นายกถกทีมกระตุ้นเศรษฐกิจสู้ภาษี ‘สารัชถ์’ คุยทรัมป์-ลงทุนสหรัฐ

gulf-USA
พบ “ทรัมป์” - นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ซีอีโอกัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์ พบปะพูดคุยกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในงานเลี้ยงที่กษัตริย์กาตาร์เป็นเจ้าภาพ ก่อนเปิดเผยว่าสหรัฐมีท่าทีที่ดีในการเจรจาภาษีกับไทย เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา

นายกฯเรียกประชุมบอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจ ปรับแผนใหม่รับมือภาษีสหรัฐ ด้านบีโอไอเตรียมปรับเกณฑ์ช่วยผู้ส่งออกรับมือการค้าโลกป่วน ทีมไทยแลนด์บุกสหรัฐกล่อมเดินหน้าแก้ปัญหา “สารัชถ์” จากกัลฟ์ เข้าพบ “โดนัลด์ ทรัมป์” หารือเรื่องการลงทุนในสหรัฐขณะที่ “นลินี ทวีสิน” ผู้แทนการค้าไทย พบ สว.สหรัฐเชื้อสายไทย และตัวแทนพาณิชย์สหรัฐ หารือเพิ่มความร่วมมือ จากที่ไทยลงทุนแล้วกว่า 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ จ้างงานกว่า 1.5 หมื่นตำแหน่ง พร้อมขยายการลงทุนเพิ่มอีก

นายกฯนั่งหัวโต๊ะถกกระตุ้น ศก.

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ภายในวันที่ 19 พ.ค.นี้ จะประชุมคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจ มีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในที่ประชุมจะพิจารณาแผนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ รวมไปถึงการเสนอมาตรการทางการเงิน เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจัยนโยบายภาษีตอบโต้ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ระหว่างพิจารณากรอบรายละเอียด เพื่อรับมือกับสถานการณ์การขึ้นภาษีตอบโต้การค้าของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเลื่อนการขึ้นภาษีนำเข้าในอัตรา 36% ไป 90 วัน เราจะไม่รอให้ครบ 90 วัน หรือวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 แต่เราจะเตรียมมาตรการรับมือผลกระทบไว้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออก

“ในแง่ของประเทศไทยต้องเดินหน้าต่อ เพราะเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) เคยโตจาก 1.9% เป็น 2.5% ซึ่งมีความตั้งใจอยากให้จีดีพีปีนี้ขยายตัวได้ 3% แม้มีสถานการณ์ดังกล่าวเข้ามาทำให้สะดุด แต่เรามีมาตรการรับมือ เชื่อว่าจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจโตได้” นายพิชัยกล่าว

BOI เคาะปรับโครงสร้าง 19 พ.ค.

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า คณะกรรมการบีโอไอจะประชุมในวันที่ 19 พฤษภาคม 2568 ที่กระทรวงการคลัง โดยพิจารณามาตรการใหม่รองรับและช่วยส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทย เพื่อลดผลกระทบจากการขึ้นภาษีของสหรัฐ นอกจากนี้ ยังมีในส่วนที่จะปรับปรุงมาตรการเก่าให้สอดรับสถานการณ์ปัจจุบันด้วยเช่นกัน

บีโอไอเตรียมปรับโครงสร้างใหม่ โดยจากนี้ผู้ผลิตจะต้องจัดระเบียบตัวเอง ซัพพลายเชน องค์กรจะต้องปรับใหม่ สัญชาติของบริษัทที่จะเข้ามาทำซัพพลายเชนหรือต้นน้ำจะต้องมีส่วนสำคัญด้วย เพราะ Local Content อย่างเดียวอาจจะไม่พอ อาจต้องมีองค์ประกอบอื่นเข้ามาเป็นกติกาใหม่ที่ซับซ้อนมากขึ้น

“บีโอไอจะออกมาตรการส่งเสริมการร่วมทุน ระหว่างบริษัทไทยและต่างชาติในกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ที่จะครอบคลุมทั้งผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แบบสันดาปภายในและผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพราะต้องการให้คนไทยมีส่วนในการลงทุนมากที่สุด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ และคาดว่าจะขยายมาตรการดังกล่าวไปอุตสาหกรรมอื่นเพิ่มอีก”

ADVERTISMENT

ทรัมป์เยือนตะวันออกกลาง

ส่วนความคืบหน้าของทีมไทยแลนด์ ที่เดินหน้าหาข้อสรุปปัญหาภาษีสหรัฐอเมริกา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ และยูเออี ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อเจรจาเรื่องการลงทุน ต่อมาในวันที่ 14 พ.ค. ประธานาธิบดีทรัมป์เดินทางถึงกาตาร์

