เผยผลสำรวจเอสเอ็มอีไทยมีพุ่ง 5.2 ล้านราย 9 แสนรายไม่จ่ายหนี้

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงสำรวจสถิติและสถานภาพธุรกิจของผู้ประกอบการ จุลเอสเอ็มอี-SMEs ปี 2561 ว่า เดิมสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และข้อมูลสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรม 2560 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ประเมินเอสเอ็มอีไทยไว้ที่ 2,493,044 ล้านราย แต่ล่าสุดเอสเอ็มอีแบงก์และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้สำรวจเอสเอ็มอีรอบใหม่พบข้อมูลน่าสนใจว่า มีผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อย หรือจุลเอสเอ็มอีที่ไม่มีการจดนับในสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรมอีกจำนวน 2,760,251 ราย ได้แก่ กลุ่มผู้ค้า-แผงค้าในตลาด จำนวน 1,286,618 ราย กลุ่มหาบเร่หรือแผงลอย จำนวน 564,039 ราย กลุ่มรถจำหน่ายอาหารเคลื่อนที่หรือฟู้ดทรัค+รถพุ่มพวง จำนวน 90,437 ราย กลุ่มร้านค้าออนไลน์ จำนวน 412,004 ราย กลุ่มร้านแฟรนไชส์ จำนวน 4,900 ราย กลุ่มผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาลรายย่อย จำนวน 170,938 ราย และผู้ประกอบการ อื่นๆ จำนวน 231,315 ราย ดังนั้นประเมินแล้วปัจจุบันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยมีจำนวนมากถึงกว่า 5,253,295 ราย

นายธนวรรธน์กล่าวว่า จากข้อมูลยังพบข้อมูลที่น่าสนใจ คือกลุ่มจุลเอสเอ็มอีที่ไม่ได้จดนับในสำมะโนธุรกิจและอุตสาหกรรมสามารถเข้าถึงแหล่งทุน-สินเชื่อผ่านสถาบันการเงิน (ธนาคาร) ในระบบปกติได้เพียง 20.86% เท่านั้น แบ่งเป็น ธนาคารรัฐ 16.45% ธนาคารพาณิชย์ 4.41% ส่วนใหญ่ใช้ทุนส่วนตัวถึง 39.61% โดยสาเหตุที่จุลเอสเอ็มอีไม่กู้เงินจากธนาคาร เพราะไม่อยากเป็นหนี้ 38.14% ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 20.75% ไม่ผ่านการพิจารณา 12.80% ขั้นตอนเยอะไม่ทันต่อความต้องการ และไม่รู้จะกู้อย่างไร 11.86% เป็นต้น นอกจากนี้จุลเอสเอ็มอีกลุ่มที่มีหนี้สินยังมาจากการกู้ในระบบ 49.30% และหนี้นอกระบบ คิดเป็น 50.70% จากแหล่งเงินกู้นอกระบบและญาติพี่น้องคนสนิท

“ปัจจุบันจุลเอสเอ็มอีมีหนี้เฉลี่ย 193,523.81 บาท เป็นการกู้เงินในระบบ 308,377.66 บาท และเป็นหนี้นอกระบบที่ 33,206.73 บาท โดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาจุลเอสเอ็มอีเคยผิดนัดชำระหนี้หรือผ่อนผันการชำระหนี้ถึง 30.72% หรือประมาณ 900,000 ราย เนื่องจากปัจจัยกำลังซื้อของลดลง ค่าใช้จ่ายหรือค่าครองชีพสูงขึ้น ธุรกิจขาดสภาพคล่อง อัตราดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มขึ้นและอยู่ในช่วงเปิดภาคเรียน” นายธนวรรธน์กล่าว

 

 

ที่มา  มติชนออนไลน์