ชาวไร่หวั่นกองทุนอ้อยถังแตก ราคาขั้นต้น 880 บาท-ลุ้นน้ำตาลตลาดโลก

ลุ้นราคาน้ำตาลตลาดโลก หลัง ครม.ประกาศราคาอ้อยขั้นต้นที่ 880 บาท/ตันอ้อย ชาวไร่หวั่นกองทุนอ้อยมีเงินไม่พอจ่ายชดเชยให้โรงงานน้ำตาล แนะ 3 ฝ่าย ชาวไร่-โรงงาน-กระทรวงอุตสาหกรรม ต้องนั่งคุยกันเพื่อหาทางออก

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานหลังจากที่ ครม.มีมติกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นของฤดูการผลิตปี 2560/2561 เป็น 2 ราคาตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยพื้นที่เขตคำนวณราคาอ้อย 1-2-3-4-6-7และ 9 ราคาอ้อยขั้นต้นที่ในอัตรา 880 บาท/ตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 CCS และกำหนดอัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อยเท่ากับ 52.80 บาทต่อ 1 หน่วย CCS/เมตริกตัน และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2560/2561 เท่ากับ 377.14 บาท/ตันอ้อย

ขณะที่ในเขตคำนวณราคาอ้อย 5 กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นที่ 830 บาท/ตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 CCS และกำหนดอัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อยเท่ากับ 49.80 บาทต่อ 1 หน่วย CCS1/เมตริกตัน และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2560/2561 เท่ากับ 355.71 บาท/ตันอ้อย โดยการคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (เรื่อง การจัดทำประมาณการรายได้ การกำหนดและการชำระค่าอ้อย และค่าผลิตน้ำตาลทรายและอัตราส่วนของผลตอบแทนระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงาน) พ.ศ. 2561

ด้านนายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงาน สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและหัวหน้าสำนักงาน สมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 กล่าวว่า การเคาะราคาอ้อยขั้นต้น 880 บาท/ตันอ้อยเป็นการประเมินราคาในช่วงที่ต้องประกาศตั้งแต่ก่อนเปิดหีบอ้อยคือ ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2560 ซึ่งราคานี้เป็นราคาที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายแล้ว แต่เมื่อมีการปรับระเบียบใหม่ให้เป็นไปตามกรอบ ความตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) ไม่ให้รัฐบาลเข้ามาอุดหนุนราคา รวมทั้งการยกเลิกโควตา ก-ข-ค การประกาศลอยตัวราคาน้ำตาล และบริหารจัดการใหม่ภายใต้ระเบียบของกฎหมายใหม่ที่จะตามมาดังนั้นราคาอ้อยขั้นต้นปีนี้จึงถูกประกาศหลัง ครม. ช้ากว่าปกติ

อย่างไรก็ตาม ราคาอ้อยขั้นต้นที่ 880 บาท/ตันอ้อยนั้น เป็นราคาที่ต่ำกว่าต้นทุน (1,056 บาท/ตัน) แต่เมื่อ ครม.ประกาศออกมาแบบนี้แล้วก็ต้องลุ้นว่า ราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะอยู่ที่เท่าไร ถ้าเกิดราคาลดลงไปอยู่ที่ 14 เซนต์/ปอนด์จากที่ปีที่แล้วขายได้ประมาณ 16 เซนต์/ปอนด์ “ราคาที่หายไปจะมีกลไกบริหารชดเชยอย่างไร” ซึ่งคาดว่า กองทุนจะมีเงินไม่พอชดเชยให้โรงงานน้ำตาลแน่ ดังนั้นทางออกก็คือ ทั้ง 3 ฝ่าย (กระทรวงอุตสาหกรรม-ชาวไร่อ้อย-โรงงานน้ำตาล) “จะต้องมานั่งคุยกัน ขณะนี้ได้ประเมินกันถึงสถานะเงินกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายที่ต้องมีการชดเชยประมาน 10,000 ล้านบาท” นายนราธิปกล่าว

สำหรับแนวทางการที่คงสถานะกองทุนอ้อยไว้จะต้องเก็บเงินเข้ากองทุนในช่วงที่มีราคาดี นั่นหมายถึงช่วงที่ราคาอ้อยแตะไปถึง 1,000 บาท/ตันอ้อย แล้วแบ่งสัดส่วนแบ่งเข้ากองทุนในระบบ 70 : 30 จึงจะทำให้กองทุนเข้มแข็งขึ้นมาและมีความสามารถชดเชยจ่ายเงินให้โรงงานน้ำตาลได้

นายอำนาจ แก้วกล้า รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทบุรีรัมย์พลังงาน ซึ่งอยู่ในกลุ่มโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ กล่าวว่า ราคาอ้อยขั้นต้นปี 2560/61 เป็นราคาที่คำนวณก่อนที่จะมีการปล่อยลอยตัวราคาน้ำตาลเมื่อต้นปี 2561 “ดังนั้นผลกระทบจะเกิดกับชาวไร่อ้อย” ส่วนโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์มีแผนที่จะขยายการลงทุน ตอนนี้อยู่ระหว่างปรับพื้นที่ใน อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์เพื่อเตรียมก่อสร้างโรงงานผลิตภาชนะจากชานอ้อย โดยแยกสายการผลิตเป็นธุรกิจใหม่อีกธุรกิจหนึ่ง เงินลงทุนประมาณ 350 ล้านบาทคาดว่าโรงงานใหม่จะแล้วเสร็จช่วงปลายปี 2562 และตั้งเป้าหมายจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ช่วงต้นปี 2562 โดยเบื้องต้นมีแผนจำหน่ายในประเทศ 50% และส่งออกไปยังประเทศในแถบยุโรปรวมถึงเจาะกลุ่มตลาดใหม่ ๆ อีก 50%

ส่วนนายอดิศักดิ์ ตั้งตรงเวชกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด (BEC) และในฐานะผู้บริหารกลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ กล่าวว่า นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนขยายโรงงานน้ำตาลทรายพร้อมโรงไฟฟ้าอีก 2 แห่งที่ อ.ชำนิ จ.บุรีรัมย์ กับ อ.โนนนารายณ์ จ.สุรินทร์ กำลังผลิตน้ำตาลแห่งละ 23,000 ตัน/วัน เงินลงทุนแห่งละ 4,000-5,000 ล้านบาทโดยจะเริ่มที่ อ.ชำนิก่อนในอีก 2-3 ปีข้างหน้านี้ “ตอนนี้เรากำลังอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อยู่”