6 ค่ายรถใหญ่ประสานเสียง ตลาด EV ไทยบูม แต่ยังขาดคน-เทคโนโลยี

SUBCON Thailand 2025

เป้าหมาย 30@30 ที่ประเทศไทยจะกลายเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทุกประเภท ไม่ว่าจะปลั๊ก-อิน (PEV) ปลั๊ก-อิน ไฮบริด (PHEV) และแบตเตอรี่ (BEV) ค่อนข้างที่จะไปได้สวยกับการสร้างดีมานด์ในประเทศตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้ขณะนี้มีกำลังการผลิตแล้วถึง 400,000 คัน/ปี จากเป้าที่ต้องผลิตให้ได้ 725,000 คัน ในปี 2573 ในงาน SUBCON Thailand 2025 ที่จัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา 6 ค่ายรถแบรนด์ดัง BENZ BMW TOYOTA HONDA MG CHANGAN ได้สะท้อนสภาพตลาด ปัญหาและอุปสรรค ส่งถึงรัฐบาล

ยันไฮบริดยังตอบโจทย์ที่สุด

สำหรับอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Future Mobility) นายมาร์ทิน ชเวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (BENZ) ยังคงเชื่อว่าพลังงานไฟฟ้า ดิจิทัล คือสิ่งที่โลกต้องการ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ไม่เพียงแต่นำเสนอรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ครบทุกประเภท แต่ยังมุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยี PHEV ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เชื่อมต่อระหว่างรถยนต์ไฟฟ้ากับรถยนต์สันดาปภายใน และช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า 100% ได้ โดยมีแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างสถานีชาร์จ

ที่สำคัญคือ การร่วมมือยกระดับทักษะแรงงานรองรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งถือเป็นความท้าทายสำหรับ Supply Chain ในประเทศไทย

ขณะที่ นายเรเน่ แกร์ฮาร์ด ประธานและซีอีโอ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย มองว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคต คือ เทคโนโลยีดิจิทัลและความยั่งยืน BMW จึงมุ่งหน้าส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้ากว่า 1.5 ล้านคันทั่วโลก และปี 2568 เตรียมเปิดตัว “Neue Klasse” ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเจเนอเรชั่นใหม่ที่เน้นเทคโนโลยีดิจิทัล พลังงานไฟฟ้า และเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อทำให้สัดส่วน EV เพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 30%

พร้อมทั้งจับมือซัพพลายเออร์เพื่อพัฒนาระบบดิจิทัล โลจิสติกส์ และไอที เพราะสิ่งนี้เป็นกลไกหลักในการรับมือกับความผันผวนของการค้าโลกที่เกิดขึ้น และทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 ค่ายยักษ์ใหญ่จากฝั่งยุโรปยังคงเริ่มสเต็ปของ EV ด้วย PHEV เพื่อทำตลาดในไทย เนื่องจากผู้บริโภคยังคงเป็นกังวลกับเทคโนโลยีของการใช้งานด้านแบตเตอรี่และความเพียงพอของสถานีชาร์จ

และต้องยอมรับว่า รถ EV ยังมีราคาที่สูงเมื่อเทียบกับรถสันดาป (ICE) ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง นายโคจิ อิวานามิ ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ทางแก้คือนวัตกรรม ซึ่งรัฐต้องร่วมมือและสนับสนุนผู้ผลิตชิ้นส่วนในไทยให้พัฒนาเทคโนโลยี ทั้งด้านความรู้ความเชี่ยวชาญฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ ตลาด EV ของไทยไปได้ไกลและเร็ว

ADVERTISMENT

ซึ่งฮอนด้าจะช่วยผลักดันพัฒนาอุตสาหกรรมและระบบนิเวศของ xEV ซึ่งเริ่มทำตลาด HEV ที่ไทยตลอด 6 ปี เติบโตถึง 36% และทำให้ปี 2567 ฮอนด้ามียอดขายไฮบริดเพิ่มขึ้นในทุกประเทศ และปี 2569 เตรียมเปิดตัว Honda 0 Series รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่สู่ตลาดโลก และจะขยับไปสู่ BEV ในอนาคต

BEV เริ่มชะลอตัวทั่วโลก

นายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันแนวโน้มตลาด BEV ทั่วโลกเริ่มชะลอตัวลง ในขณะที่ตลาด HEV โตขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดในอาเซียน เห็นได้ชัดในประเทศไทย ทาง TOYOTA ยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยี HEV ขณะเดียวกันก็เตรียมแผนผลิตรถกระบะไฟฟ้าในไทย ปลายปี 2568

