สนช.อนุมัติงบบูรณาการปี”61 ใต้ 6 ยุทธศาสตร์ เพิ่มผลิตภัณฑ์เกษตรวงเงิน 9.4 พันล้านบาท

น.ส.จริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจําปี 2561 ภายใต้ 6 ยุทธศาสตร์ 29 แผนบรูณาการของกระทรวง กรมต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ โดย สศก. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานแผนงานบูรณาการพัฒนาศักยภาพการผลิตภาคเกษตร และมีหน่วยงานร่วมดำเนินการ 7 กระทรวง 28 หน่วยงาน 2 รัฐวิสาหกิจ ภายใต้หลักการบริหารจัดการสินค้าเกษตร และให้เกษตรกรเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา ซึ่งเน้น 3 เป้าหมาย ภายใต้งบประมาณ 9,456.6522 ล้านบาท

ประกอบด้วย 1.เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน เน้นสินค้า ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน อ้อย สับปะรด ไม้ผล ยางพารา ปศุสัตว์ ประมง วงเงิน 4,826.3962 ล้านบาท อาทิ การพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพมาตรฐานตามความต้องการของตลาด (ต้นทาง) วงเงิน 4,165.7690 ล้านบาท เพื่อดำเนินการด้านข้อมูลสารสนเทศและการบริหารจัดการ ส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ พัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาศักยภาพกระบวนการแปรรูปสินค้าเกษตร (กลางทาง) วงเงิน 205.8676 ล้านบาท เพื่อดำเนินการพัฒนากระบวนการและแปรรูปสินค้า พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตร ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจ การพัฒนาศักยภาพกระบวนการตลาดสินค้าเกษตร (ปลายทาง) วงเงิน 454.7596 ล้านบาท เพื่อดำเนินการพัฒนาตลาดเกษตรกร ขยายช่องทางการตลาดสินค้าเกษตร สร้างความสามารถในการแข่งขันตลาดสินค้าเกษตร

2.ลดต้นทุนการผลิต และยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่สู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง วงเงิน 3,192.9653 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการ อาทิ ระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ 3,980 แปลง ปรับเปลี่ยนกิจกรรมการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสมตามแผนที่เกษตรเชิงรุก (อกริ-แมพ) 418,500 ไร่ ปรับปรุงข้อมูลในแผนที่อกริ-แมพ โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร 882 ศูนย์ ยกระดับเกษตรกรเป็นสมาร์ท ฟาร์มเมอร์ 73,715 ราย จัดตั้งสถาบันเกษตรกรในรูปแบบประชารัฐ 100 แห่ง จัดตังและพัฒนาธนาคารสินค้าเกษตร 173 แห่ง 3.พัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน วงเงิน 1,437.2907 ล้านบาท ประกอบด้วย การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ยโสธรโมเดล พื้นที่ทั่วไป 368,503 ไร่ เกษตรทฤษฎีใหม่ 210,000 ไร่ เกษตรผสมผสาน 33,500 ไร่ วนเกษตร 65,000 ไร่

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์