BAFS ยัน SAF คือคำตอบ น้ำมันอากาศยานเพื่อความยั่งยืน

ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล
ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

ปัจจุบันโลกกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ทุกอุตสาหกรรมต่างต้องปรับตัวเพื่อไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการบินที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมผ่านการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ออกมาอย่างชัดเจน

ภายใต้ความท้าทายจากสถานการณ์เหล่านี้ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS ผู้นำธุรกิจการบริการน้ำมันอากาศยานครบวงจร กลับมุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจอย่างไม่หยุดยั้ง “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BAFS ซีอีโอรุ่นใหม่ไฟแรง ที่พร้อมยกระดับการบริการน้ำมันอากาศยานยั่งยืน ไปพร้อม ๆ กับการเข้าสู่ยุคพลังงานหมุนเวียน

ปีนี้ตั้งงบฯลงทุนแค่พันล้าน

ในปี 2568 เราค่อนข้างที่จะระมัดระวังในด้านการลงทุน โดยคณะกรรมการบริษัทมีความเห็นว่า ยังคงมีความกังวลต่อสถานการณ์โลกในปัจจุบัน ซึ่งต้องระมัดระวังในการลงทุนอย่างสูง ดังนั้นในปีนี้ คณะกรรมการได้อนุมัติแผนและงบฯลงทุนประจำปี 1,055 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงการเชื่อมต่อระบบท่อขนส่งน้ำมันสายเหนือระยะที่ 3 (สระบุรี-อ่างทอง) ของบริษัท บาฟส์ขนส่งทางท่อ จำกัด (BPT) ที่ร่วมกับบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด (Thappline) ซึ่งเป็นโครงการที่ต่อเนื่องมาจากปีที่แล้วที่เราบรรลุผลการเจรจากับแทปไลน์และกลุ่ม ปตท. ซึ่งมองว่าถ้าเราเชื่อมต่อสำเร็จภายในปี 2569 ก็จะทำให้ขนส่งน้ำมันจากโรงกลั่นน้ำมันทั่วประเทศไปยังพื้นที่ภาคเหนือตอนกลางและตอนบนได้

โดยปี 2567 มีปริมาณการขนส่งน้ำมันขึ้นภาคเหนือ 1,224 ล้านลิตร ส่วนแบ่งการตลาดของการขนส่งน้ำมันอยู่ 35% ประเมินว่าหลังจากที่เราเชื่อมต่อเสร็จ จะทำให้เรารับน้ำมันเพิ่มขึ้นประมาณ 750-800 ล้านลิตร ตั้งแต่ปีที่เปิดใช้บริการ และส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาดของกลุ่ม BAFS เพิ่มขึ้นไปอย่างน้อย 40% ของการขนส่งน้ำมันขึ้นภาคเหนือ คาดว่าในช่วง 3-5 ปีหลังจากนี้จะมีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่องจากความต้องการของผู้ค้าน้ำมันที่จะทำให้ต้นทุนถูกลง สามารถใช้คลังน้ำมันกลางได้คุณภาพสูงกว่า ส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นไปถึง 50-60%

รุกลงทุนพลังงานหมุนเวียน

ขณะเดียวกันได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวมประมาณ 50 เมกะวัตต์ รวมระบบโซลาร์บนหลังคา โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในประเทศญี่ปุ่น ประมาณ 13 เมกะวัตต์ และโครงการในประเทศมองโกเลียที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 21 เมกะวัตต์ และ 30 เมกะวัตต์

ในปีนี้ได้เริ่มก่อสร้างโครงการแปรรูปขยะเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า ของเทศบาลตำบลบ้านส้อง จังหวัดสุราษฎร์ธานี กำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการ 2,283.4 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนของบริษัท ฟอร์เอเวอร์ ซันเดย์ จำกัด (FS) บริษัทย่อยของบริษัท บาฟส์ คลีน เอนเนอร์ยี่ จำกัด (BC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ BAFS ถือหุ้น 100% โดย FS เข้าลงทุนในสัดส่วน 30% ของมูลค่าโครงการ นอกจากนี้ได้ขยายธุรกิจในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) ระบบโซลาร์บนหลังคา ซึ่งในปีที่แล้วได้ติดตั้งให้กับกลุ่มลูกค้าแปรรูปอาหารส่งออก และในปีนี้อยู่ระหว่างการเจรจา คาดว่าจะมีข่าวดีได้ภายในสิ้นเดือนนี้

ADVERTISMENT

SAF คำตอบสุดท้ายธุรกิจการบิน

สำหรับภาพรวมการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) หรือ SAF ในปีนี้ มองว่าเปรียบเสมือนธุรกิจพลังงานสะอาด ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่สนับสนุนการใช้ฟอสซิลและน้ำมัน ดังนั้นยังมีความไม่แน่นอนด้านนโยบายว่า การลงทุนที่ลงไปจะสามารถเอาไปใช้สำหรับการเดินทางระหว่างประเทศในระดับโลกได้หรือไม่ เพราะสหรัฐก็เป็นสมาชิกสำคัญขององค์การการค้าระหว่างประเทศ (International Trade Organization : ITO)

