ดัชนีเชื่อมั่นต่ำรอบ 7 เดือน พิษทรัมป์-พืชผลราคาตก

สินค้าเกษตร ยางพารา

ม.หอการค้าไทยเผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเมษายน ยังหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน ชี้เหตุกังวลภาษีทรัมป์ บวกราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ แถมการเมืองไม่นิ่ง ห่วงลามยุบสภาทำงบฯ ค้างเติ่ง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค รวมไปถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยมีการปรับลดลงต่อเนื่อง จากความกังวลที่สหรัฐเริ่มประกาศมาตรการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ขณะที่ราคาพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะสินค้าหลักมีการปรับลดลง เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา และอ้อย มีผลต่อการสะพัดของเม็ดเงินที่ลดลง รวมไปถึงอุตสาหกรรมรายจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออก ภาคกลาง ซึ่งมีสัดส่วนจีดีพีถึง 60% ของประเทศ ก็ให้ความกังวลและความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจไทย

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองเพิ่มเติมเข้ามา โดยเฉพาะกรณีของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ที่เป็นแกนหลักในฝั่งรัฐบาล กระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี รวมทั้งปัญหาการตรวจสอบกรณีเข้ารักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นการเมืองไทยต่ำสุดในรอบ 7 เดือน แม้จะยังไม่มีสถานการณ์ที่บ่งชี้ชัดเจนว่าจะมีผลกระทบรุนแรง

นอกจากนี้ ประชาชนยังไม่เห็นถึงมาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจ โดยอาจจะเห็นในช่วงครึ่งปีหลัง พร้อมทั้งการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ เพราะความกังวลความมีเสถียรภาพของรัฐบาล หากรุนแรงถึงขั้นยุบสภาจะมีผลต่อการเบิกจ่ายชะลอไป 3-6 เดือน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ดังนั้น ถือว่าเรื่องการเมืองยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค ซึ่งยังมีแนวโน้มที่จะเป็นขาลงต่อเนื่อง

“ยังไม่สนับสนุนการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท แต่ต้องการให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการลงทุนในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อทำให้เกิดการกระตุ้นทางเศรษฐกิจ และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น”

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ที่คาดว่าการส่งออกไทยปีนี้จะได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐ อย่างน้อยจากการถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 10% (Universal Tariff) นั้น ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ในกรอบ 1.8-2.2% (ค่ากลาง 2%) อย่างไรก็ดี จะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยใหม่อีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2568

ADVERTISMENT

นายวาทิตร รักษ์ธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) เดือนเมษายน 2568 อยู่ที่ระดับ 55.4 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และอยู่ในระดับที่ต่ำสุดในรอบ 7 เดือนนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 ยังปรับตัวลดลงทุกรายการ เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าจากนโยบายทรัมป์ 2.0 โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมอยู่ที่ 49.3 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานอยู่ที่ 53.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 63.9

“การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แสดงว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้า และค่าครองชีพสูง ตลอดจนปัญหาสงครามการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้”

สำหรับปัจจัยลบสำคัญที่มีผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี’68 ลงเหลือ 2.1% จากเดิมคาดโต 3% สาเหตุหลักจากแรงกดดันด้านการค้าโลก ผู้บริโภคยังมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า ราคาพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และยางพารา อยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน ส่งผลให้รายได้เกษตรกรไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก และกังวลปัญหาภัยแล้ง