เทรนด์อาหารทางการแพทย์มาแรง ไทยต้องเร่งสร้างโอกาสดันส่งออก

food

สินค้าอาหารทางการแพทย์และอาหารเฉพาะบุคคล เป็นอีกหนึ่งสินค้าศักยภาพของไทย ที่จะสามารถเพิ่มมูลค่าการค้า ผลักดันการส่งออกสร้างรายได้ให้กับประเทศ แม้ปัจจุบันไทยยังมีการส่งออกในมูลค่าไม่สูงนัก แต่เป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและสอดรับเทรนด์ดูแลใส่ใจสุขภาพ อีกทั้งยังมีโอกาสเติบโตในอนาคต จากข้อมูลของ Presedence Research ผู้ให้บริการด้านข้อมูลตลาดเชิงลึกจะพบว่าขนาดตลาดอาหารทางการแพทย์ของโลก ในปี 2568 คาดว่าอยู่ที่ 26.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ และจะเติบโตถึง 40.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2577

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยส่งออกอาหารทางการแพทย์และอาหารเฉพาะบุคคล ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2568 มีมูลค่า 1,254.5 ล้านบาท ขยายตัว 17.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยสินค้าที่ขยายตัวสูง อาทิ (1) อาหารปรุงแต่งสำหรับทารกหรือเด็กเล็กซึ่งแพ้นมหรือขาดน้ำย่อยแล็กโทส ขยายตัวสูงถึง 162.7% (2) อาหารเสริม ขยายตัวสูงถึง 66.9% และ (3) อาหารที่ใช้ในทางการแพทย์ ขยายตัวสูงถึง 45.7%

ทั้งนี้ หากพิจารณาการส่งออกและการนำเข้าของโลก สำหรับสินค้ากลุ่มอาหารทางการแพทย์และอาหารเฉพาะบุคคล ที่ไทยส่งออกมีมูลค่าสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) อาหารปรุงแต่งสำหรับทารกหรือเด็กเล็ก (2) ซุปและซุปข้นที่มีเนื้อสัตว์ และ (3) อาหารปรุงแต่งที่มีส่วนผสมเป็นเนื้อเดียวกันที่มีเนื้อสัตว์ จะเห็นสถานะการส่งออกของไทยเปรียบเทียบกับโลก ซึ่งไทยยังมีช่องว่างที่จะพัฒนาอันดับให้สูงขึ้นได้อีกมาก และมีโอกาสที่จะส่งออกไปยังตลาดใหม่ ๆ ที่มีความต้องการสูงสำหรับสินค้ากลุ่มนี้ ดังนี้

(1) อาหารปรุงแต่งสำหรับทารกและเด็กเล็ก ในปี 2566 มูลค่าส่งออกรวม 10,464.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ สัดส่วน 23.0% ของมูลค่าการส่งออกโลก รองลงมา คือ ฝรั่งเศส สัดส่วนอยู่ที่ 10.9% นิวซีแลนด์ 10.3% เยอรมนี 10.1% และไอร์แลนด์ 8.6% สำหรับไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 18 ของโลก มีสัดส่วน 1.1% ของมูลค่าการส่งออกโลก

ส่วนด้านการนำเข้าของโลก พบว่า ประเทศผู้นำเข้าสินค้าอาหารปรุงแต่งสำหรับทารกและเด็กเล็ก อันดับ 1 ได้แก่ จีน สัดส่วน 36.2% รองลงมา คือ ซาอุดีอาระเบีย 5.2% สหรัฐอเมริกา 3.0% แคนาดา 2.4% และมาเลเซีย 2.4%

ADVERTISMENT

(2) ซุปและซุปข้นที่มีเนื้อสัตว์ ในปี 2566 มีมูลค่าส่งออกรวม 3,441.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สัดส่วน 23.7% ของมูลค่าการส่งออกโลก รองลงมา คือ แคนาดา 5.6% สเปน 5.5% เยอรมนี 5.1% และเซเนกัล 4.3% สำหรับไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 22 ของโลก มีสัดส่วน 1.5% ของมูลค่าการส่งออกโลก

ด้านนำเข้า พบว่า ประเทศผู้นำเข้าสินค้าซุปและซุปข้นที่มีเนื้อสัตว์ อันดับ 1 ของโลก ได้แก่ สหรัฐ สัดส่วน 14.5% ของมูลค่าการนำเข้าโลก รองลงมา คือ เม็กซิโก 11.5% แคนาดา 8.4% เยอรมนี 4.7% และเนเธอร์แลนด์ 4.4%

