เปิดไพ่ไทยเจรจา ‘ทรัมป์’ ซื้อสินค้าเกษตร-LNG เอี่ยวโครงการก๊าซธรรมชาติอะแลสกา

โดนัลด์ ทรัมป์
โดนัลด์ ทรัมป์

รัฐบาล-เอกชน ยังวิ่งวุ่นหาข้อสรุปเจรจากับสหรัฐ หลังถูกขึ้นภาษีตอบโต้หนัก ส่ง “พิชัย” รมว.คลัง ชิมลางหารือผู้แทนค้า USTR

หลังจากที่รัฐบาลไทย โดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ออกแถลงการณ์ ท่าทีของประเทศไทยกับนโยบายการค้าสหรัฐ มีสาระสำคัญ จากการที่สหรัฐประกาศเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ในอัตราที่สูงถึง 36% มีผลในวันที่ 9 เมษายนนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรูป และสินค้าเกษตร

รัฐบาลได้ตั้ง คณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐ ขึ้นมาพิจารณามีการหารือกับภาคเอกชนจนสามารถสรุปเป็น “ข้อเสนอเชิงนโยบาย” ของฝ่ายไทยที่จะนำไปเจรจากับสหรัฐ ดังต่อไปนี้

1) การเพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตรและปศุสัตว์จากสหรัฐในรายการ ข้าวโพด จากปัจจุบันที่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์มีความต้องการข้าวโพด 9.2 ล้านตัน แต่มีผลผลิตภายในประเทศไม่เกิน 5 ล้านตัน หรือยังขาดอยู่อีก 4.2 ล้านตัน สามารถนำเข้าจากประเทศสมาชิก WTO ได้เลย ส่วนการนำเข้าข้าวโพดนอกโควตาจะเสียค่าธรรมเนียมพิเศษในอัตราตันละ 180 บาท

เมล็ดถั่วเหลือง ที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารในปี 2567 มีการนำเข้ารวมทั้งหมด 3.79 ล้านตัน ในจำนวนนี้นำเข้าจากสหรัฐแค่ 390,000 ตัน หรือคิดเป็น 10.2% แต่นำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองจากบราซิลสูงถึง 3.38 ล้านตัน หรือคิดเป็น 89% สามารถนำเข้าจากประเทศสมาชิก WTO โดยไม่ต้องขออนุญาตนำเข้าและไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษ

กากถั่วเหลือง มีความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ปี 2568 สูงถึง 5.22 ล้านตัน ในขณะที่มีถั่วเหลืองที่ผลิตได้ภายในประเทศแค่ 19,699 ตัน ดังนั้นเท่ากับต้องมีการนำเข้ากากถั่วเหลืองอีกไม่น้อยกว่า 5.2 ล้านตัน ที่ผ่านมาในปี 2567 ไทยมีการนำเข้ากากถั่วเหลือง 2.83 ล้านตัน ในจำนวนนี้เป็นการนำเข้ากากถั่วเหลืองจากสหรัฐแค่ 20,000 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.7 แต่มีการนำเข้ากากถั่วเหลืองจากบราซิลมาเป็นอันดับ 1 ถึง 2.59 ล้านตัน

ADVERTISMENT

“ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ไทยสามารถนำเข้าสินค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากสหรัฐได้เพิ่มขึ้น โดยแทบไม่มีกำแพงภาษี แต่การนำเข้าในข้อเท็จจริงผู้นำเข้าก็จะเลือกนำเข้าจากประเทศที่ขายราคาถูกที่สุด เพราะหากนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์เข้ามาในราคาแพงจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ของประเทศด้วย” แหล่งข่าวในวงการปศุสัตว์กล่าว

ส่วนข้อเสนอในการนำเข้า เนื้อหมู-เครื่องใน เพื่อการบริโภคจากสหรัฐนั้น ปัจจุบันยังติดปัญหาในเรื่องของสุขอนามัยที่ห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดง (แร็กโตพามีน) แต่ถ้าจะนำเข้าเครื่องในจากสหรัฐเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงจะมีความเป็นไปได้มากกว่า

