ตั้ง “กองทุนฟื้นฟูผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน” วงเงิน1,800ล้าน ดอกเบี้ย 1% ให้5หมื่น-1 ล้านบาท/ราย เริ่มปลายเดือน ก.ค.นี้

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหาร สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า ได้กำหนดนโยบายให้กับ สสว. เพื่อดำเนินงานใหม่ภายใต้แผนปฎิรูปประเทศ ซึ่งจะมุ่งเป้าการเพิ่มประสิทธิภาพการส่งเสริม ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะการสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ซึ่งได้เตรียมหารือเพื่อทำงานร่วมกับทาง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึง กระทรวงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เช่นการใช้เรื่องของ E-commerce การร่วมกับมหาวิทยาลัยจัดตั้ง National Startup Center เพื่อบ่มเพาะและเพิ่มมูลค่าให้กับระดับชุมชน

ขณะเดียวกัน สสว. จะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนช่วยเหลือด้านเงินทุน จึงมีการตั้ง กองทุนฟื้นฟูผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน วงเงิน 1,800 ล้านบาท ขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะเริ่มปล่อยสินเชื่อในช่วงเดือน ก.ค. 2561 หรือหากไม่ทันจะเป็นช่วงต้นเดือน ส.ค.

นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือเพื่อ กำหนดเงื่อนไข คุณสมบัติขิง SMEs และวิสาหกิจชุมชน สำหรับ กองทุนฟื้นฟูผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน วงเงิน 1,800 ล้านบาท ซึ่งเป็นกองทุนใหม่ที่จะนำเงินส่วนที่เหลือจาก ซึ่งปัจจุบันกองทุนฟื้นฟู SMEs (ที่เคยมีวงเงินอยู่ 2,000 ล้านบาท) อนุมัติให้ SMEs ไปแล้ว 800 ล้านบาท เหลือวงเงิน 1,200 ล้านบาท และกองทุนพลิกฟื้น (ที่เคยมีวงเงินอยู่ 1,000 ล้านบาท) อนุมัติให้ SMEs ไปแล้ว 400 ล้านบาท เหลือ 600 ล้านบาท มายุบรวมกันตั้งเป็นกองทุนใหม่

ซึ่งกองทุนฯใหม่นี้ อัตราดอกเบี้ย 1% โดยจะปรับลดวงเงินเริ่มต้นที่ 50,000-1,000,000 บาท ปลอดเงินต้น 3 ปีแรก ผ่อนชำระ 7 ปี โดยจะให้ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Bank) เข้ามาช่วยบริหารกองทุนฯ เนื่องจากมีสาขาและความคล่องตัว ซึ่งจะใช้เวลา 7 วัน ในการพิจารณาเพื่อวิเคราะห์ว่า SMEs ผ่านเงื่อนไขและหลักเกณฑ์หรือไม่

สำหรับกองทุนฯใหม่ 1,800 ล้านบาทนั้น มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มากกว่า 5,000 รายโดยเฉพาะรายย่อย จากเดิมที่ปล่อยไปแล้ว 3,000 ราย

“ยอมรับว่าที่ผ่านมาทั้ง 2 กองทุนมีการดำเนินงานที่ไม่ติดปัญหาหลายอย่าง เราจึงต้องเอาบทเรียนเพื่อมาปรับ เช่น กองทุนพลิกฟื้นฯ ที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ติดเงื่อนไขไม่เข้าเกณฑ์ ไม่มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ทำให้จำนวนหลายรายไม่ผ่านการพิจารณา ส่วนกองทุนพลิกฟื้นฯ เอกสารไม่ครบ และต้องมีการรับรองเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้จากสถาบันการเงินเอกชน ซึ่งอาจใช้เวลา แต่ตอนนี้ทาง SME Bank สามารถพิจารณาดูเอกสารเรื่องการปรับโครงสร้างให้ได้เลย ”

ทั้งนี้ สสว. อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อรองรับบทบาทใหม่ที่จะเปลี่ยนไป ในการพัฒนาของ SMEs และวิสาหกิจชุมชน ซึ่งจะมีการประชุมในบอร์ดใหญ่ สสว. เดือน ส.ค. นี้คาดว่าจะทันเดือน ต.ค. โดยเบื้องต้นจะขอเพิ่มจำนวนบุคคลอีก 100 คน จากเดิมมี 240 คน