
ปาล์มผลผลิตเยอะ อานิสงส์อากาศเอื้ออำนวย คาด พ.ค.ทะลักถึง 2 ล้านตัน ห่วงราคาร่วง กนป.ชุดพิชัย รมว.คลังเป็นประธาน เร่งเรียกประชุมหารือโครงสร้างปาล์มน้ำมัน เสนอกลับมาใช้ B7 หวังดูดซับผลผลิต พร้อมขอ B10 แต่โดนเบรก ชาวสวนวอนรัฐขอความร่วมมือโรงสกัดรับซื้อกิโลกรัมละ 5 บาท ชี้ต้นทุนจริงอยู่ที่ 6 บาท เหตุปุ๋ย-ยาแพง
คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ประชุมหารือจัดโครงสร้างปาล์มน้ำมัน เห็นชอบตั้งคณะกรรมการกลางขึ้นมาเพื่อจัดราคาให้เหมาะสม ทุกฝ่ายรับได้ พร้อมเสนอให้กลับมาใช้ B7 เพื่อดูดซับผลผลิตออกสู่ตลาด คาดผลผลิตเดือน พ.ค. 2568 จะเพิ่มขึ้นถึง 2 ล้านตัน ชาวสวนวอนป้องกันกดราคารับซื้อ หน่วยงานภาครัฐขอความร่วมมือโรงสกัดในการรับซื้อ 5 บาทต่อกิโลกรัม ตามคุณภาพและเปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์มดิบ ส่วนต้นทุนตอนนี้อยู่ที่ 4.90 บาทต่อกิโลกรัม
นายพันศักดิ์ จิตรรัตน์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดกระบี่ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 โดยที่ประชุมได้พิจารณาการจัดทำโครงสร้างราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม รวมไปถึงการปรับใช้พลังงาน B5 เป็น B7 เพื่อรองรับปริมาณผลผลิตที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น
โดยที่ประชุมได้เห็นชอบในการจัดตั้งคณะกรรมการกลางขึ้นมา ซึ่งจะมีตัวแทนทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร เข้ามาพิจารณาเรื่องของโครงสร้างราคาปาล์มน้ำมัน เพราะต้องยอมรับว่าตอนนี้การเสนอโครงสร้างราคาน้ำมัน ไม่ว่าจะของภาครัฐ เกษตรกร ต่างก็ไม่เห็นด้วยกับโครงสร้างปัจจุบัน จึงมีเหตุจำเป็นจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการกลางที่มีตัวแทนจากทุกฝ่าย เมื่อพิจารณาได้แล้วก็จะเสนอที่ประชุมเห็นชอบต่อไป
ดันเพิ่ม B10 พยุงราคาปาล์ม
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบในการผลักดันการใช้ B7 เพื่อเป็นการดูดซับผลผลิตออกจากตลาด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประกาศใช้ต่อไป ทั้งนี้ ทางเกษตรกรเองต้องการเสนอให้เพิ่มใช้ B10 ด้วย แต่ก็ไม่ได้รับความเห็นชอบ เนื่องจากภาคขนส่งไม่พร้อมใช้ แต่ทั้งนี้ เห็นว่าเป็นการเพิ่มทางเลือกมากกว่า และส่วนใหญ่ก็ใช้ในภาคการเกษตร อย่างไรก็ดี ก็ต้องมีการดูแลสินค้าปาล์มน้ำมันของไทยให้มีการแข่งขันกับอินโดนีเซีย มาเลเซียให้ได้ เพราะพืชเศรษฐกิจของไทยราคาตกต่ำทุกตัว รวมไปถึงปาล์มน้ำมัน
“การดูแลราคาสินค้าปาล์มน้ำมัน ตอนนี้ได้มอบให้กรมการค้าภายในติดตามดูแลการรับซื้อผลปาล์มน้ำมันจากโรงสกัดว่าเพียงพอหรือไม่ จำเป็นต้องเพิ่ม ขยายการรับซื้อหรือไม่ โดยการรับซื้อเฉลี่ยตอนนี้อยู่ที่ 5.10-5.20 บาทต่อกิโลกรัม ขึ้นอยู่กับคุณภาพและเปอร์เซ็นต์ของน้ำมันดิบ ส่วนต้นทุนของเกษตรกรอยู่ที่ 4.90 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งถือว่าสูงเนื่องจากค่าปุ๋ย ค่ายาแพง และตอนนี้ยังพบว่าลานเทรับซื้อไม่ทัน ก็ต้องให้ชาวสวนปาล์มชะลอการตัดเพื่อป้องกันกดราคารับซื้อ”
ดันรับซื้อผลปาล์ม 5 บาท/กก.
นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในวันเดียวกัน (8 พฤษภาคม 2568) ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสมดุลน้ำมันปาล์ม ซึ่งมีอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธานเพื่อติดตามสถานการณ์ราคาปาล์มน้ำมัน เพื่อจัดสมดุลราคาผลปาล์มให้มีเสถียรภาพ เนื่องจากประเมินว่าผลผลิตปาล์มน้ำมันที่กำลังออกสู่ตลาดในเดือนพฤษภาคม จะมีปริมาณมากถึง 2 ล้านตัน มากกว่าเดือนที่ผ่านมา เป็นผลจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อผลผลิตให้มีปริมาณออกมาสู่ตลาดเยอะขึ้น ซึ่งเกรงว่าอาจมีผลกระทบต่อราคาผลผลิตปาล์ม และการรับซื้อผลผลิตของโรงสกัด จึงจำเป็นจะต้องหารือและพิจารณาทางออกร่วมกันเพื่อป้องกันไม่ให้ราคาผลผลิตปาล์มตกต่ำ

“ผลจากการประชุมครั้งนี้ได้มีการเห็นชอบขอความร่วมมือโรงงานสกัดรับซื้อผลปาล์มน้ำมันในราคาที่ 5 บาทต่อกิโลกรัม ในเปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์มที่ 18% หากไม่รับซื้อตามที่ขอความร่วมมือจำเป็นจะต้องชี้แจงและให้รายละเอียด โดยให้หน่วยงานระดับจังหวัดเข้าไปติดตามดูแลสถานการณ์ หากพบว่ามีการเอารัดเอาเปรียบอาจจำเป็นจะต้องมีบทลงโทษกับผู้ประกอบการ”
โอดต้นทุนอยู่ที่ 6 บาท/กก.
สำหรับสถานการณ์ราคาปาล์มน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 3-4.50 บาทต่อกิโลกรัม ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ ขณะที่ราคาต้นทุนการผลิตเฉลี่ยสูง เพราะต้นทุนการเพาะปลูก เช่น ปุ๋ย ค่าแรง เป็นต้น มีราคาสูงขึ้น ซึ่งราคาที่คุ้มกับต้นทุนเฉลี่ยจะต้องอยู่ที่ 6 บาทต่อกิโลกรัม แต่ทั้งนี้ ได้ขอความร่วมมือในการรับซื้อและให้เกษตรกรทำปาล์มคุณภาพ ก็ถือว่าเป็นการสร้างความร่วมมือร่วมกัน จึงยอมรับได้เพื่อให้ราคาได้เฉลี่ยทั้งประเทศ
ขณะที่ราคาน้ำมันปาล์มดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 30-31 บาทต่อกิโลกรัม โดยสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบภายในประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ 250,000 ตัน ซึ่งเป็นปริมาณสต๊อกที่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ และขณะนี้ราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกปริมาณราคาลดลง มีผลทำให้สามารถแข่งขันด้านราคาได้มากขึ้น เป็นช่องทางในการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบของไทย และเร่งผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบไปต่างประเทศ นอกจากนี้การปรับการใช้พลังงาน B7 จากปัจจุบัน B5 ส่งผลทำให้ปริมาณสต๊อกไม่ได้สูงขึ้น หรือไม่ได้จำเป็นจะต้องเก็บสต๊อกเพื่อนำไปใช้ด้านพลังงาน โรงงานไบโอดีเซลก็ไม่จำเป็นจะต้องเก็บสต๊อกเพื่อผลิตน้ำมัน
สำหรับสัดส่วนการใช้น้ำมันปาล์มดิบในการบริโภคยังอยู่ที่ 80,000 ตันต่อเดือน ส่วนด้านพลังงานและอุตสาหกรรม เฉลี่ยอยู่ที่ 100,000 ตันต่อเดือน ซึ่งคาดว่าจะเร่งผลักดันการใช้น้ำมันปาล์มดิบในภาคพลังงานและอุตสาหกรรมมากขึ้น เพื่อรองรับผลผลิตที่คาดว่าจะออกมาปริมาณมาก เพราะจะมีผลต่อราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศ