
กรมประมงเรียกสมาคม/สหพันธ์/กลุ่มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ระดมสู้ภาษีตอบโต้ของ “ทรัมป์” American First Seafood ที่จะเรียกเก็บไทย 36% หลังครบกำหนด 90 วัน ลุ้นทูน่ากระป๋องยังไปได้ ส่วนกุ้งทะเลได้รับผลกระทบส่งออกมากสุด จากคู่แข่ง “เวียดนาม-อินโดนีเซีย-อินเดีย” ถึงขั้นแข่งขันไม่ได้-เสียตลาด พร้อมจับตา 3 สินค้า “ปลานิลจีน-ดอลลี่-หมึกกล้วย” ทะลักเข้าไทย ส่วนการเจรจาเพื่อลดภาษีตอบโต้สหรัฐของทีมไทยยังไม่มีนัดหมาย เหตุเพิ่งส่ง “ข้อเสนอ” ไปให้กระทรวงการคลัง-USCR เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ต้องรอสัญญาณตอบรับจากสหรัฐก่อน
แม้ว่าสงครามการค้าด้วยการตั้งกำแพงภาษีระหว่างสหรัฐกับจีนเริ่มจะมีทิศทางที่ดีขึ้น หลังการเจรจารอบแรกที่เจนีวาในวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยในระยะเวลา 90 วันข้างหน้า ภาษีนำเข้าจากจีนส่วนใหญ่ที่สหรัฐเรียกเก็บรวมกัน 145% จะลดลงเหลือ 30% ในขณะที่ภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐของจีนจาก 125% จะลดลงเหลือ 10%
รวมถึงจีนจะระงับหรือยกเลิกมาตรการตอบโต้ที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากรที่บังคับใช้กับสหรัฐมาตั้งแต่วันที่ 2 เมษายนด้วย เพื่อบรรเทาแรงกดดันที่อุตสาหกรรมภายในสหรัฐได้รับผลกระทบ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเจรจาลงในรายละเอียดในรอบต่อ ๆ ไป ทว่าความแน่นอนทางการเจรจาก็ยังมีอยู่ ประกอบกับอัตราภาษีนำเข้าที่สหรัฐจะเรียกเก็บจากจีนก็ยังอยู่ในอัตราสูงถึง 30% แม้จะเป็นอัตราที่เปิดโอกาสที่จะทำการค้าได้บ้าง
ขณะที่ประเทศไทยยังคงไม่มีนัดหมายการเจรจาเพื่อลดภาษีกับสหรัฐ ท่ามกลางความกังวลของผู้ส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์ที่ไทยส่งออกไปยังตลาดสหรัฐเฉลี่ย 3 ปี (2565-2567) ในปริมาณ 246,407 ตัน คิดเป็นมูลค่า 48,208 ล้านบาท
ปลานิลจีน-ดอลลี่ทะลักเข้าไทย
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเข้ามาว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงได้เรียกสมาคม/สมาพันธ์/ผู้แทนเกษตรกรที่เกี่ยวข้องในการกำหนดการรับมือต่อมาตรการเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประมง ทั้งการผลิตและการส่งออกของประเทศไทย
โดยประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศเรียกเก็บภาษีออกเป็น 2 ส่วนคือ ภาษีขั้นต่ำ (Baseline) 10% เรียกเก็บจากทุกประเทศที่ส่งสินค้าออกไปยังสหรัฐ กับภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ที่เรียกเก็บจากประเทศที่ได้ดุลการค้าสหรัฐ
