ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค มี.ค. 68 ลดลงต่อเนื่อง ทรัมป์ขึ้นภาษี 10% เสียหายแสนล้าน

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ เผยผลสำรวจดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนมีนาคม 2568 อยู่ที่ระดับ 56.7 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เหตุมีความกังวล ทรัมป์ 2.0 กระทบเศรษฐกิจไทยทำให้ฟื้นตัวช้า ขณะที่ ความเสียหายจากมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐ 10% จะทำให้ไทยสูญเสียมูลค่าการส่งออก 1-1.5 แสนล้านบาท

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงอยู่ที่ระดับ 56.7 เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แต่ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลง ยังมีความเสี่ยงว่าจะยังคงลดลงต่อเนื่อง จากปัจจัยต่าง ๆ

อีกทั้ง ยังต้องจับตาในช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2568 เศรษฐกิจจะมีการซึมตัวหรือไม่ ภายหลังจากที่ ทรัมป์ 2.0 ได้มีการขยายการขึ้นภาษีทุกประเทศโดยขยายออกไป 90% ดังนั้น การเก็บภาษีนำเข้าไทย 36% จะยังไม่มีผล โดยขณะนี้ ยังมีผลเฉพาะการประกาศขึ้นภาษี 10% เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา

“การที่ตอนนี้ทุกประเทศถูกสหรัฐขึ้นภาษี 10% ส่งผลให้การค้าทั่วโลกมีความระมัดระวังมากขึ้น โดยยังต้องจับตาปัจจัยสหรัฐและจีนที่มีสงครามการขึ้นภาษีระหว่างกัน ดังนั้น ทีมไทยแลนด์จะต้องเดินหน้าเจรจา ซึ่งต้องติดตามดูว่าจะออกมาในทิศทางใด โดยโอกาสที่สหรัฐจะลดภาษีนำเข้าจากไทย 0% เป็นไปได้ยากเนื่องจากไทยเป็นประเทศที่เกินดุลสหรัฐ”

ทั้งนี้ จากการขึ้นภาษีสินค้านำเข้า 10% หอการค้ามีการประเมินว่ามูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจะอยู่ที่ 1-1.5 แสนล้านบาท กระทบต่อการจีดีพีไทย 0.7-0.9% ซึ่งเป็นการคาดการณ์ในเบื้องต้น เพราะว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างไม่สิ้นสุด ยังต้องรอติดตามในช่วง 90 วันว่าสหรัฐจะดำเนินการอย่างไรอีกหรือไม่ รวมไปถึงการเดินหน้าเจรจาของไทย เพราะสหรัฐประกาศการขึ้นภาษีเพื่อตั้งใจให้มีการเจรจาต่อรอง เพราะโอกาสที่สหรัฐได้รับผลกระทบ หรือแรงกดดันภายในประเทศยังมี ทั้งเรื่องของเงินเฟ้อการว่างงานอยู่

อย่างไรก็ดี กรอบเจรจายังมองว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นจะต้องมีการเก็บข้อมูลและหารือกับทุกภาคส่วนทั้งภาคเอกชน เกษตรกร เพื่อไม่ให้มีผลกระทบรวมไปถึงการดูท่าทีระหว่างสหรัฐกับจีนด้วย ในช่วง 1-3 เดือนจากนี้ เพราะยอมรับว่าการขึ้นภาษีของสหรัฐในกว่า 60 ประเทศทั่วโลกคิดเป็น 80% ของจีดีพีโลก เพียงแค่สหรัฐ ยุโรปและจีน ก็ถือว่าเป็นกลุ่มประเทศที่มีจีดีพีโลกถึง 70%

ADVERTISMENT

การกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศยังเห็นว่าการเบิกจ่ายงบประมาณเป็นสิ่งที่ต้องเดินหน้า รวมไปถึงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขององค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อให้เกิดการจ้างงาน ส่วนนโยบายการเงินก็จำเป็นจะต้องดูและหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแโดยบงก์ชาติ โดยยังเห็นว่าการลดดอกเบี้ยในตอนนี้ ยังไม่จำเป็นเร่งด่วน แต่หากจำเป็นก็ต้องมีการพิจารณารวมไปถึงการใช้นโยบายการคลังเข้ามาช่วยเหลือด้วย

อีกทั้ง ในเรื่องของการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ การลดดอกเบี้ย การปล่อยสินเชื่อ การเสริมสภาพคล่อง ยังเป็นสิ่งจำเป็นของภาคธุรกิจ ทั้งนี้ จะประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นในทันทีก็อาจจะยังไม่ระบุตัวเลขที่ชัดเจนได้ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการประเมินเป็นระยะส่วนการส่งออกในปีนี้ยังมองว่าที่ 3% ส่วนการเติบโตของจีดีพีจะอยู่ในกรอบ 2-2.5% แต่ทั้งนี้ ก็จำเป็นจะต้องมีการประเมินอีกครั้ง รวมไปถึงการท่องเที่ยวซึ่งคาดว่าเป้าที่ตั้งไว้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยประมาณ 38 ล้านคน มีโอกาสจะไม่ถึงจากผลกระทบที่เกิดขึ้น

ADVERTISMENT

นายวาทิตร รักษ์ธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมีนาคม 2568 โดยใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,242 คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค อยู่ที่ระดับ 56.7 เป็นการปรับตัวลดลงทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าจากนโยบาย Trump 2.0 ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ของไทยและทั่วโลกปรับตัวลดลง แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลแต่ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ช้า

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ระดับ 50.5 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม อยู่ที่ระดับ 54.2 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 65.4 ปรับตัวลดลงทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนกุมภาพันธ์ ที่อยู่ในระดับ 51.5 55.2 และ 66.7 ตามลำดับ การที่ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่า ผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ และค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง

รวมไปถึง ปัญหาเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลงจากสงครามการค้าที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง

สำหรับปัจจัยที่มีผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปัจจัยบวก เช่น จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวนมากมากขึ้น การส่งออกขยายตัว ราคาน้ำมันขายปลีกลดลงราคา พืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น

ส่วนปัจจัยลบ เช่น ความกังวลต่อนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐและการตอบโต้ของต่างประเทศ ผู้บริโภคมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจยังฟื้นตัวช้า ความกังวลต่อแผ่นดินไหว ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ เงินบาทอ่อนค่าลง ราคาข้าว อ้อย มันสำปะหลัง อยู่ในระดับต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อรายได้เกษตรกร ความกังวลต่อสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และความกังวลต่อสถานการณ์ภัยแล้ง