ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค-หอการค้า เม.ย. 68 หดตัวต่อเนื่องเหตุภาษีทรัมป์พ่นพิษ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเมษายน 2568 ระดับ 55.4 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และอยู่ในระดับที่ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน ขณะที่ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าไทย ลดทุกภูมิภาค เหตุปัจจัยล้วนมาจากกังวลผลกระทบภาษีทรัมป์ 2.0 ที่ส่งผลกระทบทั้งภาคเศรษฐกิจ การค้า และการส่งออก

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค รวมไปถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยมีการปรับลดลงต่อเนื่อง จากความกังวล ที่สหรัฐเริ่มประกาศมาตรการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ

ขณะที่ราคาพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะสินค้าหลักมีการปรับลดลง เช่นข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา และอ้อย มีผลต่อการสะพัดของเม็ดเงินที่ลดลง รวมไปถึงอุตสาหกรรมรายจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออก ภาคกลาง ซึ่งมีสัดส่วนจีดีพีถึง 60% ของประเทศ ก็ให้ความกังวลและความไม่แน่นอน ต่อเศรษฐกิจไทย

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองเพิ่มเติมเข้ามา โดยเฉพาะกรณีของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ที่เป็นแกนหลักในฝั่งรัฐบาล กระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี รวมทั้งปัญหาการเข้ารักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นการเมืองไทย ออกมาต่ำสุดในรอบ 7 เดือน แม้จะยังไม่มีสถานการณ์ที่บ่งชี้ชัดเจนว่าจะมีผลกระทบรุนแรง

นอกจากนี้ ประชาชนยังไม่เห็นถึงมาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจ โดยอาจจะต้องเห็นในช่วงครึ่งปีหลัง พร้อมกับทั้งการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ เพราะทั้งนี้ ก็มีความกังวลความมีเสถียรภาพของรัฐบาล หากมีการยุบสภาจะมีผลต่อการเบิกจ่ายชะลอไป 3-6 เดือน โดยเหตุนี้จะทำให้เกิดการรักษาการของรัฐบาล จะทำให้ไม่เกิดการเจรจาต่อรองการค้า หรือมาตรการกระตุ้น ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ดังนั้น ถือว่าเรื่องการเมืองยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค ซึ่งยังมีแนวโน้มที่จะเป็นขาลงต่อเนื่อง

ADVERTISMENT

“ยังไม่สนับสนุนการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท แต่ต้องการให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการลงทุนในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อทำให้เกิดกระตุ้นทางเศรษฐกิจ และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น”

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ที่คาดว่าการส่งออกไทยปีนี้ จะได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐ อย่างน้อยจากการถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 10% (Universal Tariff) นั้น ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ในกรอบ 1.8-2.2% (ค่ากลาง 2%) อย่างไรก็ดี จะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยใหม่อีกครั้งในเดือน มิ.ย. 68 ส่วนการเศรษฐกิจโลก และจากที่หลายคนมองว่าเศรษฐกิจโลกจะย่อตัวลงอย่างน้อย 0.5% จากที่เคยโต 3% อาจจะเหลือแค่ 2.5% เป็นอย่างน้อย

ดัชนีความเชื่อมั่น ระดับ 55.4 ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน

นายวาทิตร รักษ์ธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) เดือนเมษายน 2568 อยู่ที่ระดับ 55.4 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และอยู่ในระดับที่ต่ำสุดในรอบ 7 เดือนนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 ยังปรับตัวลดลงทุกรายการ เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าจากนโยบาย Trump 2.0 โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม อยู่ที่ 49.3 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานอยู่ที่ 53.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 63.9

การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แสดงว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้า และค่าครองชีพสูง ตลอดจนปัญหาสงครามการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้

สำหรับปัจจัยลบสำคัญที่มีผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี’68 ลงเหลือโต 2.1% จากเดิมคาดโต 3% สาเหตุหลักจากแรงกดดันด้านการค้าโลก โดยเฉพาะผลกระทบจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ผู้บริโภคยังมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า ราคาพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และยางพารา อยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน ส่งผลให้รายได้เกษตรกรไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่ยังคงยืดเยื้อ เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย และกังวลปัญหาภัยแล้ง

ขณะที่ปัจจัยบวกที่ช่วยสนับสนุน ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 1.75% ต่อปี ครม.เห็นชอบมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน และจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ เหลือ 0.01% การส่งออกไทยเดือน มี.ค. 68 มีมูลค่าสูงถึง 29,548 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 17.84% และเกินดุลการค้า 972 ล้านดอลลาร์

