ไทยยูเนี่ยน ได้เงินกู้ ADB 5 พันล้าน BlueLoan การันตีทำธุรกิจยั่งยืน

tu
ธีรพงศ์ จันศิริ

ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ปลื้ม เป็นบริษัทธุรกิจอาหารทะเลไทยรายแรกที่ได้เงินกู้ Blue Loan วงเงินรวม 150 ล้านเหรียญสหรัฐ จาก ADB ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการจัดหาวัตถุดิบอย่างมีความรับผิดชอบ ผลิตอาหารทะเลอย่างยั่งยืน และเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU กล่าวว่า บริษัทได้รับการสนับสนุนเงินกู้ด้านความยั่งยืนทางทะเล หรือ Blue Loan วงเงินรวม 150 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 5,000 ล้านบาท จากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) โดยเป็นการปล่อยวงเงินกู้ Blue Loan จาก ADB ให้กับอุตสาหกรรมอาหารทะเลในประเทศไทยเป็นครั้งแรก นับเป็นก้าวประวัติศาสตร์ของภาคการเงินที่สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ พร้อมตอกย้ำความมุ่งมั่นของไทยยูเนี่ยนในการจัดหาวัตถุดิบอย่างมีความรับผิดชอบ ผลิตอาหารทะเลอย่างยั่งยืน และเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“ความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจของเราและการได้รับวงเงินกู้ด้านความยั่งยืนทางทะเลนับเป็นก้าวสำคัญ และเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ไทยยูเนี่ยนได้เป็นเอกชนรายแรกในอุตสาหกรรมอาหารทะเลในประเทศไทยที่ได้รับการสนับสนุน Blue Loan จาก ADB โดยเงินทุนนี้จะช่วยเร่งการขับเคลื่อนการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน ช่วยดูแลท้องทะเล สร้างความมั่นคงทางอาหาร และการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ดียิ่งขึ้น เราหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกและเป็นแรงบันดาลใจให้บริษัทอาหารทะเลอื่น ๆ ปฏิบัติตาม”

สำหรับวงเงินกู้ด้านความยั่งยืนทางทะเลในครั้งนี้ แบ่งเป็นสองส่วน คือ เงินกู้โดยตรงจาก ADB และเงินกู้ร่วมจากธนาคารพาณิชย์ชั้นนำที่เป็นพันธมิตรทางการเงินจากฮ่องกง 1 แห่ง ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศจีน และจากสิงคโปร์ 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC), ธนาคารเอ็มยูเอฟจี จำกัด (MUFG), ธนาคาร OCBC, ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น (SMBC) และธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ (UOB) โดยวงเงินกู้ดังกล่าวไทยยูเนี่ยนจะนำมาใช้ในการยกระดับการจัดซื้อวัตถุดิบกุ้งที่เพาะเลี้ยงอย่างยั่งยืนในประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนของบริษัท และยังสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593

ภายใต้วงเงินกู้ด้านความยั่งยืนทางทะเลที่ไทยยูเนี่ยนได้รับในครั้งนี้ จะช่วยยกระดับขีดความสามารถด้านการจัดหาวัตถุดิบกุ้งที่เพาะเลี้ยงอย่างยั่งยืนที่ได้การยอมรับในระดับโลกจาก Global Sustainable Seafood Initiative หรือ GSSI เช่น มาตรฐาน Aquaculture Stewardship Council หรือ ASC และมาตรฐาน Best Aquaculture Practices หรือ BAP หรือจัดซื้อจากฟาร์มที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีความน่าเชื่อถือ (Aquaculture Improvement Projects หรือ AIPs) แนวทางนี้ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ การตรวจสอบแหล่งที่มาของอาหารกุ้ง และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานหมุนเวียน ปรับปรุงประสิทธิภาพอัตราแลกเนื้อ (FCR) รวมถึงการป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า ควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสังคม ที่ส่งเสริมการใช้แรงงานที่เป็นธรรมและการทำงานร่วมกับชุมชน

นายอานุช เมธา ผู้อำนวยการสำนักงานผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเชีย กล่าวว่า นอกเหนือจากการส่งเสริมเป้าหมายด้านความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยนแล้ว เงินกู้ด้านความยั่งยืนทางทะเลยังสนับสนุนพันธกิจของประเทศไทย ในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาที่ยั่งยืน และยังสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวของ ADB Strategy 2030 ซึ่งให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาชุมชนในชนบท และการพัฒนาเศรษฐกิจที่ทุกคนมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน

ADVERTISMENT