โดยประเทศไทยถูกเรียกเก็บในอัตราที่สูงมากถึง 36% รองจากประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งเป็นคู่แข่งขันในตลาดสหรัฐด้วยกัน โดยเวียดนามอยู่ที่ 46% อินโดนีเซีย 32% มาเลเซีย 24% ฟิลิปปินส์ 17% และสิงคโปร์ 10%
ในที่ประชุม กรมประมงได้รวบรวมผลกระทบการขึ้นภาษีตอบโต้กับการส่งออก-นำเข้าสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์ของไทยใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1) ผลกระทบในภาพรวม จะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของการส่งออกสินค้าประมงไทยไปยังสหรัฐ โดยไทยอาจจะสูญเสียตลาด หรือส่วนแบ่งตลาดสหรัฐให้กับประเทศที่ถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้ “ต่ำกว่า” ไทย และเสียส่วนแบ่งตลาดสินค้าประมงที่มีศักยภาพ
การเผชิญกับการแข่งขันในการส่งออกสินค้าประมงในตลาดโลก จากการที่ “จีน” และประเทศผู้ผลิตส่งออกรายใหญ่อื่น ๆ ลดการส่งออกสินค้าประมงไปสหรัฐ แต่กำลังการผลิตภายในไม่ได้ลดลง และสินค้าประมงที่ส่งเข้าไปยังสหรัฐไม่ได้ หรือส่งได้น้อยลงจากการถูกตั้งกำแพงภาษีที่สูงมากจากจีน (ภาษีตอบโต้ 30%) เวียดนาม (46%) อินโดนีเซีย (32%) มีแนวโน้มที่จะ “ทะลัก” เข้ามายังตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดไทย จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA อาเซียน-จีน) ที่เสียภาษีร้อยละ 0
โดยสินค้าประมงที่จะ “ทะลัก” เข้ามาจำหน่ายในไทยจนกระทบกับผู้ผลิตในประเทศ ได้แก่ ปลานิลจีน ในผลิตภัณฑ์ปลานิลแล่แช่แข็งจากจีน ซึ่งตามปกติไทยนำเข้าจากจีนถึง 59.24% (ปริมาณนำเข้ารวม 694.60 ตัน) มีแนวโน้มจะทะลักเข้าไทยในราคาที่ถูกลง (ราคาปลานิลไทยปกติเฉลี่ย 71 บาท/กก.)
ถ้าจีนส่งออกปลานิลแล่แช่แข็งไปยังตลาดสหรัฐไม่ได้ (จีนส่งออกไปสหรัฐอันดับ 1 เฉลี่ย 3 ปีย้อนหลังปริมาณ 116,292 ตัน มูลค่า 12,861 ล้านบาท ราคานำเข้าเฉลี่ยตลาดสหรัฐ 111 บาท/กก.) เนื่องจากภาษีนำเข้าสูง (Reciprocal Tariffs)
กลุ่มปลาแคตฟิช รวมไปถึงปลาแพนกาเซียส (ปลาดอลลี่) ฟิลเลแช่แข็งจากเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกปลารายใหญ่ในกลุ่มนี้เข้าไปจำหน่ายในตลาดสหรัฐ (เวียดนามอันดับ 1 ปริมาณ 109,689 ตัน มูลค่า 13,512 ล้านบาท ราคานำเข้าเฉลี่ย 123 บาท/กก.-จีนอันดับ 2 ปริมาณ 7,749 ตัน มูลค่า 938 ล้านบาท ราคาเฉลี่ยนำเข้า 121 บาท/กก.)
และหมึกจากประเทศจีน-อินโดนีเซีย-เวียดนาม ก็มีโอกาสที่จะทะลักเข้ามาในตลาดไทย (จีนส่งหมึกกล้วยไปสหรัฐเป็นอันดับ 1 เฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี ปริมาณ 13,549 ตัน มูลค่า 2,553 ล้านบาท ราคาเฉลี่ย 188 บาท/กก.-เวียดนาม 1,059 ตัน มูลค่า 306 ล้านบาท ราคาเฉลี่ย 290 บาท/กก.-อินโดนีเซีย 759 ตัน มูลค่า 262 ล้านบาท ราคาเฉลี่ย 346 บาท/กก. ขณะที่หมึกกล้วยไทยราคาเฉลี่ยส่งออกอยู่ที่ 30 บาท/กก.
