จีนสวมสิทธิ์ “ส่งออกศูนย์เหรียญ”

export
คอลัมน์ : สามัญสำนึก 
ผู้เขียน : สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

หนึ่งในปัญหาสำคัญที่ประเทศไทยจะต้องเร่งแก้ไข จากผลกระทบมาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในครั้งนี้ ก็คือปัญหา “ส่งออกศูนย์เหรียญ”

คือการให้ต่างชาติ โดยเฉพาะจีนเข้ามาสวมสิทธิ์ส่งออกไปสหรัฐ หรือเป็นการ Reexport จากจีน ที่แม้จะทำให้ตัวเลขการส่งออกเพิ่มขึ้น แต่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจไทยน้อยมาก

แท้จริงประเด็นนี้ แม้ว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องมาตรการภาษีตอบโต้จากทรัมป์ การที่ประเทศไทยปล่อยให้มีการตั้งฐานส่งออกศูนย์เหรียญ ก็ถือว่าไม่ได้ประโยชน์ต่อประเทศไทย ก็ไม่ควรให้เกิดขึ้นอยู่แล้ว

ตัวเลขส่งออกที่ทำให้ประเทศไทยเกินดุลการค้าสหรัฐ โดยที่ไทยแทบไม่ได้ประโยชน์อะไร และยังกลายเป็น “โทษ” ที่ทำให้สหรัฐมองว่าไทยเกินดุลจำนวนมาก

เช่น ที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า ข้อมูลช่วงปลายปี 2567 ส่งออกของไทยเติบโตอย่างน่าสนใจ คิดว่าในแง่บวก เพราะผู้นำเข้าสหรัฐมีการตุนสินค้า ก่อนที่โดนัลด์ ทรัมป์ จะขึ้นดำรงตำแหน่ง และในเดือน ม.ค.-ก.พ. 68 ตัวเลขส่งออกยังคงเติบโตต่อเนื่องมากขึ้นถึง 13-14%

แต่เมื่อกลับไปดูตัวเลขดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมไทย กลับพบว่าหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2567 จึงมีคำถามว่าสินค้าที่ส่งออกจากประเทศไทยมาจากไหน และในช่วงเวลาเดียวกัน ก็พบว่าไทยมีการนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มขึ้นถึง 27%

ADVERTISMENT

มีการยืนยันว่า ตัวเลขส่งออกของไทยที่เพิ่มขึ้น เกิดจากสินค้าจีนเข้ามาใช้ไทยเป็นแค่ทางผ่าน หรืออาจมีฐานผลิตในไทย แต่ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าชิ้นส่วนจากจีน มูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจไทยน้อยมาก

และนี่คือโจทย์ที่ประเทศไทยต้องแก้ คือต้องไม่ยอมเป็นทางผ่านส่งออกศูนย์เหรียญ

ADVERTISMENT

เพราะในช่วงสงครามการค้าทรัมป์ 1.0 ประเทศไทย และอีกหลาย ๆ ประเทศได้ประโยชน์จากการย้ายฐานผลิตของจีน เพื่อหลบเลี่ยงภาษีนำเข้าของสหรัฐ

และประเทศไทยก็ตื่นเต้นกับทัพทุนจีนที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี), พีซีบี (Printed Circuit Board) และอีกหลากหลาย

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ก็ปลาบปลื้ม ว่าปี 2567 ที่ผ่านมา มีการยื่นขอส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในรอบ 10 ปี ด้วยมูลค่า 1.31 ล้านล้านบาท (3,100 โครงการ) ที่แม้ชาติอันดับหนึ่งที่เข้าขอส่งเสริมการลงทุนคือ “สิงคโปร์” แต่ก็เป็นที่ทราบกันดี ว่าคือบริษัทจีนที่ไปแปลงร่างเป็นสิงคโปร์ ก่อนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

ประเทศไทยจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของอุปทานของจีน จึงโดนภาษีตอบโต้สูง เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศในอาเซียน อย่างเมียนมา (44%) เวียดนาม (46%) สปป.ลาว (48%) กัมพูชา (49%) อินโดนีเซีย (32%)

เรื่องนี้ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐ กล่าวว่า เนื่องจากประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการเปลี่ยนอเมริกาและต้องการเปลี่ยนโลก การเจรจากับทรัมป์จะไปขอลดภาษีแล้วอยู่แบบเดิมไม่ได้ แต่เราต้องวางยุทธศาสตร์ใหม่ ว่าประเทศไทยจะอยู่กับอเมริกาในยุคทรัมป์ได้อย่างไร

นอกจากเรื่องกรอบเจรจาที่จะนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐเพื่อลดการเกินดุลสหรัฐ และตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ประเทศไทยที่จะเป็น “ผู้แปรรูปอาหารคุณภาพดีส่งขายทั่วโลก”

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า อีกประเด็นสำคัญ ก็คือปัญหาที่ประเทศไทยกลายเป็นทางผ่านสินค้าจีน โดยที่ผ่านมา ประเทศไทยดีใจ มีตัวเลขส่งเสริมการลงทุนเข้ามาจำนวนมาก แต่กลับกลายเป็นการส่งเสริมให้บริษัทจีนเข้ามี Reexport ซึ่งประเทศไทยไม่ได้ประโยชน์ โดยเรื่องนี้อาจารย์พันศักดิ์ (วิญญรัตน์) ประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกฯ เคาะให้ทางบีโอไอต้องทบทวนแก้ไข ปรับนโยบายเรื่องการส่งเสริมการลงทุนใหม่ เพราะเรื่องนี้แม้ไม่เจอมาตรการภาษีตอบโต้ของทรัมป์ การลงทุนแบบนี้ก็มีประโยชน์ต่อประเทศไทยน้อยมาก

“ต่อไปการที่จะดึงการลงทุนต่างประเทศ (FDI) เราอาจอยากได้เทคโนโลยี และโนว์ฮาว มากกว่าเงินทุน”

นี่เป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ของประเทศไทยในยุคโลกเปลี่ยน