ความเชื่อมั่นลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2

นายวชิร คูณทวีเทพ รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ และผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) เดือนเมษายน 2568 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจ และหอการค้าทั่วประเทศจำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 23-30 เม.ย. 68 พบว่า ดัชนีอยู่ที่ระดับ 48.3 ลดลงจากระดับ 48.9 ในเดือนมี.ค. 68 ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2

โดยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเกือบทุกภูมิภาค มีสัญญาณการปรับตัวลดลง ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจโดยรวม, การลงทุน, การท่องเที่ยว, การเกษตร, การค้าในจังหวัด, การค้าชายแดน และการจ้างงาน โดยมีเพียงภาคอุตสาหกรรมที่ยังปรับตัวขึ้นเล็กน้อย จากอานิสงส์ของการส่งออกที่ยังขยายตัว จากคำสั่งซื้อที่ยังมีเข้ามาต่อเนื่อง

ส่วนการลงทุนนั้น ยังไม่มีสัญญาณขยายการลงทุนของภาคเอกชนในช่วงนี้ ซึ่งทำให้เห็นว่าภาคเอกชนยังชะลอการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ส่วนการท่องเที่ยว แม้เดือนเมษายนเป็นเทศกาลสงกรานต์ แต่หลายจังหวัดตอบว่าการท่องเที่ยวไม่ได้คึกคักเท่าที่คาดหวังไว้ จะคึกคักเพียงจังหวัดแหล่งท่องเที่ยว ส่วนเมืองรองค่อนข้างเงียบเหงา ส่วนการบริโภคมีสัญญาณคึกคักเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในแต่ละภูมิภาค เดือน เม.ย. 68 เป็นดังนี้

  • กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค อยู่ที่ 48.0 ลดลงจากเดือน มี.ค. 68 ซึ่งอยู่ที่ 48.9
  • ภาคกลาง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค อยู่ที่ 47.7 ลดลงจากเดือน มี.ค. 68 ซึ่งอยู่ที่ 48.5
  • ภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค อยู่ที่ 51.7 ลดลงจากเดือน มี.ค. 68 ซึ่งอยู่ที่ 52.2
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค อยู่ที่ 47.4 ลดลงจากเดือน มี.ค. 68 ซึ่งอยู่ที่ 47.9
  • ภาคเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค อยู่ที่ 48.0 ลดลงจากเดือน มี.ค. 68 ซึ่งอยู่ที่ 48.9
  • ภาคใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค อยู่ที่ 47.1 ลดลงจากเดือน มี.ค. 68 ซึ่งอยู่ที่ 47.7

ปัจจัยลบสำคัญที่กระทบ เช่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี’68 เหลือโต 2.1% จากเดิมคาดโต 3.0% ผลจากแรงกดดันด้านการค้าโลก การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะผลกระทบจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐ ความกังวลต่อนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐ และการตอบโต้จากประเทศต่าง ๆ เศรษฐกิจยังฟื้นตัวช้า ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพสูง ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย ซึ่งกระทบกับยอดขายของธุรกิจ เป็นต้น

ปัจจัยบวกที่กระทบ เช่น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 1.75% ต่อปี นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการยกเว้นวีซ่านักท่องเที่ยว การส่งออกของไทยเดือน มี.ค. 68 ขยายตัวสูงถึง 17.84% เข้าฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลไม้ ทำให้อุปสงค์สินค้าเกษตรปรับเพิ่มขึ้นในกลุ่มอาหารสด อาหารแปรรูป และผลไม้ ราคาพืชผลเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น หรือทรงตัวในระดับที่ดี

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการยังมีข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาไปถึงภาครัฐ เช่น มาตรการทางการเงินที่ช่วยเหลือสภาพคล่องของภาคธุรกิจ ช่วยดูแลมาตรฐานการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน และช่วยลดความเสี่ยงหนี้เสีย การบริหารจัดการน้ำเพื่อจัดสรรให้เพียงพอ และเหมาะสมกับภาคการเกษตร อุปโภค-บริโภค และรวมไปถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

มาตรการส่งเสริมช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนด้านธุรกิจ เช่น การพัฒนาผลิตภาพและประสิทธิภาพธุรกิจ การพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง และสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มในการผลิตสินค้า