
ชาวไร่มัน-ข้าวโพด-โรงสี-ชาวนา ออกโรงเคลื่อนไหวค้านนำเข้า พืชจีเอ็มโอ จากต่างประเทศ ชี้ไม่เท่าเทียม พืชไทยห้ามปลูก-ทดลอง ย้ำนำเข้าจะกระทบต่อพืชโปรตีนอื่น รำข้าว-มันสำปะหลังราคาตก
นายรังษี ไผ่สอาด นายกสมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากแนวทางการเปิดเจรจาด้านภาษีนำเข้าของสหรัฐออกมา 5 ข้อ โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าเกษตร ซึ่งหากดูเกษตรกรรมประเทศไทยแล้วเป็นเกษตรกรรมแปลงเล็ก มีต้นทุนสูง และการปลูกพืชส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นพืชตัดแต่งพันธุกรรม หรือจีเอ็มโอ อีกทั้งให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ
หากอนุญาตนำเข้าพืชจีเอ็มโอที่มาจากต่างประเทศ แล้วธัญพืชที่ผลิตภายในประเทศ เช่น มันสำปะหลัง รำข้าว เป็นต้น จะทำอย่างไร ซึ่งเชื่อว่าผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้องหาวัตถุดิบที่มีราคาถูกเพื่อนำมาผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งอาจจะทำให้เกษตรกรไทยเสียเปรียบได้ ถ้าหากจะต้องการส่งเสริม มองว่าควรที่จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพไปลงทุนที่สหรัฐจะดีกว่า
ขณะที่ การส่งออกมันเส้นไปตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักของการส่งออก ตอนนี้นำเข้าลดลงเนื่องจากจีนลดการผลิตเอทานอลลง ซึ่งการส่งออกมันเส้นของไทยลดลงมาจากปกติ 5-6 ล้านตัน ตอนนี้อยู่ที่ 2 ล้านตัน ส่วนแป้งมัน 5 ล้านตัน ลดลงมา 3.8 ล้านตัน ในปีที่ผ่านมา ส่วนปีนี้ไม่รู้ว่าการส่งออกจะเป็นอย่างไรซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างกระทบ
ส่วนราคาตอนนี้หัวมันสดอยู่ที่กว่า 1-1.50 บาทต่อกิโลกรัม เชื่อแป้งที่ 25% ส่วนต้นทุนของเกษตรกรอยู่ที่ 2.50 บาทต่อกิโกลรัม ทำให้ตอนนี้เกษตรกรไม่ได้ทำออกการขุดมันสำปะหลัง ออกมาช่วงนี้เป็นช่วงที่ และก็กำลังเข้าสู่ที่เกษตรกรเริ่มปลูกมันสำปะหลังและคาดว่าจะขุดอีกทีในช่วงปลายปีนี้ ส่วนมาตรการช่วยเหลือชาวไร่มัน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่มีแนวทางช่วยเหลือ เช่น โรคใบด่าง ท่อนพันธ์มันสำปะหลังต้านทานโรค
“ผู้ผลิตอาหารสัตว์จะใช้มันสำปะหลัง ในการผลิตอาหารสัตว์เฉลี่ยประมาณต่อปีอยู่ที่ 1.2-1.5 ล้านตัน แต่ตอนนี้ใช้ประมาณ 4 แสนตัน ซึ่งลดลงอย่างมาก เพราะไปใช้วัตถุดิบอื่นทดแทนวัตถุดิบในประเทศมากกว่า เช่น ข้าวสาลี ขณะที่ ผลผลิตปีนี้คาดว่าอยู่ที่ 26 ล้านตัน หรือประมาณ 8 ล้านไร่ ลดลงจากปีที่ผ่านมาเพราะราคาไม่ดี เกษตรกรหันไปปลูกพืขอื่นมากขึ้น เช่น อ้อย”
ห่วงข้าวโพดจีเอ็มโอทะลัก
รายงานข่าวจากสมาคมการค้าพืชไร่ระบุว่า สมาคมการค้าพืชไร่ไม่เห็นด้วยที่จะนำเข้าสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นพืชที่มีการตัดต่อพันธุกรรม ขณะที่ภายในประเทศไม่ได้มีการอนุญาตปลูก ทดลองพืชจีเอ็มโอแต่อย่างใด ซึ่งปัจจุบันการนำเข้าข้าวโพดของไทยทำอยู่ภายใต้เขตสมาชิกเขตการค้าเสรีอาเซียนอยู่แล้ว ดังนั้นหากนำเข้าเชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อภาคการเกษตร ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้
“การที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพิจารณานำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากสหรัฐ ตอนนี้ไม่มีความชัดเจนในรายละเอียด ระยะเวลา ปริมาณ อีกทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของสหรัฐยังเป็นพืชจีเอ็มโอ ซึ่งประเทศไทยห้ามปลูก หากนำเข้าก็อาจจะไม่เป็นธรรมต่อเกษตรกรภายในประเทศ และยังมองว่าวัตถุดิบในกลุ่มคาร์โบไฮเดรต ภายในประเทศ เช่น ปลายข้าว มันสำปะหลัง ยังมีเพียงพอที่จะสามารถนำมาผลิตเป็นอาหารสัตว์ได้”
