
คอลัมน์ : สัมภาษณ์
“กรมการข้าว” มีเป้าหมายการทำงานในการส่งเสริมสนับสนุน เพิ่มประสิทธิภาพ การผลิตยกระดับศักยภาพของชาวนาให้เข้มแข็ง อีกทั้งการเพิ่มมูลค่าข้าว ผลผลิตแปรรูปไปสู่สินค้ามีมูลค่าเพิ่ม โดย นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวถึงแผนการทำงานในปี 2568 และ 10 นโยบายเร่งด่วน ของรัฐบาล 9 นโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นแผนงานที่สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติ เชื่อมโยงแผนแม่บทด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
เผยพันธุ์ข้าวใหม่ลุยพื้นที่ปี’69
กรมมีโครงการที่จะเดินหน้า 22 โครงการ อาทิ โครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น (ข้าว) โครงการยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้า โครงการส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตร โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว โครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โครงการการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการผลิตข้าวอย่างยั่งยืนเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น ส่วนในปี 2569 อาทิ โครงการก่อสร้างธนาคารเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ โครงการศูนย์รวบรวมผลผลิตและกระจายสินค้าข้าว โครงการรณรงค์ไม่เผาฟางข้าว เป็นต้น
ในการทำงานปี 2568 การพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวเป็นสิ่งสำคัญที่กรมการข้าวกำลังผลักดัน กรมได้มีการยื่นรับรองพันธุ์ไปที่กรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวของกรม ที่มองว่าเป็น “อาวุธลับ” เป็นพันธุ์ข้าวอายุสั้น และเตรียมเปิดตัวพันธุ์ข้าวใหม่ 3-4 สายพันธุ์ ซึ่งตอนนี้ยังบอกไม่ได้ ต้องรอรับรองผ่านเป็นที่เรียบร้อยก่อน หลังจากนั้น เราจะต้องนำเมล็ดพันธุ์ไปขยายพันธุ์ให้มีปริมาณมากพอ ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3-4 เดือน เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์หลักที่มีปริมาณมากพอ โดยเชื่อว่าจะสามารถลงขยายพื้นที่นาข้าวได้ในช่วงปี 2569 โดยนาปีในปี 2568 อาจจะยังไม่ทัน
อายุปลูก 100 วัน 1 ตันต่อไร่
หากสามารถรับรองพันธุ์เป็นที่เรียบร้อย กรมจะมีการทดลองเพาะปลูกพันธุ์ข้าวใหม่นี้ ที่ศูนย์ข้าวพิษณุโลก ชัยนาท สุพรรณบุรี พิจิตร ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกเป็นจำนวนมาก อีกทั้งจะมีการจัดงานรณรงค์การเพาะปลูกข้าวด้วย ผมมีความตั้งใจว่าในยุคที่ผมทำงานจะต้องมีพันธุ์ข้าวใหม่ออกมา โดยพันธุ์ข้าวที่กรมการข้าวพัฒนาและรอการรับรองพันธุ์นี้ จะทำให้เกษตรกรมีผลผลิตต่อไร่ 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ขึ้นไป อายุการเพาะปลูกจนเก็บเกี่ยวได้ไม่เกิน 90-100 วัน ซึ่งจะทำให้ชาวนามีผลผลิตและรายได้เพิ่มขึ้น
ส่วนข้อกังวลในเรื่องของต้นทุนการเพาะปลูกข้าวนั้น ต้องยอมรับว่าต้นทุนไม่ได้เกิดจากพันธุ์ข้าว หรือเมล็ดพันธุ์ข้าว เพราะกรมมีเงินอุดหนุนให้อยู่ที่กิโลกรัม 3-4 บาท แต่ต้นทุนที่แท้จริงของชาวนาอยู่ที่เครื่องจักร ราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้าที่ตัวแปรสำคัญ รวมไปถึงค่าแรง ค่าเช่านาด้วย
รัฐช่วยลดค่าไฟ-ค่าเช่าที่นา
และหากต้องการช่วยเหลือลดต้นทุนการเพาะปลูกให้ชาวนา มองว่ารัฐบาลควรจะสนับสนุนให้ชาวนาสามารถใช้น้ำมันเขียว (ดีเซล) ได้ คล้ายกับการช่วยเหลือชาวประมง โดยสามารถผ่านเครือข่ายสหกรณ์การเกษตรก็ได้ โดยรัฐบาลไม่จำเป็นจะต้องเข้ามาอุดหนุน พร้อมทั้งปรับเรื่องของค่าพลังงาน ค่าเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้าให้มีราคาต่ำลง โดยให้กระจายทั่วถึงไปยังกลุ่มเกษตรกร เพียงแค่นี้ก็ทำให้เกษตรกรสามารถประกอบอาชีพได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องเข้าไปอุดหนุน
