
สถาบันอัญมณีฯ วิเคราะห์ผลกระทบสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับ รับมีความเสี่ยงกระทบยอดส่งออก หากอัตราภาษียังสูงเช่นนี้ เผยยังหวังสามารถเจรจาได้ พร้อมถกหน่วยงานรัฐ เอกชน ประเมินผลกระทบ หาทางรับมือ แนะทางออกหนึ่ง ต้องหาตลาดทดแทนสหรัฐโดยด่วน เปิดอัตราภาษีเดิมต่ำแค่ 0-6.5%
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า ได้วิเคราะห์ผลกระทบจากภาษีนำเข้าใหม่ของสหรัฐ ต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย พบว่ามีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ของไทยไปสหรัฐแน่นอน โดยในปี 2567 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกไปสหรัฐมีมูลค่าสูงถึง 1,946.38 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 14.51% และช่วงไตรมาสแรกปี 2568 ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง
จากการเร่งนำเข้า แต่หลังจากที่สหรัฐประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตรา 36% จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ของไทยไปสหรัฐอย่างแน่นอน เพราะสินค้าไทยจะมีราคาสูงขึ้น ทำให้ผู้นำเข้าชะลอการนำเข้าลง และผู้บริโภคในสหรัฐชะลอการซื้อสินค้าลงอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ จากการติดตามพบว่า แม้ไทยจะถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่สูง แต่เมื่อเทียบกับคู่แข่ง เช่น จีน ถูกเก็บ 34% เวียดนาม 46% และอินเดีย 26% มีทั้งสูงกว่าไทยและน้อยกว่าไทย ตอนนี้ยังประเมินไม่ได้ว่าสหรัฐจะนำเข้าจากไทยลดลงหรือเพิ่มขึ้น หรือนำเข้าจากคู่แข่งลดลงหรือเพิ่มขึ้น
ซึ่งต้องติดตามผลซักระยะหนึ่งก่อนถึงจะประเมินได้ แต่หากอัตราภาษียังคงเป็นเช่นนี้ คงจะมีผลกระทบต่อการส่งออกแน่ ส่วนจะลดลงมากน้อยแค่ไหน ยังตอบไม่ได้ และถ้าส่งออกลดลง จะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ ทั้งรายใหญ่ และ SMEs ตั้งแต่ช่างฝีมือไปจนถึงโรงงานผลิต
อย่างไรก็ตาม GIT จะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อประเมินผลกระทบและหาแนวทางบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น
โดยเห็นว่าเบื้องต้นจะต้องหารือถึงแนวทางในการเจรจาการค้า เพื่อลดอัตราภาษีลงมา ซึ่งในส่วนนี้กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว โดย GIT พร้อมที่จะให้ข้อมูลสนับสนุนการเจรจาอย่างเต็มที่ และแนวทางการบรรเทาผลกระทบอื่น ต้องหาช่องทางในการขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ ที่มีศักยภาพ เพื่อทดแทนตลาดสหรัฐ
สำหรับอัตราภาษีนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ก่อนที่สหรัฐจะประกาศปรับขึ้นภาษีเป็น 36% พบว่าสินค้าจากไทยถูกเก็บภาษีค่อนข้างต่ำ บางรายการได้รับการยกเว้นภาษีภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ที่ปัจจุบันหมดอายุไปแล้ว แต่ภาษีปกติก็ยังถือว่าต่ำอยู่ โดยเครื่องประดับเงิน ภาษีประมาณ 5% เครื่องประดับที่ทำจากหินกึ่งมีค่า ถ้ามูลค่าไม่เกิน 40 เหรียญสหรัฐต่อชิ้น ภาษี 3.3% เกิน 40 เหรียญสหรัฐต่อชิ้น ภาษี 6.5% พลอยหรือหินกึ่งมีค่าที่ยังไม่ได้ขึ้นตัวเรือน ภาษี 0%
ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบอัตราภาษีเดิมกับอัตราใหม่ 36% จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน เครื่องประดับเงินไทยที่เคยเสีย 5% จะต้องเสียถึง 36% หรือเครื่องประดับพลอยที่เคยเสีย 6.5% ต้องเสีย 36% ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลให้ราคานำเข้า (หลังบวกภาษี) เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เป็นภาระต่อทั้งผู้นำเข้า ผู้ค้าปลีก และผู้บริโภค