รำข้าว-ปลายข้าวราคาตก
นายบรรจง ตั้งจิตรวัฒนากุล นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ทางผู้ประกอบการโรงสีมองว่าการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากสหรัฐอเมริกา จะส่งผลกระทบต่อราคาข้าวภายในประเทศ โดยเฉพาะรำข้าวและปลายข้าว ซึ่งขณะนี้พบว่าราคารำข้าวลดลงในรอบ 10 ปี จากเดิมที่เคยเฉลี่ยราคาอยู่ที่ 11 บาทต่อกิโลกรัม ลงมาอยู่ที่ 7 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคาปลายข้าวจากเดิมอยู่ที่ 14 บาทต่อกิโลกรัม ลงมาอยู่ที่ 10 บาทต่อกิโลกรัม และไม่รู้ว่าราคาจะต่ำลงกว่านี้หรือไม่
ต้องยอมรับว่าราคารำข้าวและปลายข้าวลดลงต่อเนื่อง ตั้งแต่มีปัญหาเรื่องภาษีสหรัฐ โดยประเทศไทยมีผลผลิตข้าวเปลือกต่อปีเฉลี่ยอยู่ที่ 33 ล้านตัน โดยเป็นรำข้าวอยู่ที่ 3 ล้านตัน และใช้เพื่อผลิตอาหารสัตว์อยู่ที่ 2.9 ล้านตัน เป็นปลายข้าวอยู่ที่ 4-5 ล้านตัน ใช้ผลิตอาหารสัตว์อยู่ที่ 1.7 ล้านตัน ส่วนที่เหลือจะส่งออกไปต่างประเทศ แต่ปัจจุบันพบว่าการส่งออกไปต่างประเทศตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันลดลงถึง 30% จากปัญหาที่เกิดขึ้น
กังวลสินค้าเกษตรวิกฤต
ทั้งนี้ หากนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หรือลดการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ จะส่งผลทำให้วัตถุดิบรำข้าวและปลายข้าวล้นตลาด ปริมาณสต๊อกขยับขึ้น ขายออกไม่ได้ ส่งออกไม่ได้ โดยอาจทำให้มีผลต่อราคาการรับซื้อข้าวได้ ขณะนี้ราคาข้าวสารปรับลดลงอยู่ที่ 12.50 บาทต่อกิโลกรัม ลดลงจาก 21 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งลดลงมา 40% จากปัจจัยที่อินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวมากขึ้น ส่วนอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ลดการนำเข้า
อย่างไรก็ดี เกษตรกร ชาวไร่ ชาวสวน ซึ่งขณะนี้ได้รับผลกระทบด้านราคาสินค้าตกต่ำ อีกทั้งนโยบายหรือแนวทางแก้ไขปัญหาดูแลยังไม่มีอะไรที่ชัดเจน โดยเฉพาะมาตรการดูแลราคาข้าว ซึ่งราคาปรับลดลงต่อเนื่อง หากมีการพิจารณานำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐ และไม่มีการศึกษาในรายละเอียด ผลกระทบจะเป็นอย่างไร การจัดการไม่ดี เชื่อว่าการสินค้าเกษตรจะเกิดวิกฤตอย่างหนัก จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
ชาวนายังรอเงิน 1,000 บาท
นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า สถานการณ์ล่าสุดของราคาข้าวนาปรังอยู่ที่ 7,000 บาทต่อตัน ขณะที่ต้นทุนการปลูกของชาวนาเฉลี่ยอยู่ที่ 6,000-7,000 บาทต่อไร่ ซึ่งยอมรับว่าราคาข้าวตกต่ำอย่างมาก นอกจากนี้ ผลผลิตข้าวนาปรังออกสู่ตลาดและเก็บเกี่ยวใกล้หมดแล้ว เหลือเพียง 10-20% เท่านั้น ขณะที่เกษตรกรก็เริ่มจะเพาะปลูกข้าวนาปีแล้ว
ขณะที่การขึ้นทะเบียนเพื่อรับมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาล 1,000 บาทต่อ 10 ไร่นั้น พบว่ามีเกษตรกรขึ้นทะเบียนไปแล้วทั้งสิ้น 700,000 ครัวเรือน หรือประมาณ 11,000,000 ไร่ คาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 7,000 ล้านบาท มากกว่าที่มีการคาดการณ์ไปก่อนหน้านี้ ทำให้กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อยู่ระหว่างการตรวจสอบเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนว่ามีการปลูกข้าวนาปรังจริงหรือไม่
ส่วนการพิจารณาที่จะมีการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐ โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ไม่เห็นด้วย เนื่องจากวัตถุดิบในกลุ่มโปรตีนภายในประเทศมีจำนวนที่จะมาทดแทนได้ โดยเฉพาะปลายข้าว รำข้าว