นายสุโรจน์ แสงสนิท รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี (MG) กล่าวว่า ตลาด xEV ไทยขยายตัวรวดเร็วและมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยเป็นการเปลี่ยนผ่านอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภายใต้นโยบายมุ่งสู่ความยั่งยืน โดย MG พร้อมยกระดับซัพพลายเชนในประเทศ ผ่านความร่วมมือและถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย และผลักดันไทยสู่ศูนย์กลางการผลิตและส่งออก xEV ของอาเซียน

นายกวน ซิน รองประธาน บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย จำกัด (CHANGAN) กล่าวว่า แนวโน้ม xEV ยังเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดว่าการใช้ xEV ทั่วโลก จะมีสัดส่วน 40% ของการใช้รถยนต์ทั้งหมด ในปี 2571 ซึ่งรวมถึงตลาดในประเทศไทยด้วย ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทั้ง BEV, HEV และ PHEV ยังมีทิศทางเติบโต และได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากภาครัฐ CHANGAN มีความมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตใหม่ ๆ โดยเฉพาะในโรงงานที่ประเทศไทย ซึ่งเป็นโรงงานในต่างประเทศแห่งแรก และมีเป้าหมายในการพัฒนาบุคลากร ถ่ายทอดเทคโนโลยี การใช้แรงงาน และชิ้นส่วนในประเทศเพื่อยกระดับไทยให้เป็นฐานผลิตที่แข็งแกร่งของ CHANGAN ในอนาคต

ฝากรัฐช่วยพัฒนาช่าง

ทั้ง 6 รายมีมุมมองที่ค่อนข้างตรงกัน ไม่ว่าจะความท้าทายหรือปัญหาในตอนนี้ คือการที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ายัง “ขาดแคลนทักษะในส่วนที่เป็นช่างเทคนิค” ทำให้ค่ายรถอย่าง CHANGAN จำเป็นที่ต้องดึงซัพพลายเออร์จากจีนเข้ามา เช่น ผู้ผลิตสายไฟ ขณะที่ MG ต้องนำเข้าแบตเตอรี่เซลล์ แต่ยังคงพยายามที่จะใช้วัตถุดิบในประเทศจาก Local Content ในสัดส่วนที่ 40% ไว้ และจะขยับให้มากกว่านี้ ในวันที่ Ecosystem ในประเทศพร้อมแล้ว ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ HEV จะครองตลาดและขยายตัวได้ก่อน

ด้าน BENZ และ BMW ผู้ผลิตจากฝั่งยุโรปยังคงยืนหยัดการลงทุนในไทย แต่สำหรับ EV อาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทั้ง 2 มีความยูนีคกับตลาดบนมากกว่า ดังนั้นเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านในอนาคต ภาครัฐจำเป็นต้องปรับเงื่อนไขในการใช้ชิ้นส่วนในประเทศให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น สำหรับผู้ประกอบการที่เป็น Small Volume พร้อมกับเร่งเจรจา FTA ไทย-อียู เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าและการส่งออกให้มากขึ้น เช่นเดียวกับ MG เพราะเมื่อใดที่สามารถขยายไปสู่ยุโรปได้เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่ 5% นั่นคือ ยอดผลิตรถ EV จะแตะ 100,000 คัน/ปี

อย่างไรก็ตาม การจะผลักดันให้ไทยเป็นฐานผลิตที่แข็งแกร่งของ xEV จะต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการสร้างตลาดภายในประเทศให้แข็งแกร่ง รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ และค่ายรถของจีนเองต้องการให้ซัพพลายเออร์ไทย-จีน ได้มีโอกาสร่วมมือกัน โดยในช่วงแรกอาจให้จีนเป็นผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้

นอกจากนี้ รัฐบาลต้องเร่งพัฒนาซอฟต์แวร์ พัฒนาคนด้านไอทีและ AI ควบคู่กับการฟื้นกำลังซื้อ การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน การลงทุนด้านสถานีชาร์จที่ต้องมีมากกว่านี้ ผลักดันให้หน่วยงานรัฐ โดยเริ่มที่สถาบันการศึกษาใช้ EV และควบคุมกลไกของราคาให้แข่งขันแบบยุติธรรม

ความสำเร็จของตลาดรถ EV ในไทย เกิดขึ้นได้เพราะการมีอยู่ของผู้ผลิตชิ้นส่วนที่อยู่ใน Supply Chain กว่า 2,000 บริษัท และมีการจ้างงานกว่า 900,000 คน โดย 3 ปีที่ผ่านมา (2565-2567) ความนิยมในรถยนต์ xEV ไม่ว่าจะเป็น BEV, PHEV และ HEV เติบโตอย่างรวดเร็ว จากยอดจดทะเบียนรถยนต์ xEV 84,500 คัน ในปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 206,000 คัน ในปี 2567 โดยมีการขอรับส่งเสริมการลงทุนในการผลิตรถยนต์ xEV และชิ้นส่วน จำนวน 644 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 280,000 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าอุตสาหกรรมยานยนต์กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์สมัยใหม่