กษัตริย์แห่งกาตาร์ ชีค ทามิม บิน ฮามัด อัล ธานี กษัตริย์แห่งกาตาร์ ได้จัดเลี้ยงอาหารเย็นที่ลูเซล พาเลซ เพื่อเป็นเกียรติให้กับผู้นำสหรัฐ ซึ่งการเดินทางครั้งนี้มีคณะประกอบด้วย นายสกอตต์ เบสเซนต์ รมว.คลัง, นายโฮเวิร์ด ลุตนิค รมว.พาณิชย์, นายอีลอน มัสก์, นายพีท เฮกเซธ รมว.กลาโหม, นายคริส ไรต์ รมว.พลังงาน

“สารัชถ์” ร่วมพบปะ ปธน.สหรัฐ

สำหรับงานเลี้ยงอาหารค่ำที่ลูเซล พาเลซ นอกจากกษัตริย์แห่งกาตาร์ ซึ่งเป็นเจ้าภาพแล้ว ยังมีเชื้อพระวงศ์ นายกรัฐมนตรี และ รมต.ในรัฐบาลกาตาร์ ร่วมรับรองด้วย มีนักธุรกิจจากสหรัฐ และจากประเทศในเอเชีย อาทิ ไทย, อินเดีย เข้าร่วม สำหรับประเทศไทย มีนายสารัชถ์ รัตนาวะดี ซีอีโอจากกัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์ เป็นนักธุรกิจไทยคนเดียวที่ได้รับเชิญเข้าร่วม

นายสารัชถ์เผยว่า ได้พบปะกับประธานาธิบดีทรัมป์ และ รมต.หลายคน ซึ่งมีความคุ้นเคย เกี่ยวกับการเจรจากับประเทศไทย ซึ่งประธานาธิบดีสหรัฐ และ รมต.สหรัฐ กล่าวถึงประเทศไทยในแง่ดี และพร้อมรับการลงทุนจากประเทศไทย รวมถึงการลงทุนเพิ่มด้านพลังงานในสหรัฐ ซึ่ง Gulf มีการลงทุนอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ภายหลังงานเลี้ยง นายสารัชถ์ได้เดินทางกลับถึงประเทศไทยแล้ว

“นลินี” นำทีมเดินสายสหรัฐ

ขณะเดียวกัน นางนลินี ทวีสิน ประธานผู้แทนการค้าไทย นำทีมภาคเอกชนไทยเจรจาแนวทางการลงทุนในสหรัฐ ระหว่างวันที่ 9-16 พฤษภาคม 2568 เปิดเผยว่า ทีมเอกชนไทยได้หารือกับวุฒิสมาชิก แทมมี ดักเวิร์ธ จากรัฐอิลลินอยส์ และวุฒิสมาชิก เอลิสซา สล็อตคิน จากรัฐมิชิแกน และภาคเอกชนรายสำคัญในพื้นที่ เพื่อหารือถึงบทบาทของไทยในฐานะหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่มีศักยภาพและการขยายการลงทุนของภาคเอกชนไทยในสหรัฐ

นางนลินีกล่าวว่า ภาคเอกชนไทยลงทุนในสหรัฐ รวมมูลค่ากว่า 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จ้างงานไม่น้อยกว่า 15,000 ตำแหน่ง สะท้อนถึงความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐ และเจตนารมณ์ของไทยในการเป็นหุ้นส่วนที่เชื่อถือได้ พร้อมย้ำว่า ประเทศไทยคือพันธมิตรที่ใกล้ชิดของสหรัฐในทุกมิติ และพร้อมสร้างความสมดุลในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ทั้งนี้ ทุกบริษัทของไทยแสดงความประสงค์ที่จะเพิ่มการลงทุนในสหรัฐ

ไทยพร้อมขยายลงทุนเพิ่ม

นางนลินีกล่าวอีกว่า แทมมี ดักเวิร์ธ แสดงความพร้อมในการสนับสนุนการลงทุนของไทย และพร้อมเชื่อมการประสานงานในทุกประเด็นที่บริษัทไทยต้องการรับ ขณะที่การหารือได้พูดถึงข้อเสนอการร่วมผลิต (Joint Manufacturing) เช่น การผลิตแผงโซลาร์ ชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไทย ในฐานะมิตรประเทศที่ยาวนานของสหรัฐ เพื่อส่งไปประกอบขั้นสุดท้ายในสหรัฐ เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าและการสร้างงานในทั้งสองประเทศ

