พิชัย หารืออาเซียน 10 ประเทศ ตั้งคณะทำงานพิเศษ รับมือมาตรการภาษี

พิชัย รมว.พาณิชย์ จับมือ รมต.เศรษฐกิจอาเซียน 10 ชาติ แสดงจุดยืนร่วม พันธมิตรเศรษฐกิจรอบด้านกับสหรัฐ ตั้งคณะทำงานพิเศษ ASEAN Geoeconomics Task Force ติดตามนโยบายสหรัฐใกล้ชิด พร้อมดึงโอกาสเศรษฐกิจใหม่เข้าอาเซียน

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อเช้าวันนี้ (10 เม.ย. 2568) ตนได้เข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนนัดพิเศษ ผ่านระบบทางไกล กับรัฐมนตรีเศรษฐกิจจากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ และติมอร์-เลสเต เพื่อหารือแนวทางเชิงยุทธศาสตร์ของอาเซียนในการรับมือกับนโยบายใหม่ของสหรัฐ ที่เริ่มใช้มาตรการจัดเก็บภาษีแบบตอบโต้กับหลายประเทศทั่วโลก ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา และเพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าการลงทุนในภูมิภาค ตลอดจนห่วงโซ่อุปทานโลก และการดำเนินธุรกิจของเอกชน โดยเฉพาะ SMEs และเกษตรกรของอาเซียน

โดยการประชุมครั้งนี้ อาเซียนมีมติจะออกถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อแสดงจุดยืนของอาเซียน ในฐานะ “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน” กับสหรัฐ พร้อมเสนอการเจรจาเชิงสร้างสรรค์ ลดความขัดแย้งทางการค้า และหาทางออกที่สมดุลร่วมกัน ภายใต้กรอบ ASEAN-US Strategic Trade and Investment Partnership (STIP) เพื่อรักษาความสัมพันธ์ระยะยาวทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และความมั่นคงทางห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค

โดยอาเซียนจะเดินหน้าสร้างความร่วมมือในสาขาศักยภาพสูงกับสหรัฐ เช่น ดิจิทัล AI อาหาร พลังงานหมุนเวียน อุตสาหกรรมขั้นสูง รถยนต์ไฟฟ้า เซมิคอนดักเตอร์ สุขภาพ โลจิสติกส์ รวมถึงเกษตรกรรม เพื่อสร้างโอกาสใหม่ให้ภูมิภาค และย้ำถึงความสำคัญของระบบการค้าพหุภาคี โดยอาเซียนจะไม่ตอบโต้ทางการค้าต่อสหรัฐ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติตั้งคณะทำงานพิเศษ “ASEAN Geoeconomics Task Force” ทำหน้าที่ติดตาม ประเมิน และเสนอแนะนโยบายในการรับมือและใช้ประโยชน์จากทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับอาเซียน พร้อมส่งเสริมความร่วมมือทั้งระดับรัฐและเอกชน

ADVERTISMENT

นายพิชัยกล่าวว่า ตนได้ติดต่อกับนายจามิสัน กรีเออร์ (Jamieson Greer) ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ในเรื่องนี้มาตั้งแต่เดือนธันวาคมของปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบัน USTR ได้ตอบรับที่จะหารือกับไทยแล้ว โดยทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างนัดหมายวันประชุม เพื่อต่อยอดแนวทางความร่วมมือระหว่างไทย-สหรัฐ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) ให้ตนเป็นผู้เจรจาหลักกับ USTR สหรัฐ เพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือและการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย

ล่าสุดสหรัฐได้ประกาศระงับการขึ้นภาษีนำเข้าเป็นการชั่วคราว 90 วัน สำหรับประเทศที่แสดงความประสงค์เจรจาปรับสมดุลทางการค้ากับสหรัฐ โดยไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้เตรียมหารือเชิงลึกกับสหรัฐ ตั้งแต่ปลายปี 2567 แล้ว

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ สหรัฐเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากจีน โดยมีมูลค่าการค้ารวมในปี 2567 ราว 476,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอาเซียนส่งออกสินค้าสำคัญไปสหรัฐ 5 อันดับแรกคือ ยางและผลิตภัณฑ์จากยาง รองเท้า เครื่องนุ่งห่มและเครื่องประดับเสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักร และนำเข้าจากสหรัฐ 5 อันดับแรกคือ เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องนุ่งห่ม เครื่องจักร วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และยานยนต์ ชิ้นส่วน และเครื่องยนต์

สำหรับไทย สหรัฐเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 โดยในปี 2567 ไทยมีมูลค่าการค้ารวมกับสหรัฐอยู่ที่ 74,484 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกไปสหรัฐมูลค่า 54,956 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 19,528 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เกินดุลการค้ากว่า 35,427 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมออกแถลงการณ์ร่วม 8 ข้อ เพื่อกำหนดท่าทีต่อนโยบายทรัมป์ ได้แก่ เน้นความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหรัฐ อาเซียนมีความกังวลต่อมาตรการตอบโต้ทางภาษีของสหรัฐ สนับสนุนการเจรจาแบบพหุภาคี อาเซียนจะร่วมมือเจรจากับสหรัฐ อาเซียนจะปกป้องผลประโยชน์อาเซียนเป็นหลัก

อาเซียนพร้อมร่วมมือผลักดันเศรษฐกิจกับสหรัฐ ตั้งคณะทำงาน ASEAN Geoeconomics Task Force ทำหน้าที่ติดตาม ประเมิน และเสนอแนะนโยบายในการรับมือและใช้ประโยชน์จากทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับอาเซียน พร้อมส่งเสริมความร่วมมือทั้งระดับรัฐและเอกชน