GPSC เปิดโรดแมปลดคาร์บอนสู่เป้า NetZero

โซลาร์ อินเดีย

เครือ ปตท.ปักธงลุยลดคาร์บอน โดยมี GPSC เป็นหัวหอก เผยโรดแมปสู่เป้า Net Zero เพิ่มพลังงานสีเขียว โฟกัสที่อินเดีย ขณะเดียวกันลดการใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้า ด้วยการศึกษาการใช้แอมโมเนียเป็นเชื้อเพลิงร่วมกับถ่านหิน เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ผุด “มาบตาพุดโปรเจ็กต์” คุยลูกค้าอุตสาหกรรมหาโซลูชั่นเพิ่มประสิทธิภาพ แต่คำตอบสุดท้ายของพลังงานสีเขียว คือ โรงไฟฟ้า SMR ตอบตรงโจทย์ที่สุด

“นายศิริเมธ ลี้ภากรณ์” ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC กล่าวว่า เป้าหมายของ GPSC สอดรับนโยบายเพื่อก้าวสู่การเป็นบริษัทชั้นนำด้านนวัตกรรมพลังงานเพื่อความยั่งยืนระดับโลก ภายใต้แผนกลยุทธ์ของกลุ่ม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยในปี 2030 ตั้งเป้าเป็น TOP 3 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้านกำลังการผลิต ซึ่งขณะนี้บริษัทเป็นอันดับ 2 ไม่รวมรัฐวิสาหกิจ เป้าหมายที่สอง คือ การตั้งสัดส่วนกำลังผลิต Green Energy (More Than Half Megawatt) ในสัดส่วน 50%

ซึ่งปัจจุบัน GPSC บรรลุเป้าหมายแล้ว โดยมีสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าที่อินเดียที่ 8,000 เมกะวัตต์ หรือ 40% ของพอร์ตรวม 20,000 เมกะวัตต์ ส่วนแผนระยะยาวคือ เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2060 ซึ่งเราวาง Road Map ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยการผลิตไฟฟ้าให้ได้ 10% ในปี 2025 และ 35% ในปี 2030 จนนำไปสู่ระยะยาวในปี 2050 และ 2060

การลดคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมาย ผ่านแผนโรดแมป 4 แนวทาง คือ

1) ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel) เรามีกระบวนการบริหารจัดการใช้ AI ประมวลผล เรียกว่า Asset Optimization (AO) เป็นโปรแกรมที่เราใช้ประมวลผลโรงไฟฟ้าตามหลักการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าเพื่อให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำที่สุด (Merit Order) ตัวไหนต้นทุนต่ำสุด ประสิทธิภาพดีที่สุด เราจะเดินเครื่องโรงไฟฟ้านั้นอย่างเต็มที่เพื่อใช้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นหลักการที่ทำให้บริษัทใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ ในแต่ละปีสามารถลดการปลดปล่อยคาร์บอน 60,000 ตันต่อปี และมีโปรแกรมปรับปรุงดีไซน์เพื่อให้การเผาไหม้ การใช้พลังงานที่ดีที่สุดด้วย

2) Growth Green Energy โดยมุ่งเน้นลงทุนที่อินเดีย ซึ่งประเมินว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า GPSC จะมีกำลังการผลิตรวม 20,000 เมกะวัตต์
ใช้แอมโมเนียช่วยลดคาร์บอน

ใช้แอมโมเนียช่วยลดคาร์บอน

3) การออกแบบโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ที่ช่วยลดคาร์บอน ตอนนี้ก็มีการศึกษา เช่น การนำแอมโมเนียมาใช้ร่วมกับการเผาถ่านหิน ในโรงไฟฟ้าถ่านหิน (Ammonia Co-Firing) โดยหากสามารถเผาแอมโมเนียและถ่านหินร่วมกันได้ในสัดส่วน 50 : 50 โดยน้ำหนักจะ เปรียบเสมือนเท่ากับโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่ง GPSC ได้ลงนามบันทึกความข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับบริษัท Doosan Enerbility Co, Ltd. ผู้เชี่ยวชาญในงานวิศวกรรมก่อสร้างโรงไฟฟ้าและผลิตอุปกรณ์กระบวนการผลิต อาทิเช่น Reactor ของ SMR เป็นต้น

ADVERTISMENT

เพื่อร่วมกันศึกษาและพัฒนาการใช้เชื้อเพลิงร่วม (Fuel Shifts & Hybridization) เทคโนโลยี CCUS (Carbon, Capture, Utilization & Storage) หรือการดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งโซลูชั่นพลังงานปลอดคาร์บอน (Carbon Free Energy Solutions) อื่น ๆ เพื่อการนำไปสู่การลดการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำในโรงไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในความมุ่งมั่นและพันธกิจหลักของบริษัท เพื่อมุ่งลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ โดยมีแผนการศึกษาร่วมกันระยะเวลา 3 ปี (ปี 2567-2569)