(3) อาหารปรุงแต่งที่มีส่วนผสมเป็นเนื้อเดียวกันที่มีเนื้อสัตว์ ในปี 2566 มีมูลค่าส่งออกรวม 703.0 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยประเทศผู้ส่งออก อันดับ 1 ของโลก ได้แก่ เยอรมนี สัดส่วน 11.4% ของมูลค่าการส่งออกโลก สโลวะเกีย 8.3% โปแลนด์ 8.2% ฝรั่งเศส 7.9% และสเปน 7.5% สำหรับไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 19 ของโลก มีสัดส่วน 1.2% ของมูลค่าการส่งออก

ด้านนำเข้า พบว่าประเทศผู้นำเข้าสินค้าอาหารปรุงแต่งที่มีส่วนผสมเป็นเนื้อเดียวกันที่มีเนื้อสัตว์ อันดับ 1 ของโลก ได้แก่ เยอรมนี สัดส่วน 11.6% ของมูลค่าการนำเข้าโลก รองลงมา คือ สหรัฐ 9.7% ซาอุดีอาระเบีย 9.6% สหราชอาณาจักร 9.4% และเนเธอร์แลนด์ 8.9%

เผย 4 กลุ่มอาหารอนาคต

นายพูนพงษ์กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีศักยภาพและเป็นผู้นำด้านการส่งออกสินค้าอาหารของโลก สามารถต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มสู่อาหารทางการแพทย์และอาหารเฉพาะบุคคล โดยต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ศึกษากฎระเบียบและมาตรฐานการนำเข้าของประเทศคู่ค้า นอกจากนี้ การพัฒนาอาหารทางการแพทย์ ยังสอดรับกับสังคมผู้สูงอายุของไทย และช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศอีกด้วย

ที่ผ่านมา สมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย คณะกรรมการอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต หอการค้าไทย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ รวมถึง สนค. และอีกหลายหน่วยงานพันธมิตร ร่วมกันกำหนดคำนิยามอาหารอนาคต จัดกลุ่มสินค้า และวางเป้าหมายการส่งออก เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันและมีเป้าหมายเดียวกัน โดยปัจจุบันแบ่งอาหารอนาคตออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ (1) อาหารเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและสารประกอบเชิงฟังก์ชั่น (2) อาหารทางการแพทย์และอาหารเฉพาะบุคคล (3) ผลิตภัณฑ์อินทรีย์และอาหารไม่ปรุงแต่ง

และ (4) โปรตีนทางเลือก สำหรับภาพรวมการส่งออกอาหารอนาคตของไทย ในปี 2567 มีมูลค่าการส่งออก 26,655.4 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.4 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

เปิดท็อปทรีส่งออกโตสุดปี’67

ในปี 2567 ไทยส่งออกอาหารทางการแพทย์และอาหารเฉพาะบุคคล เป็นมูลค่า 7,018.2 ล้านบาท ขยายตัว 9.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) อาหารปรุงแต่งสำหรับทารกหรือเด็กเล็ก มูลค่า 4,153.2 ล้านบาท (2) ซุปและซุปข้นที่มีเนื้อสัตว์ เช่น ซุปน้ำสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ มูลค่า 2,023.1 ล้านบาท (3) อาหารปรุงแต่งที่มีส่วนผสมเป็นเนื้อเดียวกันที่มีเนื้อสัตว์ เช่น ซุปละเอียด มูลค่า 275.2 ล้านบาท

ทั้งนี้ เฉพาะการส่งออกอาหารปรุงแต่งสำหรับทารก มีสัดส่วน 59.2% รองลงมา คือ อาหารจำพวกซุป มีสัดส่วน 32.7% รวมกันมีสัดส่วนถึง 91.9% ของมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารทางการแพทย์ของไทย สำหรับตลาดส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ มาเลเซีย สัดส่วนอยู่ที่ 33.6% สปป.ลาว 14.2% เมียนมา 13.6% กัมพูชา 8.9% และออสเตรเลีย 6.2%

“โภชนาการเฉพาะบุคคล” โตพุ่ง

จากข้อมูลของ Presedence Research ระบุว่า ขนาดตลาดอาหารทางการแพทย์ (Medical Food Market Size) ของโลกในปี 2568 คาดว่าอยู่ที่ 26.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ และจะเติบโตถึง 40.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2577 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 5.1%

ส่วนขนาดตลาดโภชนาการเฉพาะบุคคล (Personalized Nutrition Market Size) ของโลก ในปี 2568 คาดว่าอยู่ที่ 17.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ และจะเติบโตถึง 60.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2577 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 14.6%