อย่างไรก็ดี การที่จะให้เกษตรกรมีต้นทุนที่ต่ำในการเพาะปลูกข้าว จำเป็นจะต้องเข้ามาดูแลในเรื่องของราคาพลังงานที่เกษตรกรใช้ในการเพาะปลูก หรือทำด้านการเกษตรทั้งหมดจำเป็นจะต้องให้มีราคาที่ถูกลง ไม่ควรให้ราคาเทียบเท่ากับการใช้เชิงพาณิชย์ทั่วไป โดยควรที่จะพิจารณาค่าไฟให้ในภาคเกษตรกรรมถูกกว่าครัวเรือน
นอกจากนี้ เรื่องของค่าเช่าที่ ก็ถือว่าเป็นต้นทุนสำคัญด้วย พบว่าค่าเช่านาอย่างน้อยอยู่ที่ราคา 1,200-1,500 บาทต่อไร่ต่อครอป เป็นต้นทุนตายตัวของชาวนา ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ว่าทำไมชาวนาจำเป็นจะต้องปลูกข้าวที่อายุสั้น ให้ปลูกข้าวได้ปริมาณที่มากและถี่ขึ้น
หนุนเลี้ยงปลา-แหนแดงในนา
ปัจจุบันจะพบว่าตลาดราคาข้าวยังถูกกดราคาโดยพ่อค้า ขณะที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ลดและห้ามการเผาฟาง ตอซังข้าว การจะห้ามไม่ให้ชาวนาทำ ทุกวันนี้เรามีอะไรทดแทนหรือช่วยชาวนาหรือไม่ แม้กรมจะมีการช่วยเหลือด้านปุ๋ยจุลินทรีย์ ช่วยสลายตอซังข้าว แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับปริมาณพื้นที่นาทั่วประเทศที่มีเป็น 1,000,000 ไร่ อีกทั้งเรายังมีงบประมาณจำกัดเพียง 300-400 ล้านบาทที่จะเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งไม่สามารถผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการได้
ขณะที่การส่งเสริมและพัฒนาพันธุ์ข้าว เราก็ใช้งบประมาณที่มีอยู่เพียงจำกัด กรมการข้าวจำเป็นจะต้องคิดใหม่ ให้มีการทำนาใช้แหนแดงในนาข้าว ที่จะคุมวัชพืชในนาได้ดี และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งอยู่ระหว่างการทดลองในแปลงสาธิตที่จังหวัดพิษณุโลก ที่ร่วมกับเอกชน โครงการนี้จะเป็นการช่วยลดต้นทุนเรื่องของปุ๋ยได้ถึง 30% รวมถึงควบคุมข้าวดีดข้าวเด้งได้อีกด้วย
นอกจากนี้ นาลุ่มพื้นที่เหมาะสม และในบางพื้นที่ กรมประมงและกรมการข้าว ร่วมกับเกษตรกร ชุมชนและนาแปลงใหญ่ ส่งเสริมให้เลี้ยงปลาในนาข้าวที่มีแหนแดง ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุน ตอนนี้เรากำลังทำแปลงสาธิตให้กับชาวนาได้เห็น มองว่าจะเป็นรายได้เสริมให้กับชาวนาได้ในอนาคต รวมไปถึงลดการใช้สารเคมีในนาข้าว ผลผลิตข้าวก็จะปลอดภัยไม่มีสารเคมี โดยปลาที่เหมาะสมที่จะปล่อยในนาข้าว ได้แก่ ปลาตะเพียน
3 ปีศูนย์ข้าวชุมชนเฉียดหมื่น
นอกจากนี้ ภายใต้แผนระยะ 3 ปี (2567-2569) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนศูนย์ข้าวชุมชน จากเดิมปี 2567 ที่มีศูนย์ข้าวชุมชนอยู่จำนวน 4,985 ศูนย์ ในปี 2569 จะต้องเพิ่มจำนวนเป็น 9,985 ศูนย์ ให้เป็นศูนย์กลางในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ จากเดิมในปี 2567 ผลิตได้ 200,000 ตันต่อปี
ในปี 2569 จะสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวได้มากถึง 490,000 ตันต่อปี และจะมีข้าวคุณภาพดีออกสู่ตลาดจากเดิม 12 ล้านตัน เพิ่มเป็น 16.64 ล้านตัน ครอบคลุมเกษตรกรได้มากกว่า 295,650 ครัวเรือนภายในปี 2569 เพื่อให้สอดคล้องกับพื้นที่การทำนาของประเทศไทย มีพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด 64.6 ล้านไร่ 4.84 ล้านครัวเรือน
อีกทั้งเร่งผลักดันโครงการลานตากข้าว แก้ปัญหาลานตากข้าวเปลือกหลังการเก็บเกี่ยวไม่เพียงพอ และศูนย์ข้าวชุมชนเพื่อผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ตลอดจนการแปรรูปสินค้าข้าวเพื่อเพิ่มมูลค่าด้วย