่อเทียบกับเหล็กไทย หมายความว่า เวลาเหล็กล้าสุดแล้วถูกดึงจนขาด มันสั้นกว่าแล้วมันกรอบนอก แตกหักง่ายกว่าเหล็กที่ไม่มีตัว T
ดังนั้นเวลาแผ่นดินไหวแล้วมันเป็นคลื่นถี่ ๆ เข้ามากระทบตัวอาคารก็จะโยก เกิดการบิดไปมา ดึงปล่อย ๆ ที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว อาจส่งผลให้เหล็กข้ออ้อยเกิดรอยร้าวและแตกหักได้ทันที เรื่องของวัสดุเหล็กข้ออ้อยนี้ จะต้องไปทดสอบในรายละเอียดมากกว่าที่จะบอกว่า เหล็กข้ออ้อยรูปตัว T ได้มาตรฐานหรือไม่ได้มาตรฐาน สมอ.
แน่นอนว่า บริษัทผู้ก่อสร้างจีน (บริษัท China Railway No.10 Engineering Group) ไม่ได้รับงานก่อสร้างอาคารสำนักงาน สตง.ที่เดียว ดังนั้นควรจะต้องไปตรวจสอบความแข็งแรงของอาคารเหล่านี้ด้วย ถ้ามีการใช้เหล็กข้ออ้อยตัว T แต่บางอาคารสร้างเสร็จไปแล้วจะทำอย่างไร
ถ้าเชื่อตามผู้ควบคุมการก่อสร้างก็เอารายงานมาดู แต่ไม่ควรเชื่อ เพราะเหล็กข้ออ้อยส่วนใหญ่ที่ใช้ก่อสร้างเป็นเหล็กจีนรูปตัว T แทบทั้งหมด ทำไมผู้รับเหมาจีนไม่ใช้เหล็กข้ออ้อยไทย หรือของเจ้าอื่น ก็เพราะเหล็กข้ออ้อยสัญลักษณ์ตัว T มันมีราคาถูกกว่า
ผมว่านะ ในเรื่องของวัสดุก่อสร้างเรื่องเหล็กข้ออ้อยนั้น คณะกรรมการตรวจสอบจะต้องให้ความเป็นธรรมกับบริษัทจีนที่ใช้เหล็กตัว T และโรงงานเหล็กเส้นจีนผู้ผลิต (บริษัท ซินเคอหยวน สตีล) ด้วยการเก็บตัวอย่างเหล็กจากคานหรือเสาที่เหล็กยังติดอยู่กับคอนกรีต ไม่ใช่ไปเก็บตัวอย่างเหล็กข้ออ้อยที่มันกระเด็นตกลงมา หรือหลุดหรืองอออกมาแล้ว
เพราะเหล็กข้ออ้อยเหล่านี้มันเลยจุดที่มันล้าสุด หรือมันทนกับแรงบิดแรงโยกจากแผ่นดินไหวมาแล้ว เมื่อหลุดออกมาแล้วไปตรวจสอบ มันก็ไม่ได้ข้อมูลที่แท้จริง ดังนั้นมันจะต้องไปเก็บตัวอย่างจากเหล็กดิบ ๆ ที่ยังติดอยู่ในคอนกรีต ในเสา ในคาน ที่ล้มพาดอยู่ ไม่ใช่ไปเก็บตัวอย่างจากเหล็กที่กระเด็นตกกอง ๆ อยู่ไปทดสอบ
เรื่องนี้ยังรวมไปถึงการทดสอบความแข็งแรงของอาคารที่บริษัทจีนสร้างเสร็จไปแล้วก็ควรที่จะไปเก็บตัวอย่างเหล็กด้วยการทุบจากเสาที่ไม่ใช่เสาหลักไปทดสอบ ทุบเอาเหล็กจากส่วนที่ไม่สำคัญ อันนี้จะเป็นธรรมและเป็นข้อเท็จจริง เพราะในสเป็กเหล็กก็ไม่ได้บอกว่า ไม่ให้ใช้เหล็กข้ออ้อยตัว T
อาคารถล่มลงมาตรง ๆ
4) เรื่องของเครนหลัก (Tower Crane) ตอนแผ่นดินไหวมีคอนโดฯที่ดินแดงหลังหนึ่ง เครนหลักหักลงมา คอนโดฯนี่ถ้าสังเกตจะพบว่า ตัวเครนหลักไม่ได้อยู่ในช่องลิฟต์ ซึ่งเป็นส่วนที่แข็งแรงที่สุดของอาคาร แต่ไปแปะหรือเกาะไว้ข้าง ๆ พอเกิดแผ่นดินไหวมีการโยกอย่างรุนแรง เครนก็หลุดจากตัวยึดเกาะ
ส่วนอาคารสำนักงาน สตง.ก็เช่นกัน เมื่อดูจากบางภาพบางมุมจะเห็นว่า เครนหลักในช่องลิฟต์ก็หัก ตัวช่องลิฟต์ก็หักตกลงมา อาคารถึงถล่มลงมาตรงกลางก่อน แล้วตามมาด้วยชั้นบน ๆ อีก 3-4 ชั้น เสร็จแล้วเสาล่างขาด ทีนี้ตัวอาคารทั้งหมดก็ยุบลงมาตรง ๆ อาการถล่มนี่เหมือนกับกรณีโรงแรมรอยัลพลาซ่า ที่โคราช ถล่มลงมาในปี 2536 จากการที่ไปตัดเสากลางออก เพราะคิดว่าเสาข้างกับคานรับน้ำหนักได้
กรณีของอาคาร สตง.ก็เช่นกัน ที่มันถล่มลงมาตรง ๆ แสดงถึงเกิด Fail ที่บริเวณกลางอาคาร อาจเกิดอาการปล่อยลิฟต์โยก เครนหลักโยกแล้วไม่ได้คำนวณความหนาของการรับแรงไว้สำหรับเครนโยก มันแข็งแรงพอรึเปล่า สิ่งเหล่านี้ตั้งเป็นข้อสังเกตไว้
แต่เหตุอาคารสำนักงาน สตง.ถล่มลงมาครั้งนี้ จะต้องขึ้นอยู่กับผลการตรวจสอบของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมา ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทุกปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องของการออกแบบ ผู้ตรวจแบบ ผู้ควบคุมการก่อสร้าง การก่อสร้าง และวัสดุที่ใช้ประกอบกันไป