นอกจากนั้น ยังหารือกับ Ms.Pamela Phan จากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ โดยย้ำถึงความพร้อมของไทยในการลงทุนเพิ่มเติมในสาขาสำคัญ อาทิ เกษตร พลังงาน อาหารและเครื่องดื่ม และยินดีที่ นายสกอตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา กล่าวในการประชุมเวทีการลงทุน ซาอุดี-สหรัฐ กรุงริยาด เมื่อวันที่ 13 พ.ค.ว่า ไทยได้นำเสนอแนวคิดริเริ่มที่ยอดเยี่ยม ซึ่งเห็นพ้องว่าไทยสามารถเป็น Quick Win ของสหรัฐได้ ทั้งในแง่ของความสามารถในการขยายการลงทุน และการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐเพิ่มเติม

ร่วมบีโอไอเชื่อมไทย-สหรัฐ

พร้อมกันนี้ นางนลินีเป็นประธานกล่าวเปิดงาน “U.S.-Thailand Collaboration : Networking for Future Business Opportunities” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อเป็นเวทีเชื่อมโยงภาคเอกชนไทย-สหรัฐ และกระชับความร่วมมือระหว่างสองประเทศ โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 50 ราย จากภาคธุรกิจชั้นนำของไทย อาทิ Indorama Ventures, Thai Union, ไทยซัมมิท, บ้านปู และกลุ่ม ปตท.

รวมถึงบริษัทสหรัฐในหลากหลายสาขา เช่น กลุ่มเทคโนโลยี ดิจิทัล ความมั่นคงไซเบอร์ กลุ่มการแพทย์ เทคโนโลยีชีวภาพ และกลุ่มที่ปรึกษา เป็นต้น ซึ่งความร่วมมือระหว่างไทยและสหรัฐ รวมถึงการเชื่อมโยงของผู้คน ความคิด และแรงบันดาลใจ ซึ่งถือเป็นรากฐานของอนาคตที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น และความร่วมมือกับความท้าทาย และปลดล็อกโอกาสใหม่ที่จะเกิดขึ้นร่วมกัน

ค้านนำเข้าสินค้าเกษตร

ด้านความเคลื่อนไหวในประเทศไทย นายรังษี ไผ่สอาด นายกสมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากแนวทางการเปิดเจรจาด้านภาษีนำเข้าของสหรัฐออกมา 5 ข้อ โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าเกษตร ซึ่งหากดูเกษตรกรรมประเทศไทยแล้วเป็นเกษตรกรรมแปลงเล็ก มีต้นทุนสูง และการปลูกพืชส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นพืชตัดแต่งพันธุกรรม หรือจีเอ็มโอ อีกทั้งให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ

หากอนุญาตนำเข้าพืชจีเอ็มโอที่มาจากต่างประเทศ แล้วธัญพืชที่ผลิตภายในประเทศ เช่น มันสำปะหลัง รำข้าว เป็นต้น จะทำอย่างไร ซึ่งเชื่อว่าผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้องหาวัตถุดิบที่มีราคาถูกเพื่อนำมาผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งอาจจะทำให้เกษตรกรไทยเสียเปรียบได้ ถ้าหากจะต้องการส่งเสริม มองว่าควรที่จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพไปลงทุนที่สหรัฐจะดีกว่า

ห่วงข้าวโพดจีเอ็มโอทะลัก

รายงานข่าวจากสมาคมการค้าพืชไร่ระบุว่า สมาคมการค้าพืชไร่ไม่เห็นด้วยที่จะนำเข้าสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นพืชที่มีการตัดต่อพันธุกรรม ขณะที่ภายในประเทศไม่ได้มีการอนุญาตปลูก ทดลองพืชจีเอ็มโอแต่อย่างใด ซึ่งปัจจุบันการนำเข้าข้าวโพดของไทยทำอยู่ภายใต้เขตสมาชิกเขตการค้าเสรีอาเซียนอยู่แล้ว ดังนั้นหากนำเข้าเชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อภาคการเกษตร ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้

“การที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพิจารณานำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากสหรัฐ ตอนนี้ไม่มีความชัดเจนในรายละเอียด ระยะเวลา ปริมาณ อีกทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของสหรัฐยังเป็นพืชจีเอ็มโอ ซึ่งประเทศไทยห้ามปลูก หากนำเข้าก็อาจจะไม่เป็นธรรมต่อเกษตรกรภายในประเทศ และยังมองว่าวัตถุดิบในกลุ่มคาร์โบไฮเดรต ภายในประเทศ เช่น ปลายข้าว มันสำปะหลัง ยังมีเพียงพอที่จะสามารถนำมาผลิตเป็นอาหารสัตว์ได้”