ADVERTISMENT

2) การลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐในหลายรายการที่ถูกเรียกเก็บภาษีสูง อาทิ ชีส หรือภาษียานยนต์ ปัจจุบันไทยเรียกเก็บภาษีรถยนต์ร้อยละ 80 รถจักรยานยนต์ร้อยละ 60 รถปิกอัพร้อยละ 49 และชิ้นส่วนเก็บภาษีนำเข้าอยู่ระหว่างร้อยละ 10-30 รวมไปถึง การแก้ไขมาตรการที่มิใช่ภาษีและควบคุมสินค้าที่เข้ามาสวมสิทธิ์แหล่งกำเนิดไทยเพื่อส่งออกไปสหรัฐ

3) การซื้อสินค้าในกลุ่มพลังงาน อาทิ ก๊าซธรรมชาติ-อีเทน ในหมวดนี้อาจจะตอบโจทย์ของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ว่า พร้อมที่จะลดภาษีให้กับประเทศคู่ค้าที่มี ข้อเสนอที่มหัศจรรย์ หรือ Phenomenon ให้กับสหรัฐ

ที่ผ่านมาในปี 2566 ประเทศไทยมีการนำเข้าก๊าซ LNG จากสหรัฐเฉลี่ยเดือนละ 3,000-4,000 พันลิตร ขณะที่ บริษัท PTTGC มีสัญญาซื้ออีเทนจาก Enterprise Products Partners L.P สหรัฐ ปีละ 400,000 ตัน ระยะเวลา 15 ปี

บริษัท ปตท.มีสัญญาซื้อขาย LNG ปีละ 1 ล้านตัน ระยะเวลา 15 ปี กับสหรัฐ บริษัท SCGS ได้จัดหาวัตถุดิบก๊าซอีเทนสำเร็จระยะยาวปีละ 1 ล้านตัน รวม 15 ปี พร้อมลงนามในสัญญากับ Enterprise Products Partners L.P ผู้จัดหาก๊าซอีเทนชั้นนำของสหรัฐ

ส่วนข้อเสนอที่อาจจะเป็น Phenomenon ได้ก็คือ การโฟกัสไปที่ โครงการก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในมลรัฐอะแลสกา หรือโครงการ Alaska Gasline Development Corp’s : AGDC มูลค่า 44,000 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ที่ถูกริเริ่มโดยประธานาธิบดีทรัมป์ทันทีที่ขึ้นมารับตำแหน่ง (Trump 2)

โครงการ AGDC ได้ถูก Road Show โดยคณะผู้แทนสหรัฐในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดย Mr.Michael James Dunleavy ผู้ว่าการรัฐอะแลสกา ผู้แทน AGDC และ Girnfarne Group ออกเดินสายหานักลงทุนจาก 4 ประเทศ ได้แก่ ไต้หวัน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ และไทย

คณะผู้แทนชุดนี้ ได้เข้าแนะนำโครงการกับ กระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท ปตท. ทั้งการสำรวจและผลิตก๊าซ การก่อสร้างท่อส่งก๊าซ โรงแยกก๊าซ/โรงแปรสภาพก๊าซ และโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการส่งออกก๊าซธรรมชาติจากอะแลสกามายังภูมิภาคเอเชีย

“ตอนนั้นฝ่ายไทยได้แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการ และการนำเข้าก๊าซ LNG จากแหล่งนี้เพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซ LNG ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งในประเด็นนี้ ฝ่ายไทยอาจใช้เป็นแต้มต่อด้วยข้อเสนอที่จะเข้าไปลงทุนในโครงการ AGDC ตามขีดความสามารถที่ไทยจะทำได้ด้วย“ แหล่งข่าวกล่าว

อย่างไรก็ตาม การซื้อสินค้าสหรัฐเพิ่มขึ้นหรือการเข้าไปลงทุนในโครงการต่าง ๆ จะต้องคำนึงถึงการแข่งขันทางด้านราคาด้วยว่า ”ต้องแข่งขันกับสินค้าประเภทเดียวกัน“ จากแหล่งอื่น ๆ ด้วย ไม่ใช่จะตั้งเป้าที่จะลดตัวเลขการได้ดุลการค้ากับสหรัฐที่สูงถึง 35,427.6 ล้านเหรียญเพียงอย่างเดียว

เนื่องจากการนำเข้าสินค้าสหรัฐเพิ่มขึ้นจะต้องได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน ในขณะเดียวกันก็จะต้องดูแลเกษตรกรหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมด้วย

ล่าสุด นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเดินทางไปสหรัฐเพื่อหารือกับภาครัฐและเอกชนสหรัฐหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการตอบโต้ครั้งนี้