“กฟผ.” เผยแผน PDP ใหม่มุ่งสู่โรงไฟฟ้าตามภูมิภาค เน้นพลังงานหมุนเวียน

“กฟผ.” เผยแผน PDP ใหม่มุ่งสู่โรงไฟฟ้าตามภูมิภาคเน้นพลังงานหมุนเวียน สร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าทั้งประเทศ

นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการนโยบายและแผน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า การจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า(PDP )ฉบับใหม่ที่ต้องร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมุ่งเน้นการตอบโจทย์การพัฒนาโรงไฟฟ้า 3 รูปแบบได้แก่ 1.โรงไฟฟ้าเพื่อการแข่งขัน 2.โรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคง และ 3. โรงไฟฟ้าที่จะเสริมด้านเศรษฐกิจ โดย PDP ฉบับใหม่ตามนโยบายกระทรวงพลังงานจะมุ่งสร้างพลังงานเป็นรายภูมิภาครวม 8 ภาค เนื่องจากแต่ละภาคมีข้อจำกัดและประสิทธิภาพที่ต่างกันออกไป

“สำหรับการจัดทำแผน PDP ใหม่จะดูเป็นรายภาคเพื่อทำให้วางแผนการพัฒนาได้ถูกจุดมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกอดการกระจุกอยู่ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งมากเกินไป เช่น ภาคอีสานยังคงพึ่งไฟจากภาคเหนือ สปป.ลาว ได้ ขณะที่ภาคใต้พึ่งพามาเลเซียได้เพียง 300 เมกะวัตต์เท่านั้น”

สำหรับโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงนั้นจะประกอบด้วย ความมั่นคงที่ต้องตอบโจทย์เป็นรายภูมิภาคแล้วยังต้องมีกระบวนการบริหารจัดการที่ต้องรองรับการผลิตรูปแบบใหม่ซึ่งก็คือพลังงานหมุนเวียนในการจัดทำแผน และอาจต้องคำนึงไปถึงความเป็นไปได้ที่จะเชื่อมโยงระบบสายส่งเข้ากับภูมิภาคหรือ Reginal Grid อย่างไรก็ตามกรณีของสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าที่มองความมั่นคงควรจะมากกว่า 50% หรือไม่ในแผนพีดีพีนั้นเรื่องนี้ก็ยังต้องหารือความชัดเจนเพราะรัฐธรรมนูญระบุว่ากิจการที่เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานควรให้รัฐถือครองได้ 50% แต่ถ้ามองกิจการทั่วไปรัฐไม่ควรแข่งขันเอกชนซึ่งไฟฟ้านั้นก็อยู่ที่จะต้องมาตีความกัน

ปัจจุบันเทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนโลกหรือ Disruptive ทำให้รูปแบบของการผลิตไฟฟ้าเปลี่ยนไปโดยอนาคตโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จะลดลงและจะแทนที่ด้วยโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่เป็นพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเพราะมีเทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนต่ำลงแต่ระบบไฟจะไม่เสถียรทำให้โรงไฟฟ้าอนาคตจะต้องมีความยืดหยุ่น โดยต้องมีสมาร์ทกริด(สายส่งอัจฉริยะ) มีระบบกักเก็บพลังงาน(ESS) ซึ่ง กฟผ.จะต้องปรับโครงสร้างองค์กรลดขนาดลงให้เหมาะสมในการรองรับกับเทคโนโลยี และขณะเดียวกัน กฟผ. ได้มีการลงนาม(MOU) กับทบวงพลังงานระหว่างประเทศ(EIA ) กับมหาวิทยาลัยฮาวาย เพื่อศึกษาสภาพระบบไฟฟ้าของไทยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเมื่อมีพลังงานทดแทนสู่ระบบมากขึ้น

ทั้งนี้ ระบบไฟฟ้าไทยในปัจจุบันเป็นระบบแบบรวมศูนย์ คือ มีโรงไฟฟ้า ระบบส่งขนาดใหญ่ และระบบจ่ายไฟฟ้าครอบคลุมทั่วประเทศ แต่ในอนาคตจะมีกระจายแหล่งผลิตไฟฟ้าและศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าไปสู่ชุมชน รวมถึงมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) เพิ่มมากขึ้นด้วย
ดังนั้น การเดินหน้าของอุตสาหกรรมไฟฟ้าในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกต้องรองรับการเข้ามาของพลังงานหมุนเวียน คือ การสร้างความยืดหยุ่นของระบบไฟฟ้า โดยโรงไฟฟ้าต้องมีความยืดหยุ่น สามารถเริ่มเดินเครื่องได้รวดเร็ว ส่วนในระบบส่งและจำหน่ายไฟฟ้าจะต้องพัฒนาสู่ระบบ Smart Grid ทำงานผ่านรีโมทมอนิเตอร์ (Remote Monitor) สามารถเรียกดูข้อมูลและสั่งการจากศูนย์ควบคุมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทันที