ยกเลิกเอทานอล-ไบโอดีเซล แก้น้ำมันแพงได้จริงไหม ?

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล สภาปฏิรูปแห่งชาติ

ราคาเอทานอล ไบโอดีเซลที่ผ่านมามีราคาแพงกว่า เนื้อน้ำมันมากราว 9-10 บาท/ลิตร จนมีการกล่าวว่าเป็นสาเหตุของน้ำมันแพง ถ้ายกเลิกการใช้ แน่นอนราคาน้ำมันขายปลีกลดลง ประชาชนทั่วไปมองว่าน่าจะได้ประโยชน์ แต่แท้จริงแล้วผู้ได้ประโยชน์ร่วมด้วยคือโรงกลั่นน้ำมัน เนื่องจากกระบวนการเก็บรักษา-ผสมให้ได้ตามมาตรฐาน ต้องมีถังเก็บจำนวนมาก สำหรับแก๊สโซฮอล์ชนิดต่าง ๆ มีความยุ่งยากมากพอควร โรงกลั่นเองไม่ได้ประโยชน์จากการซื้อเอทานอลและไบโอดีเซล (B100) ราคาสูงมาผสม เพราะต้นทุนที่เกิดขึ้นจะถูกส่งต่อไปยังผู้ใช้น้ำมัน

แต่ที่สำคัญ เมื่อยกเลิกการผสมโรงกลั่นจะได้ประโยชน์มากคือจะขายน้ำมันภายในประเทศได้มากขึ้นทันที โรงกลั่นที่เคยส่งออกน้ำมันบางส่วน จากการที่เอาเอทานอลและไบโอดีเซลมาผสมแทนที่เนื้อน้ำมัน ก็ลดการส่งออกได้ มีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผู้ค้าสถานีบริการ ก็สามารถลดชนิดน้ำมันแก๊สโซฮอล์ลงได้หลายชนิด ช่วยลดค่าใช้จ่าย และการลงทุนติดตั้งถัง หัวจ่ายน้ำมันจำนวนมากในอดีตกว่าที่จะทำให้โรงกลั่นนำมาใช้ผสม มันยากมาก เพราะกระทบต่อรายได้ที่ลดลง มีการลงทุนที่มากขึ้นแต่ผลตอบแทนต่ำ อย่างไรก็ตาม โรงกลั่นทุกแห่งในประเทศก็พร้อมใจกันนำ

เอทานอล และไบโอดีเซลมาผสม ตามนโยบายกระทรวงพลังงาน เพราะเล็งเห็นประโยชน์ที่เกษตรกรปลูกอ้อยมันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน จะได้รับจากราคาพืชเหล่านี้สูงขึ้น ประเทศก็จะประหยัดเงินตราต่างประเทศในการนำเข้าน้ำมันดิบได้มากกว่า 10,000 ล้านบาท/ปี รวมไปถึงช่วยลดก๊าซเรือนกระจก คุณภาพสิ่งแวดล้อมดีขึ้น ถ้าจะเลิกการใช้ แน่นอนจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทย และประเทศชาติอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าราคาเอทานอลค่อนข้างสูง เพราะรัฐต้องการช่วยเหลือเกษตรกรไทย ปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ให้มีรายได้สูงขึ้น แต่ต้นทุนอ้อยในประเทศมีราคาสูงกว่าอ้อยจากบราซิลมาก

เนื่องจากผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่ามาก เช่นเดียวกันไม่สามารถแข่งขันกับเอทานอล ที่ผลิตจากสหรัฐ ที่ใช้ข้าวโพดเป็นวัตถุดิบที่อาจมีการปรับพันธุกรรมทำให้ต้นทุนต่ำมาก ดังนั้นราคาเอทานอลที่ผลิตจากบราซิล และสหรัฐจึงถูกกว่าเอทานอลในไทยมาก

แต่ถ้ามองในด้านราคามิติเดียวคงไม่สามารถสู้ได้ ต้องดูมิติอื่นประกอบด้วย 1) เงินจำนวนมาก หลายหมื่นล้านบาทต่อปี อยู่ในประเทศไทย ไม่ต้องเอาไปซื้อน้ำมันของต่างชาติ 2) ช่วยเกษตรกรมีรายได้สูง กระตุ้นเศรษฐกิจ และ 3) สร้างความมั่นคงให้ประเทศ เพราะสามารถพึ่งพาน้ำมันจากพืชได้ระดับหนึ่ง รัฐจึงจำเป็นต้องส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ โดยเอาเงินกองทุนน้ำมันฯมาชดเชยราคา ถ้ารัฐไม่สนับสนุนเกษตรกรด้วยวิธีนี้ รัฐก็ต้องเอาภาษีที่เก็บจากประชาชนไปช่วยเกษตรกรซึ่งอาจรั่วไหลได้ และท้ายสุดต้องเสียเงินจำนวนมากเพื่อนำเข้าน้ำมัน

ฉะนั้นการสนับสนุนแก๊สโซฮอล์น่าจะดีกว่าโดยรวมของประเทศ นโยบายนี้ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรไทยเป็นหลัก ไม่ได้ช่วยเหลือเกษตรกรต่างชาติ

จึงไม่มีการนำเข้าทั้งเอทานอลและไบโอดีเซล รวมไปถึงใช้ราคาอ้างอิงซื้อขายในตลาดต่างประเทศ เพราะอย่างที่กล่าวข้างต้น ต้นทุนของเกษตรไทยสูงกว่ามาก ถ้ากำหนดราคาเช่นนี้ ราคาพืชเหล่านี้ต้องลดลงมาก ซึ่งเกษตรไทยไม่สามารถอยู่ได้

เช่นเดียวกับไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์ม ที่ผสมในน้ำมันดีเซล 5-7% รัฐก็ต้องนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาช่วยสนับสนุนเช่นกัน เพราะราคาไบโอดีเซลแพงกว่าเนื้อน้ำมันดีเซลมาก แต่ถ้าไม่ทำอย่างนี้ ราคาปาล์มน้ำมันก็จะตกต่ำ รัฐก็ต้องใช้ภาษีเข้าไปสนับสนุนช่วยเหลือเช่นกัน

ทั้งเอทานอล และไบโอดีเซลที่นำมาใช้กว่า 10 ปีที่ผ่านมา ได้ช่วยเหลือเกษตรกรได้เป็นอย่างดี ประหยัดเงินตราต่างประเทศได้จำนวนมาก มันน่าเสียดายถ้าคิดจะยกเลิกการใช้ และกลับไปสู่วังวนในอดีตที่เกษตรกรไทยต้องยากลำบาก