กุ้งทะเลเสียตลาดสหรัฐ
2) ผลกระทบต่อความสามารถในการส่งออกสินค้าประมงไทย จะกระทบใน 2 รายการคือ รายการปลาทูน่า ปี 2567 ไทยมีการส่งออกทูน่าและผลิตภัณฑ์ไปยังสหรัฐปริมาณ 117,784 ตัน คิดเป็นมูลค่า 19,176 ล้านบาท ส่วนใหญ่ส่งออกไปในรูปของทูน่ากระป๋อง 87.7% (ปริมาณ 106,033 ตัน มูลค่า 16,825 ล้านบาท)
ทูน่าแปรรูป 8.2% และทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็ง 4.19% อัตราภาษีนำเข้าสหรัฐตามปกติเรียกเก็บ 12.5% โดยสหรัฐนำเข้าทูน่าและผลิตภัณฑ์จากประเทศไทยเป็นอันดับ 1 ในสัดส่วน 29% รองลงมาเป็นทูน่าจากเวียดนาม 17% อินโดนีเซีย 13% เม็กซิโก 8% เอกวาดอร์ 6% และสเปน 3%
“จากอัตราภาษีตอบโต้ที่สหรัฐเรียกเก็บจากคู่ค้าพบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในอัตราใกล้เคียงกัน โดยที่เวียดนามอยู่ที่ 46% ไทย 36% อินโดนีเซีย 32% ดังนั้น ในรายการทูน่าการส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบทางบวก หรือสามารถส่งออกไปยังตลาดสหรัฐในระดับเดิม เนื่องจากไทยเป็นผู้ส่งออกทูน่ารายใหญ่ของโลก สามารถครองตลาดอันดับ 1 ในสหรัฐได้อยู่แล้ว จึงมีความสามารถในการแข่งขันมากกว่าประเทศคู่แข่งอื่น” รายงานผลวิเคราะห์ในความเห็นของกรมประมง
รายการกุ้งทะเล ปี 2567 ไทยส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ไปตลาดสหรัฐปริมาณ 27,287 ตัน คิดเป็นมูลค่า 10,813 ล้านบาท ส่วนใหญ่ส่งออกไปในรูปของกุ้งปรุงแต่ง 43.71%, กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง 35.98% และกุ้งกระป๋อง 20.31% ภาษีนำเข้ากุ้งและผลิตภัณฑ์จากไทยส่วนใหญ่อยู่ที่ร้อยละ 0 โดยในรายการนี้เฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี (2565-2567) พบว่ามีสัดส่วนถึง 30.46% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าประมงจากไทยไปยังตลาดสหรัฐ รองลงไปสหรัฐนำเข้ากุ้งจากอินเดีย 37.04%, เอกวาดอร์ 21.24%, อินโดนีเซีย 16.91% และเวียดนาม 11.40%
จากข้อมูลการจัดเก็บภาษีตอบโต้ของสหรัฐที่เรียกเก็บจากไทยถึง 36% ขณะที่ประเทศคู่แข่งขันที่ส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์เข้าตลาดสหรัฐจะเสียภาษีตอบโต้ “ต่ำกว่า” ไทยมาก อาทิ กุ้งจากอินเดียเสียภาษีต่ำกว่าไทย 10% หรือกุ้งจากเอกวาดอร์เสียภาษีต่ำกว่าไทย 26% ส่งผลทำให้กุ้งไทยไม่สามารถแข่งขันกับกุ้งจากทั้ง 2 ประเทศนี้ได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกุ้งในพิกัด 0306 กุ้งที่เป็นวัตถุดิบหรือแปรรูปเบื้องต้น ซึ่งสหรัฐนำเข้ากุ้งในพิกัดนี้ถึง 74% จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ทั้งจากการส่งออกที่น้อยอยู่แล้ว และถูกเก็บภาษีตอบโต้สูงกว่าคู่แข่ง ขณะที่กุ้งในพิกัด 1605 กุ้งแปรรูป ไทยยังมีโอกาสมากกว่ากุ้งในพิกัด 0306 “เราอาจจะได้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น โดยแย่งมาจากกุ้งแปรรูปเวียดนามที่ถูกสหรัฐเก็บภาษีตอบโต้มากกว่ากุ้งไทย 10% แต่ผลกระทบโดยรวมทั้งหมดสำหรับการส่งออกกุ้งไทยไปยังตลาดสหรัฐยังเป็นผลกระทบด้านลบมากกว่า”
