นักวิชาการยืนยัน สารเร่งเนื้อแดงอันตราย ส่งผลเสียต่อสุขภาพผู้บริโภค

นักวิชาการผสานเสียง ยืนยัน สารเร่งเนื้อแดง มีผลต่อสุขภาพผู้บริโภค จะนำเข้าหมูสหรัฐ ควรคำนึงถึงสุขภาพผู้บริโภคเป็นสำคัญ

จากการรายงาน หลังจากกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูนับพันคนรวมตัวชุมนุมที่หน้ากระทรวงการคลัง เพื่อคัดค้านการนำเข้าเครื่องในหมูจากสหรัฐ ขณะที่รัฐยังมีการกล่าวถึงสารเร่งเนื้อแดงว่าไม่ส่งผลต่อปัญหาต่อสุขภาพนั้น

ผศ.ดร.นสพ.ดุสิต เลาหสินณรงค์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวไว้ว่า “สารเร่งเนื้อแดง ไม่สลายตัวจากความร้อน ดังนั้นกระบวนการปรุงอาหารไม่สามารถช่วยกำจัดสารนี้ได้ แม้ผ่านกระบวนการปรุงอาหารแล้ว สารนี้ยังคงตกค้างอยู่” ผู้ที่บริโภคเนื้อหมูที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงจะได้รับยาที่ตกค้างอยู่ในกล้ามเนื้อหมู หลังการรับประทานยาจะออกฤทธิ์ทันที โดยมีอาการ หายใจเร็วขึ้น ใจสั่น กล้ามเนื้อสั่น สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ กลุ่มคนที่เป็นโรคหัวใจ มีอัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ หากได้รับยานี้ จะทำให้อัตราการเต้นของหัวใจสูง และคนที่เป็นโรคเบาหวาน ยานี้จะไปบดบังอาการของโรคทำให้ผู้ที่เป็นเบาหวานไม่รู้ตัวและวูบได้

สอดคล้องกับ ดร.ศยามล สิทธิสาร อาจารย์ประจำ คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยปทุมธานี ที่ระบุว่า สารเร่งเนื้อแดง จะส่งผลในผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังอยู่แล้ว เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไฮเปอร์ไทรอยด์ ลมชัก ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดอาการของโรคมากขึ้น ได้แก่ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ กระวนกระวาย วิงเวียนศีรษะ บางรายส่งผลให้เกิดกล้ามเนื้อกระตุก มือสั่น

อีกทั้งมีรายงานจากทางฝั่งยุโรปว่าหญิงมีครรภ์จะถูกกระตุ้นให้เกิดเนื้องอกบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ของผู้หญิง จากรายงานแม้พบสารเร่งเนื้อแดงในปริมาณเพียงเล็กน้อยหน่วยมิลลิกรัม แต่หากได้รับต่อเนื่องเรื่อย ๆ เป็นเดือนหรือเป็นหลายสัปดาห์ขึ้นไป เพียงเดือนสองเดือนไม่ต้องถึงปี กลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวอยู่จะแสดงอาการผลข้างเคียงเร็วมาก

ADVERTISMENT

สำหรับประเทศไทย จากการศึกษาข้อมูลผู้บริโภค พบว่า คนไทยนิยมบริโภคทั้งเนื้อหมู เครื่องในหมู และเลือดหมู จึงอาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับสารตกค้างเกินกว่าค่าที่ Codex กำหนด ดังนั้น การคำนึงถึงสุขภาพของคนไทยในระดับสูงสุดจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

ADVERTISMENT