เอกชน วืดส่งมอบสินค้าช้า เหตุ ทรัมป์ ขึ้นภาษีไทย 36% ส่งออกไทย 2 เดือนชะลอ

การส่งออก

พจน์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย เผยผู้ส่งออกไทยห่วงสินค้าซื้อ-ขายล่วงหน้าส่งมอบล่าช้า เหตุผู้นำเข้ากังวล ทรัมป์ 2.0 เก็บภาษีสินค้าไทย 36% ใครรับผิดชอบ คาดส่งออก 2 เดือนนี้ชะลอ ชูทีมไทยแลนด์ เดินหน้าแก้ปัญหา-เจรจาสหรัฐ

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากกรณีที่สหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าไทย 36% ว่าจากการติดตาม สอบถามในกลุ่มผู้ส่งออกไทย ส่วนใหญ่ยอมรับว่ามีความกังวลมาก โดยเฉพาะสินค้าที่มีการซื้อ-ขายล่วงหน้าและมีการตกลงราคาแล้วจะยังสามารถส่งมอบได้หรือไม่ หรือว่าภาษีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศขึ้นภาษีกับสินค้าไทย 36% ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ จะเก็บกับผู้นำเข้าไหม เพราะแบบนั้นผู้นำเข้าขึ้นราคาสินค้า ราคาสินค้าก็จะขยับขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบไปยังผู้บริโภคของสหรัฐ และมีผลต่อกำลังซื้อและคำสั่งซื้อใหม่ในอนาคต

“หลังจากวันนี้ (9 เมษายน 2568) จำเป็นจะต้องมีการติดตามรายละเอียดของการปรับขึ้นภาษีของทรัมป์ 2.0 ว่าจะมีรายละเอียดและขั้นตอนอย่างไร จะเหมือนการปรับขึ้นภาษีวันที่ 5 เมษายน 2568 ที่ผ่านมาหรือไม่ เพราะในเงื่อนไขระบุว่าสินค้าดังกล่าวจะต้องส่งมอบ หรือถึงสหรัฐก่อนวันที่ 27 พฤษภาคม 2568 ถ้าหลังจากนั้นสินค้าจะถูกเก็บภาษีเพิ่ม 10%”

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าการเก็บภาษียังไม่มีความชัดเจนมากนัก โดยผู้นำเข้าก็ยังไม่มั่นใจ ทำให้ต้องชะลอส่งมอบสินค้า โดยขณะที่เราอยากขายสินค้า ดังนั้น การเจรจาต่อรองจึงจำเป็นจะต้องเดินหน้า ส่วนคำสั่งซื้อใหม่นั้น ชัดเจนว่าจะยังไม่มี เพราะทั้งสองฝ่ายก็ยังไม่รู้ว่าอัตราภาษีที่ปรับขึ้นจะเป็นภาระของใครที่จะเป็นผู้รับผิดชอบ ดังนั้น ในช่วงเมษายนถึงพฤษภาคม 2568 การส่งออกยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

นายพจน์กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการของภาครัฐ 5 แนวทางสำคัญในการแก้ไขปัญหาทรัมป์ 2.0 ทางเอกชนเห็นด้วยและพอใจในหลักการอย่างมาก ซึ่งก็เป็นแนวทางที่เอกชนได้มีการเข้าไปพูดคุย หารือกับภาครัฐตั้งแต่ต้นปี 2568 รวมถึงข้อเสนอต่าง ๆ โดยสิ่งที่เราจำเป็นจะต้องเข้าไปดูโดยเฉพาะมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เช่น มาตรการด้านสุขอนามัยในสินค้าเกษตร มาตรการทางกฎหมายที่ยังเป็นอุปสรรค เป็นสิ่งที่ภาครัฐจำเป็นจะต้องแก้ไข

รวมไปถึงการสวมสิทธิใช้ไทยเป็นแหล่งส่งออก หรือการใช้ถิ่นกำเนิดไทยเพื่อส่งออกไปสหรัฐ เรื่องนี้กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้ออกมาดูแลและเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะใน 49 หมวดสินค้าสำคัญ

ADVERTISMENT

“ถามว่าจากมาตรการทรัมป์ 2.0 เราเสียหายหรือยัง บอกว่าตอนนี้ยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจน แต่สิ่งที่ชัดคือเราเสียโอกาสที่จะส่งมอบสินค้า สต๊อกสินค้าที่ผลิตจะมีโอกาสส่งออกไหม คำสั่งซื้อใหม่จะเกิดขึ้นเมื่อไร”

อย่างไรก็ดี สิ่งที่อยากจะฝากภาครัฐด้านการเจรจากับสหรัฐ อยากให้จัด “ทีมไทยแลนด์” ขึ้นมา โดยมีนายกฯ เป็นประธาน ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในการวิเคราะห์ สรุปข้อมูล เพราะมองว่าอยากให้มีคณะที่สามารถจะเคาะมาตรการสรุปการเดินหน้าแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ เพราะมีหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง และค่อยจัดตั้งเป็นคณะอนุกรรมการย่อยในการทำงานต่อไป

ADVERTISMENT

“มีคนถามว่าการแก้ไขปัญหาในตอนนี้ช้าไปหรือไม่ มองว่าไม่ช้า แต่ก็ไม่เร็ว และการแบ่งทีมที่ภาครัฐสรุปออกมานั้นถือว่าดี แต่ก็ยังต้องการให้จัดเป็นคณะเดียว นายกฯ เป็นประธาน ส่วนทีมเจรจานั้นจำเป็นจะต้องเป็นนายกฯ หรือไม่ เห็นว่าไม่จำเป็น และทีมเจรจากับคณะทำงานแยกกันได้ เป็นคนละส่วน และการเจรจาสิ่งที่สหรัฐต้องการให้เรานำเข้าก็จะมี 4 หมวดสำคัญคือ พลังงาน เกษตร-อาหาร เครื่องบิน อาวุธ เป็นสิ่งที่จะต้องมาหารือ และต้องยอมรับว่าการเจรจานั้นย่อมมีผู้ได้และผู้เสีย”