นายเอกพจน์ ยอดพินิจ นายกสมาคมกุ้งไทยกล่าวว่า มีข้อกังวลอยู่ 2 ประเด็นในการที่ประเทศไทยถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้สูงถึง 36% โดย 1) กุ้งไทยจะได้รับผลกระทบแน่นอน “แต่อาจจะไม่มาก” เพราะการส่งออกสินค้ากุ้งไปตลาดสหรัฐในปัจจุบันมีสัดส่วนไม่มาก หากเทียบในอดีตที่ผ่านมาที่เคยส่งออกสินค้ากุ้งมีสัดส่วนถึง 60% จากการส่งออกกุ้งไปในตลาดโลก
แต่ปัจจุบันไทยส่งออกกุ้งไปสหรัฐสัดส่วนประมาณ 20% หรือคิดเป็นประมาณ 50,000 ตัน รองลงมาเป็นญี่ปุ่น 20% จีน 20% และกระจายไปในหลายตลาด โดยสาเหตุที่ผลผลิตกุ้งไทยออกสู่ตลาดลดลง เนื่องจากปัญหาโรคกุ้งตายด่วน (โรค EMS)
2) ที่น่าเป็นห่วงก็คือ การไหลเข้ามาของสินค้าอื่นที่จะเข้าไทย โดยประเทศที่น่ากังวลมากที่สุดคงเป็นสินค้าประมงจากเวียดนาม เนื่องจากเวียดนามถูกเก็บภาษีตอบโต้ 46% หรือ “สูงกว่า” ไทย 10% ดังนั้น จึงมีโอกาสที่สินค้าประมงจากเวียดนามจะไหลเข้ามาในไทย และยังเป็นประเทศที่ใกล้กับไทยมากที่สุด หากเทียบกับเอกวาดอร์ ซึ่งระยะทางการขนส่งต้องใช้ระยะเวลานาน
“กรมประมงจะต้องมีมาตรการเข้มงวดการตรวจสอบและอนุญาตการนำเข้าสินค้าประมงจากต่างประเทศ โดยการนำเข้ากุ้ง ตามปกติไทยมีการนำเข้าไม่เยอะอยู่ประมาณหลัก 10,000 ตัน บางส่วนก็นำเข้ามาเพื่อบริโภคและบางส่วนนำเข้ามาเพื่อผลิตและส่งออก” นายเอกพจน์กล่าว
คำสั่งทรัมป์ America Fist Seafood
นอกเหนือจากการหารือแนวทางการรับมือต่อมาตรการเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) แล้ว ที่ประชุมร่วมกรมประมงกับสมาคมการค้าที่เกี่ยวข้องยังได้มีการหารือถึงผลกระทบที่ไทยจะได้รับจากคำสั่งประธานาธิบดีสหรัฐ (Executive Order) ฉบับลงวันที่ 17 เมษายน 2568 เรื่องการฟื้นฟูความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารทะเลสหรัฐ (Restoring American Seafood Competitiveness) โดยสหรัฐจะฟื้นฟูแหล่งประมงและอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในสหรัฐ เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าอาหารทะเลจากต่างประเทศลง ในเรื่องนี้ที่ประชุมคาดว่าไทยจะได้รับผลกระทบ 4 ประการคือ
1) การบังคับใช้มาตรการ IUU การทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เข้มงวดมากขึ้นในแหล่งกำเนิดสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์ที่ส่งเข้าไปจำหน่ายในตลาดสหรัฐ ในประเด็นนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อไทย เนื่องจากไทยมีการบังคับใช้มาตรการ IUU อย่างเข้มงวดอยู่แล้ว แต่อาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการตรวจสอบแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่ไทยนำเข้าผลิตเพื่อส่งออกจากประเทศที่สามจะต้องมีมาตรการ IUU ที่เข้มงวดด้วย
