ต่อชีวิต น้ำเชื่อมไทย หลังคว้าออร์เดอร์ฟิลิปปินส์ 1,000 ล้าน

น้ำเชื่อมไทย “ดิ้น” หาตลาดแทนจีน หลังเจรจา GACC 4 เดือนเหลวไม่คืบหน้า เหตุไม่มีหน่วยงาน (CA) กำกับหลัก

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานการแก้ไขปัญหา สินค้าน้ำเชื่อม (Syrup)-น้ำตาลผสมล่วงหน้า (Premixed Powder) ในพิกัด 1702901100-1702901200) ถูกสำนักงานศุลกากรจีน (GACC) สั่งระงับการนำเข้ามาตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2567 โดยกล่าวหาว่า น้ำเชื่อม/น้ำตาลผสมไทยผลิตไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ส่งผลให้ผู้ส่งออกไทยต้องขนน้ำเชื่อมที่ลอยลำอยู่ในเรือหน้าท่าเพื่อรอการตรวจปล่อยกลับประเทศ สร้างความเสียหายเป็นมูลค่าหลาย 100 ล้านบาทนั้น

หลังจากที่มีการเจรจากับ GACC เพื่อขอผ่อนผันให้มีการส่งออกน้ำเชื่อม/น้ำตาลผสมจาก บริษัทผู้ผลิต-ส่งออกที่ผ่านการขึ้นทะเบียนกับจีนไว้จำนวน 74 รายเป็นการชั่วคราวเพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นปรากฏ การเจรจาก็ไม่ประสบความสำเร็จ GACC ยังคงสั่งระงับการนำเข้าต่อไป ทั้งการส่งออกที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและการผ่อนผันเป็นรายบริษัททึ่ขึ้นทะเบียนสร้างความผิดหวังให้กับผู้ประกอบการส่งออกน้ำเชื่อมไทยมาก

ทั้งนี้จากการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้งที่ผ่านมา ก็ไม่มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหา ทั้งความไม่ชัดเจนในกฏระเบียบของจีนเองและความไม่ชัดเจนในขอบเขตอำนาจของหน่วยงานไทยในการตรวจสอบมาตรฐานของโรงงานผลิตน้ำเชื่อม/น้ำตาลผสม ซึ่งตั้งโรงงานอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการส่งออก

กรณีน้ำเชื่อมและน้ำตาลผสมนี้ กระทรวงพาณิชย์มีเพียง พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าขาออก (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 ที่สามารถกำหนดมาตรการควบคุมการส่งออกเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานควบคุมคุณภาพสินค้านำเข้าของ GACC แต่ก็ปรากฏว่า น้ำเชื่อมซึ่งเป็นสินค้าเกษตรไม่มีรายชื่ออยู่ในสินค้าควบคุมมาตรฐานขาออกตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้

แต่น้ำเชื่อมกลับมีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก. 268-2521) กำหนดมาตรฐานสุขลักษณะ การปนเปื้อน ภาชนะบรรจุดูแลอยู่ แต่ก็เป็นมาตรฐานโดยความสมัครใจไม่ได้บังคับ ส่วนน้ำตาลผสมล่วงหน้า มี มอก.56-2533 มาตรฐานน้ำตาลทราย กับ มอก.755-2531 มาครฐานน้ำตาลทรายป่น สำหรับสารอาหารทั้งในส่วนผสมอาหาร วัตถุดิบเจือปนเพื่อถนอมอาหาร และวัตถุดิบเพื่อแต่งรส กลิ่น สี

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กับ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) อีกด้วย

“จะเห็นได้ว่า มาตรฐานสินค้าน้ำเชื่อมและน้ำตาลไทย จะเกี่ยวข้องกับ กฎหมายที่แต่ละหน่วยงานราชการควบคุมดูแลอยู่ถึง 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม ในขณะที่ GACC ต้องให้มีหน่วยงานกำกับดูแลหลัก หรือ Competent Authority : CA) ดูแลมาตรฐาน คุณภาพ ความปลอดภัย การตรวจสอบย้อนกลับ การออกใบรับรอง สินค้าน้ำเชื่อมและน้ำตาลผสมทั้งหมดเพียงหน่วยงานเดียว” ผู้ส่งออกน้ำเชื่อมรายหนึ่งกล่าว

ADVERTISMENT

ส่งผลให้การแก้ไขปัญหามาตรฐานความปลอดภัยของน้ำเชื่อม/น้ำตาลผสมของไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัย GACC “ไม่มีความคืบหน้า” เพราะหน่วยงานที่จะเป็นผู้กำกับดูแลหลัก (CA) จะมี “ค่าใช้จ่าย” และยังต้องคำนึงถึง “ความคุ้มค่า” ในการดำเนินการ ในขณะที่ สินค้าน้ำเชื่อม/น้ำตาลผสม ถูกจัดให้เป็นสินค้าที่มีความเสี่ยงต่ำที่ผู้ผลิต/ส่งออกสามารถไปขึ้นทะเบียนกับทางหน่วยงานผู้นำเข้าได้โดยตรงอยู่แล้ว “เมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเห็นกันอย่างนี้ เราก็ต้องรอผลการตรวจโรงงาน ตรวจมาตรฐานของแต่ละหน่วยงานแล้วให้ทาง มกอช. ประสาน สนง. ไทยที่ปักกิ่ง รวบรวมส่งไปที่ GACC ซึ่งไม่มีความคืบหน้าจากทางจีนเลย” ผู้ส่งออกน้ำเชื่องกล่าว

อย่างไรก็ตาม การสูญเสียตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของน้ำเชื่อม/น้ำตาลผสมของไทยปีละกว่า 1,000 ล้านเหรียญ (ม.ค.-พ.ย. 2567 มีมูลค่า 1,829,608,371 เหรียญสหรัฐตามการออกหนังสือ FORM E) ทำให้ผู้ผลิต/ส่งออกไทยต้องเปลี่ยนไปหาตลาดอื่นเพื่อ “ทดแทน” ตลาดจีนที่เสียหายไปแล้ว

ล่าสุด สมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาลแปรรูปไทย ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ มนิลา ฟิลิปปินส์ จัดงานเจรจาจับคู่ทางการค้า หรือ Business Matching) ระหว่าง สมาชิกสมาคม 5 รายกับ ผู้นำเข้าฟิลิปปินส์จำนวน 8 ราย ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 2 เมษายน

เกิดการจับคู่เจรจาธุรกิจกัน 32 คู่ และเกิดมูลค่าการค้าคิดเป็นมูลค่า 33 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 1,127 ล้านบาท นอกจากนี้สมาคมยังได้เข้าพบ สำนักงานกำกับดูแลสินค้าน้ำตาลฟิลิปปินส์ (Suger Regulatory Administration หรือ SRA) เพื่อทำความเข้าใจกับการนำเข้าสินค้าน้ำตาลแปรรูปของฟิลิปปินส์ด้วย