“ เราประมาณการว่าหากสามารถใช้แอมโมเนียเผาร่วมกับถ่านหิน 50 % โดยน้ำหนักจะมีความต้องการแอมโมเนียปีละ 1,000,000 ตัน แม้ว่าปัจจุบันราคาแอมโมเนียยังสูงอยู่มากเมื่อเทียบกับถ่านหินแต่ในอนาคตเมื่อมีความต้องการสูงขึ้นทั่วโลก ก็สามารถมีราคาที่ลดลงจนเหมาะสมที่จะดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้” นายศิริเมธกล่าว

4) Trading Offset เช่น การรับซื้อคาร์บอน การออกใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate หรือ REC) เพื่อตอบสนองความต้องการคาร์บอน และจัดหาให้กับลูกค้า รวมถึงโครงการปลูกป่า ตั้งเป้าไว้ 10,000 ไร่ เพื่อคืนประโยชน์ให้กับสังคม และช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์
ผุด “มาบตาพุดโปรเจ็กต์”

นอกจากนี้ ในกลุ่ม ปตท.ได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์การลดการปล่อยคาร์บอน โดย GPSC ได้รับมอบหมายให้เป็น Decarbonization ให้กับกลุ่ม ปตท. โดยเฉพาะการเป็นแกนหลักในการจัดหาแหล่งไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Supply) ซึ่งบริษัทจะทำเรื่องหลัก คือ

1) โครงการมาบตาพุดโปรเจ็กต์ (Maptaphut Decarbonization Project) ซึ่งมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดตอนนี้ประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ ภายในพื้นที่มาบตาพุดทั้งหมด ซึ่งบริษัทได้เริ่มเข้าไปพูดคุยหารือกับลูกค้า เพื่อหาแนวทางความร่วมมือในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ช่วยลดคาร์บอน ซึ่งขณะนี้มีการคุยไปแล้ว 75% ของลูกค้าทั้งหมด

2) การจัดหาพลังงานสะอาดให้เพียงพอ เช่น การร่วมกับพันธมิตรใน สปป.ลาว ดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อน (Hydro Energy) ซึ่ง GPSC มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำห้วยเหาะที่ลาว กำลังการผลิตทั้งหมด 152 เมกะวัตต์ เป็นแอ่งน้ำที่อยู่บนเขา เจาะอุโมงค์ดิ่งลงมาประมาณ 800 เมตร ไฟส่งเข้าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประมาณ 126 เมกะวัตต์ ที่เหลือขายให้กับ สปป.ลาว ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างหาแนวทางที่จะดึงไฟเข้ามาเพิ่มขึ้น เพื่อสนับสนุนพลังงานสีเขียว

ยันเป็นภารกิจเพื่อความยั่งยืน

GPSC มีความชัดเจนมานานแล้ว ทั้งเรื่องของการไม่ขยายเพิ่มในพลังงานจากถ่านหิน พร้อมกับควบคุมประสิทธิภาพไม่โตต่อในพอร์ตถ่านหิน ชัดเจนในเรื่องการบริหาร ควบคุมประสิทธิภาพการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อย่างเต็มที่ ภารกิจดังกล่าวไม่ได้ช่วยเพิ่มผลกำไรสูงสุด (Maximize Profit) เพราะต้องมีการลงทุน ค่าใช้จ่ายสูง แต่จะเป็นการลงทุนเพื่อความยั่งยืน และทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตอบสนองความต้องการของลูกค้า

อย่างไรก็ตาม ภารกิจในการลดคาร์บอนเพื่อไปสู่เป้าหมาย Net Zero ทั้ง 4 แนวทางดังกล่าว สามารถช่วยลดคาร์บอนได้สูงสุดเพียง 50% ของจำนวนคาร์บอนทั้งหมดที่ปล่อยออกมา หากจะให้ได้เป็นศูนย์ หรือเป็นพลังงานสีเขียวทั้งหมด ก็จำเป็นต้องจัดหาพลังงานไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR)
SMR คือ คำตอบสุดท้าย

GPSC มีเป้าหมายทำธุรกิจให้ครอบคลุมทุกความสมดุลด้านพลังงาน (Energy Trilemma) มี 3 องค์ประกอบ คือ มีความมั่นคงทางพลังงาน (Energy Security) ความสามารถในการเข้าถึงได้ (Affordability) และความยั่งยืน (Sustainability) ดังนั้น สิ่งที่สนับสนุนและตอบโจทย์เรื่องนี้ คือ SMR (Small Modular Reactor) หรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก

“ขณะนี้ GPSC ร่วมกับบริษัท Seaborg Technologies จากประเทศเดนมาร์ก ศึกษาความเป็นไปได้และความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ในการพัฒนาโครงการ SMR กำหนดระยะเวลาศึกษา 4 ปี (ระหว่างปี 2567-2570) ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุด คือ จะต้องทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในมาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งมั่นใจว่า GPSC จะเป็นเอกชนรายแรกที่ทำโครงการนี้ โดยมี กฟผ. เป็นผู้เริ่มนำร่องในไทย”