2) การจัดการกับสินค้าประมงที่มีการใช้แรงงานบังคับ ที่ผ่านมาสหรัฐมีการขึ้นบัญชี TVPRA List สินค้าประมงไทยที่ใช้แรงงานบังคับ 3 รายการ ได้แก่ กุ้ง ปลา และผลิตภัณฑ์ปลายน้ำจากปลา (ปลาป่น-น้ำมันปลา-อาหารสัตว์) ในเรื่องนี้กระทรวงแรงงาน กำลังยื่นขอให้ปลดลิสต์รายการสินค้าประมงไทยออกจากบัญชี TVPRA อยู่
3) มาตรการป้องกันผลกระทบจากการทำประมงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม (Marine Mammal Protection Act หรือ MMPA) ที่สหรัฐบังคับใช้กับสินค้าสัตว์ที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศ จะต้องไม่ใช้เครื่องมือที่เป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม ในกรณีของประเทศไทยจะมีในส่วนของ พะยูน-โลมาอิรวดี ที่อาจลดจำนวนลงจากการใช้เครื่องมืออวนติดตา ซึ่งไทยกำลังแก้ไขปัญหานี้อยู่ เพื่อลดผลกระทบจากการใช้อวนประเภทนี้
และ 4) การใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ SIMP ของสหรัฐในการส่งออก-นำเข้าสินค้าประมงบางรายการที่สหรัฐกำลังมีการแก้ไขปรับปรุงอยู่ ซึ่งไทยจะต้องทำความเข้าใจและซักซ้อมการเข้าใช้ระบบอยู่
เพิ่งยื่นข้อเสนอไปสหรัฐ
ด้าน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีที่สหรัฐ-จีนลดภาษีนำเข้าระหว่างกันเป็นเวลา 90 วัน ขณะที่ไทยยังไม่มีการเจรจาลดภาษีกับสหรัฐเลย จนอาจดูว่า “จีนแซงหน้าไทยหรือไม่” ว่าใช้คำว่าจีนแซงหน้าไม่ได้ เราคิดว่าเป็นการคลี่คลายเรื่องนี้มากกว่า และตลาดหุ้นวันนี้ก็บวก
ทั้งนี้ บอกตั้งแต่ต้นแล้วว่า ประเทศไทยรอเวลาที่เหมาะสม เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีการส่ง “ข้อเสนอ” ไปให้สหรัฐแล้ว และมีการหารือกับคณะผู้แทนการค้า USTR หรือระดับรัฐมนตรี ส่วนกรณีที่สหรัฐมีคิวเจรจากับประเทศในอาเซียน เช่น มาเลเซีย กัมพูชา ทำไมจึงยังไม่มีไทยอยู่ในคิวการเจรจานั้น น.ส.แพทองธารกล่าวว่า เราก็รออยู่ เพราะเพิ่งส่งข้อเสนอไปในสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากนี้อาจจะต้องมีการนัด เราจะตามเรื่องนี้อยู่แล้ว
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวว่า เราติดตามสถานการณ์ของจีนเป็นไปตามที่คาด รวมถึงติดตามการเจรจาของเกาหลี ญี่ปุ่น ที่ซับซ้อนกว่าไทย ซึ่งเราได้ยื่นข้อเสนอไปเมื่อ 4-6 วันก่อน โดยยื่นไปที่กระทรวงการคลังสหรัฐและคณะผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) 5-6 ข้อ โดยวิธีเจรจาเรายื่นหนังสือถึงเขาเรื่องอะไร เช่น ยื่นถึงสมาคมผู้ขายที่นู้น เราก็ขอไปเจอ เพื่อให้รู้ว่าเราจะซื้อแน่ ลงทุนแน่ มีการตกลงในระดับคณะทำงาน เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อคุยหลักการแล้วจะได้จบโดยเร็ว
“ข้อเสนอเราส่งไปแล้วชัดเจน เขารับแล้วก็คงมีคำตอบกลับมา” นายพิชัยกล่าว