แต่สำหรับระยะยาว BAFS เชื่อมั่นมากว่า SAF เป็นธุรกิจเดียวของอุตสาหกรรมการบินที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ จะให้เครื่องบินใช้ไฮโดรเจนหรือแบตเตอรี่ก็คงไม่ได้ ดังนั้นในระยะยาว SAF ก็ต้องเร่งการผลิตและนำมาใช้จริงมากขึ้น

ADVERTISMENT

ปัจจุบันในไทยมีการยกร่างแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567-2580 (Oil Plan 2024) ซึ่งยังไม่มีแผนออกมา เนื่องจากอยู่ระหว่างการพิจารณาพูดคุยสัดส่วนการผสมน้ำมัน SAF คาดว่าจะอยู่ที่ 1%

“1% ก็มีความท้าทายเพราะวัตถุดิบไม่เพียงพอต่อการผลิต อย่างโรงกลั่น SAF ของบางจากก็อยู่ที่ 1 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งในไทยเท่าที่เราสำรวจมีน้ำมันพืชใช้แล้วประมาณ 1 พันล้านลิตร การเก็บมาใช้ใหม่ก็ใช้กระบวนการที่ค่อนข้างยาก มีปัญหาด้านโลจิสติกส์ ก็ถือว่าไม่ถึงครึ่งที่เรามีในประเทศ”

เร่งหาวัตถุดิบอื่นผลิต SAF

ปัจจุบัน BAFS ได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหาน้ำมันที่สามารถทดแทนน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วและสามารถเข้าสู่กระบวนการผลิตได้ เพื่อลดต้นทุนของผู้ค้าน้ำมันและสายการบิน โดยเรามีความร่วมมือกับกลุ่มบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ศึกษามาอย่างยาวนานในการใช้กากน้ำตาลทดแทนน้ำมันใช้แล้ว

ขณะที่กลุ่มบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ก็มีการศึกษาน้ำมันจากกระบวนการแปรรูปปลา และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) กำลังศึกษาและใช้พื้นที่ที่มีอยู่ในพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง ก่อสร้างโรงผลิต SAF นอกจากนี้ได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการหาพืชทดแทนน้ำมันใช้แล้วได้อย่างยั่งยืน คาดว่าภายในปีนี้หรือปีหน้าจะมีความชัดเจน

“ตอนนี้ไทยเรายังเจอปัญหาจากนโยบายของภาครัฐที่ขาดความชัดเจนในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ว่าเมื่อลงทุนไปแล้วมีปริมาณและความต้องการให้สามารถคืนทุนได้ ส่วนประเด็นต่อมาคือ เป็นเรื่องของวัตถุดิบ หลายประเทศเริ่มประสบปัญหาวัตถุดิบไม่เพียงพอ เช่น จีน เริ่มออกมาตรการห้ามส่งออกน้ำมันพืชใช้แล้ว เราจึงจำเป็นต้องศึกษาหาทางเลือกเพิ่มเติม แต่เราก็โชคดีที่ประเทศไทยมีภาคเกษตรกรรมที่แข็งแรง มีชีวมวลเป็นจำนวนมาก”

ยากแถมต้นทุนสูงกว่า 3-5 เท่า

SAF เกือบทั้งหมดผลิตโดยใช้น้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วและแปลงเป็น SAF ในกระบวนการที่เรียกว่า Hydroprocessed Esters and Fatty Acids (HEFA) เนื่องจากมีความคล้ายคลึงกับการกลั่นน้ำมันแบบดั้งเดิม เป็นการนำไฮโดรเจนเข้าไปทำปฏิกิริยาให้น้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วมีความสะอาด บริสุทธิ์มากขึ้น และกลายเป็นน้ำมัน SAF

แต่ด้วยคุณภาพของน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วมีความแตกต่างกัน ทำให้มีต้นทุนการผลิตที่ไม่เท่ากัน เช่น น้ำมันหม่าล่า น้ำมันจากการทอดปาท่องโก๋ ก็จะมีคุณภาพน้ำมันไม่เท่ากัน ต้องผ่านกระบวนการผลิต ขณะเดียวกันกระบวนการจัดเก็บและรวบรวมน้ำมันพืชใช้แล้วค่อนข้างยาก เช่น การรวบรวมจากภาคประชาชน ต้นทุนจะถูกหรือแพงก็ขึ้นอยู่กับส่วนนี้ด้วย

ปัจจุบัน SAF มีราคาสูงกว่าน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานทั่วไป 3-5 เท่า แต่สำหรับผู้บริโภคแทบจะไม่ได้รับผลกระทบหรือรู้สึกว่าตั๋วเดินทางแพงขึ้นเลย ตราบใดที่สัดส่วนการผสมไม่ได้สูงมาก อยู่ที่ระหว่าง 1-2% ของสายการบิน ก็ไม่ได้กระทบกับต้นทุนให้สูงมากขึ้น