รำข้าว-ปลายข้าวราคาตก

นายบรรจง ตั้งจิตรวัฒนากุล นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ทางผู้ประกอบการโรงสีมองว่าการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากสหรัฐอเมริกา จะส่งผลกระทบต่อราคาข้าวภายในประเทศ โดยเฉพาะรำข้าวและปลายข้าว ซึ่งขณะนี้พบว่าราคารำข้าวลดลงในรอบ 10 ปี จากเดิมที่เคยเฉลี่ยราคาอยู่ที่ 11 บาทต่อกิโลกรัม ลงมาอยู่ที่ 7 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคาปลายข้าวจากเดิมอยู่ที่ 14 บาทต่อกิโลกรัม ลงมาอยู่ที่ 10 บาทต่อกิโลกรัม และไม่รู้ว่าราคาจะต่ำลงกว่านี้หรือไม่

ต้องยอมรับว่าราคารำข้าวและปลายข้าวลดลงต่อเนื่อง ตั้งแต่มีปัญหาเรื่องภาษีสหรัฐ โดยประเทศไทยมีผลผลิตข้าวเปลือกต่อปีเฉลี่ยอยู่ที่ 33 ล้านตัน โดยเป็นรำข้าวอยู่ที่ 3 ล้านตัน และใช้เพื่อผลิตอาหารสัตว์อยู่ที่ 2.9 ล้านตัน เป็นปลายข้าวอยู่ที่ 4-5 ล้านตัน ใช้ผลิตอาหารสัตว์อยู่ที่ 1.7 ล้านตัน ส่วนที่เหลือจะส่งออกไปต่างประเทศ แต่ปัจจุบันพบว่าการส่งออกไปต่างประเทศตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันลดลงถึง 30% จากปัญหาที่เกิดขึ้น

กังวลสินค้าเกษตรวิกฤต

ทั้งนี้ หากนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หรือลดการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ จะส่งผลทำให้วัตถุดิบรำข้าวและปลายข้าวล้นตลาด ปริมาณสต๊อกขยับขึ้น ขายออกไม่ได้ ส่งออกไม่ได้ โดยอาจทำให้มีผลต่อราคาการรับซื้อข้าวได้ ขณะนี้ราคาข้าวสารปรับลดลงอยู่ที่ 12.50 บาทต่อกิโลกรัม ลดลงจาก 21 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งลดลงมา 40% จากปัจจัยที่อินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวมากขึ้น ส่วนอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ลดการนำเข้า

อย่างไรก็ดี เกษตรกร ชาวไร่ ชาวสวน ซึ่งขณะนี้ได้รับผลกระทบด้านราคาสินค้าตกต่ำ อีกทั้งนโยบายหรือแนวทางแก้ไขปัญหาดูแลยังไม่มีอะไรที่ชัดเจน โดยเฉพาะมาตรการดูแลราคาข้าว ซึ่งราคาปรับลดลงต่อเนื่อง หากมีการพิจารณานำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐ และไม่มีการศึกษาในรายละเอียด ผลกระทบจะเป็นอย่างไร การจัดการไม่ดี เชื่อว่าการสินค้าเกษตรจะเกิดวิกฤตอย่างหนัก จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

ชาวนายังรอเงิน 1,000 บาท

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า สถานการณ์ล่าสุดของราคาข้าวนาปรังอยู่ที่ 7,000 บาทต่อตัน ขณะที่ต้นทุนการปลูกของชาวนาเฉลี่ยอยู่ที่ 6,000-7,000 บาทต่อไร่ ซึ่งยอมรับว่าราคาข้าวตกต่ำอย่างมาก นอกจากนี้ ผลผลิตข้าวนาปรังออกสู่ตลาดและเก็บเกี่ยวใกล้หมดแล้ว เหลือเพียง 10-20% เท่านั้น ขณะที่เกษตรกรก็เริ่มจะเพาะปลูกข้าวนาปีแล้ว

ขณะที่การขึ้นทะเบียนเพื่อรับมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาล 1,000 บาทต่อ 10 ไร่นั้น พบว่ามีเกษตรกรขึ้นทะเบียนไปแล้วทั้งสิ้น 700,000 ครัวเรือน หรือประมาณ 11,000,000 ไร่ คาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 7,000 ล้านบาท มากกว่าที่มีการคาดการณ์ไปก่อนหน้านี้ ทำให้กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อยู่ระหว่างการตรวจสอบเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนว่ามีการปลูกข้าวนาปรังจริงหรือไม่

ส่วนการพิจารณาที่จะมีการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐ โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ไม่เห็นด้วย เนื่องจากวัตถุดิบในกลุ่มโปรตีนภายในประเทศมีจำนวนที่จะมาทดแทนได้ โดยเฉพาะปลายข้าว รำข้าว