
ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี ประกาศไตรมาส 1/2568 มีรายได้จากการขายและบริการ 34,385 ล้านบาท จากราคายางธรรมชาติและปริมาณการขายยางที่เพิ่มขึ้นติดต่อกัน 6 ไตรมาส รวมถึงราคาถุงมือยางที่เพิ่มขึ้น คาดมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐ ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงกับบริษัทมากนัก เนื่องจากมีสัดส่วนรายได้จากสหรัฐ เพียง 10%
นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA ผู้นำธุรกิจยางธรรมชาติครบวงจรรายใหญ่ที่สุดของโลกและผู้ผลิตถุงมือยางอันดับหนึ่งของประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2568 ของบริษัท เติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายได้จากการขายและบริการ 34,385 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและ 3.4% จากไตรมาสก่อนหน้า
และมีกำไรสุทธิ 689 ล้านบาท พลิกจากผลขาดทุนในช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 19.4% จากไตรมาสก่อนหน้า แม้ว่าผลการดำเนินงานจะปรับตัวดีขึ้น แต่เนื่องจากในไตรมาส 4/2567 บริษัทมีรายได้พิเศษจากดอกเบี้ยรับคืนจากเงินกู้ระยะยาวจำนวน 483 ล้านบาท ที่ได้รับการสนับสนุนจากการยางแห่งประเทศไทย ทำให้ภาพรวมกำไรลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
ปัจจัยหลักของการเติบโตมาจาก 2 ส่วน ได้แก่ 1) ราคายางธรรมชาติและถุงมือยางที่เพิ่มขึ้น โดยราคายางแท่ง TSR20 ณ ตลาด SICOM ไตรมาส 1/2568 เฉลี่ยอยู่ที่ 197 เซนต์ต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 13% จากราคาเฉลี่ยทั้งปี 2567 ที่ 174 เซนต์ต่อกิโลกรัม และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าที่มีราคาเฉลี่ย 196 เซนต์ต่อกิโลกรัม
2) ปริมาณการขายยางธรรมชาติรวมทุกประเภทที่เพิ่มขึ้นติดต่อกัน 6 ไตรมาสอยู่ที่ 396,955 ตัน เติบโต 24.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 2.6% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นยอดขายจากการส่งมอบยาง EUDR ราว 43,000 ตัน สะท้อนถึงดีมานด์ที่มีต่อเนื่องแม้ชะลอตัวบ้างเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า นอกจากนี้ อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมาอยู่ที่ร้อยละ 9.1 จากร้อยละ 7.9 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน และร้อยละ 7.5 จากไตรมาสก่อนหน้า
นายวีรสิทธิ์กล่าวอีกว่า การประกาศมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐอเมริกา คาดว่าไม่ได้ส่งผลกระทบกับบริษัทมากนัก เนื่องจากกลุ่มบริษัทศรีตรังฯ มีสัดส่วนรายได้จากการขายยางธรรมชาติและถุงมือยางไปยังสหรัฐ เพียง 10% ของรายได้รวมในปีที่ผ่านมา และสหรัฐมีการบริโภคยางธรรมชาติเพียง 4-5% ของความต้องการใช้รวม ทั่วโลกเท่านั้น เนื่องจากไม่มีฐานการผลิตยางรถยนต์ตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยางธรรมชาติถูกจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าที่ได้รับยกเว้นจากการปรับขึ้นภาษีตอบโต้ของสหรัฐครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม แม้ผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติของไทยอาจไม่ได้อยู่ในกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่บริษัทได้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องเพื่อปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากบริษัทอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยางล้อซึ่งอาจมีผลกระทบทางอ้อม โดยสถานการณ์ในช่วงนี้ลูกค้าในไทยและต่างประเทศอยู่ในระหว่างประเมินความชัดเจนจากการเจรจาต่อรองกับสหรัฐ ของไทยและประเทศอื่น ๆ โดยประเมินว่าหากสถานการณ์มีความชัดเจนขึ้น บริษัทจะได้รับผลเชิงบวกด้านคำสั่งซื้อจากการมีความสัมพันธ์ที่ดีและได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้า
ทั้งนี้ บริษัทได้ขยายกำลังการผลิตยางธรรมชาติ โดยเฉพาะยางแท่ง (TSR) แล้วเสร็จไปกว่า 90% ของเป้าหมาย 4.0 ล้านตันภายในปี 2569 จากแผนลงทุนที่ดำเนินการมาตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
“เรายังคงมุ่งเน้นการบริหารสต๊อกให้มีประสิทธิภาพและรักษาความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจ เพื่อรับมือกับปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจ มาตรการภาษี และสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ โดยเน้นการสื่อสารกับลูกค้าอย่างใกล้ชิด และปี 2568 จะเป็นปีที่บริษัทดึงศักยภาพจากการลงทุนในกำลังการผลิตที่ได้ดำเนินการไปแล้วมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเราจะทยอยเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิต (Utilization Rate) ให้สอดคล้องกับคำสั่งซื้อในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อการเติบโตของกลุ่มบริษัทศรีตรังฯ ในระยะยาว”