ปั้น “Smart Jeweler” ต่อยอดอุตฯอัญมณี 1 ล้านล้านบาท

อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย เป็นอุตสาหกรรมด้านการส่งออกสำคัญอันดับ 3 ของประเทศ สร้างมูลค่าให้กับประเทศปีละ 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 8% ของจีดีพี แต่หากกลับมามองลึกเข้าไปในอุตสาหกรรมแล้วยังขาดการส่งเสริม สนับสนุน โดยเฉพาะช่างฝีมือ ซึ่งนับวันก็จะยิ่งลดลงต่อเนื่อง ทั้งที่ฝีมือคนไทยไม่แพ้ต่างชาติเลย “นางดวงกมล เจียมบุตร” ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (GIT) เล่าถึงแนวคิดในการส่งเสริมผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีให้สามารถต่อยอดธุรกิจเป็นสมาร์ทจิวเวเลอร์ “smart jeweler”

จุดเริ่มต้นจากแรงงานขาด

แม้ปัจจุบันจะมีโรงเรียนช่างทองหลวง รวมถึงมหาวิทยาลัยสอนทำเครื่องประดับ แต่ยังมีจำนวนน้อยมาก ในส่วนโรงเรียนช่างทองหลวงผลิตได้เพียง 300 คนต่อปี และเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วก็จะมุ่งสู่อุตสาหกรรมมากกว่าที่จะมาประกอบอาชีพด้วยตนเอง

หากดูข้อมูลเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา มีช่างเครื่องประดับเพียง 10,000 คนในประเทศ ปัจจุบันลดลงไปกว่าครึ่ง และไม่เพิ่มขึ้นแล้ว โดยเฉพาะช่างในชุมชนหรือช่างสืบทอดกันลดน้อยลงมาก

แนวทางส่งเสริมปี”61

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (GIT) ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อนำมาพัฒนากลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับประมาณ 19.4 ล้านบาท เป้าหมายลงพื้นที่พัฒนาใน 5 จังหวัด โดยเริ่มในโครงการแรกใน 5 จังหวัดเป้าหมาย ได้แก่ สตูล เพชรบุรี แพร่ สุรินทร์ ตราด ให้ได้จำนวน 500 ราย และในแต่ละจังหวัดมีอัญมณีและเครื่องประดับที่มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน ทางสถาบันจะเข้าไปช่วยเหลือในเรื่องการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ ช่องทางการขาย อบรมให้ความรู้ พัฒนาเรื่องของเทคนิค และประชาสัมพันธ์

โครงการนี้มีเป้าหมายมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับให้เติบโต ตั้งแต่ระดับฐานรากจนสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ตลอดจนการพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ยกระดับผู้ประกอบการจากการเป็นเพียงผู้รับจ้างผลิต (OEM) ไปสู่การเป็นผู้ประกอบการที่มีดีไซน์

รูปแบบสินค้าของตนเอง (ODM) และผู้ประกอบการที่มีแบรนด์เป็นของตนเอง (OBM) หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการสร้างช้างเผือก “สมาร์ทจิวเวเลอร์” หรือ “smart jeweler” ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายเล็กให้กลายเป็นช่าง เป็นผู้ออกแบบ ผู้ผลิต ผู้จำหน่ายผ่านระบบอีคอมเมิร์ซแบบครบวงจรในคราวเดียว ให้ได้ 20-30 รายในปีนี้

สเต็ปพัฒนา smart jeweler

ทั้งนี้ สถาบันดำเนินการคัดเลือกผู้ประกอบการ โดยจำแนกเป็น กลุ่มที่ต้องเริ่มต้นจากความรู้ และกลุ่มที่พร้อมผลิตและจำหน่ายซึ่งภายในกลุ่มนี้ก็มีความแตกต่างกัน ยังต้องมาคัดเลือก เช่น กลุ่มควิกวิน คือ ผู้ที่มีความพร้อมที่จะผลิตและจำหน่ายในระยะเวลา 3 เดือนได้

กระบวนการสร้าง smart jeweler เริ่มจากการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับเทรนด์ตลาด เทคนิคใหม่ ๆ โดยได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินการพัฒนากลุ่มโรงเรียนเทคนิค เพื่อให้ความรู้ด้านเครื่องมือที่สามารถนำมาเจียระไน และเครื่องมือที่สามารถนำมาใช้ในรูปแบบอื่น ๆ ในการทำอัญมณีและเครื่องประดับ รวมถึงเทคนิคเพื่อสร้างสินค้าเครื่องประดับที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันจะมีการต่อยอดผู้ประกอบการให้เรียนรู้ช่องทางการจำหน่ายรูปแบบใหม่ โดยการเชื่อมโยงไปยังแพลตฟอร์ม “ไทยเทรดดอทคอม” ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และ “ไทยคอมเมิร์ซสโตร์” ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตลอดจนแพลตฟอร์มของจีน ซึ่งทางจีนให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีให้ หากไทยมีสินค้าพร้อมขึ้นวางจำหน่ายด้วย

นอกจากนี้จะเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่น เช่นในส่วนกระทรวงมหาดไทยยังได้งบประมาณที่จะส่งเสริมชุมชนท่องเที่ยว ซึ่งจะเชื่อมโยงผู้ประกอบการดังกล่าวเข้าไปเพื่อสร้างจุดเด่นของชุมชนและจุดขาย อีกทั้งเป็นการเพิ่มช่องทางการขายได้อีกด้วย

ทั้งนี้ หากสามารถยกระดับอุตสาหกรรมนี้ให้เป็น “smart jeweler”ได้จะช่วยผู้ประกอบการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็น SMEs กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศจากจำนวนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้กว่า 30,000 ราย ให้มีความแข็งแกร่ง และสร้างอาชีพให้กับแรงงานในอุตสาหกรรมที่มีมากกว่า 2 ล้านคน