น้ำมันแพงดันเงินเฟ้อเดือน มิ.ย.เพิ่มขึ้น 1.38% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12

น้ำมันแพงดันเงินเฟ้อเดือน มิ.ย.เพิ่มขึ้น 1.38% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 “พาณิชย์” ปรับประมาณการเงินเฟ้อปี’61 ขยายตัว 0.8-1.6% จากเป้าเดิม 0.7-1.7%

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน มิ.ย.2561 เท่ากับ 102.05 ลดลง 0.09% เมื่อเทียบกับเดือนพ.ค.2561 และเพิ่มขึ้น 1.38% เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.2560 เป็นการขยายตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกันนับจากเดือน ก.ค.2560 ที่เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.17% ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือนแรกของปี 2561 (ม.ค.-มิ.ย.) เพิ่มขึ้น 0.97%

สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อ มิ.ย.เพิ่มขึ้น 1.38% เป็นผลจากดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่ม2.20% สินค้าสำคัญที่ราคาแพงขึ้น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่ม 12.90% หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 5.86% ค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าหอพัก เพิ่ม 1.12% ค่ารักษาและบริการส่วนบุคคล เพิ่ม 0.65%

ส่วนดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลง 0.03% สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง เช่น ผักสด ลด 8.15% เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่และสัตว์น้ำ ลด 1.03% ขณะที่สินค้าราคาแพงขึ้น เช่น อาหารบริโภคนอกบ้าน เพิ่ม 1.32% อาหารบริโภคในบ้าน เพิ่ม 1.32% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 1.60%

“ราคาสินค้าหมวดพลังงานเพิ่มขึ้น 9.57% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 19 และเฉพาะน้ำมันเพิ่มขึ้น 12.90% เป็นเหตุผลให้ เงินเฟ้อเดือนมิ.ย.เพิ่มขึ้น 1.38% แต่สินค้าอาหารสดลดลง 1.75% หดตัวครั้งแรกในรอบ 3 เดือน หากหักอาหารสดและพลังงานออกไป เงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.83% แสดงว่า เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น มาจากความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้เกิดจากน้ำมันแพงเพียงอย่างเดียว ซึ่งถือเป็นเงินเฟ้อที่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจของไทยที่ขยายตัว” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า สนค.ได้ปรับประมาณเงินเฟ้อทั้งปี 2561 ใหม่ จากเดิม 0.7-1.7% เป็น 0.8-1.6% ภายใต้สมมุติฐาน คือ อัตราการเติบโตเศรษฐกิจประเทศเติบโต 4.2-4.7% ราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบ 60-70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากเดิมคาดว่าอยู่ระดับ 55-65 เหรียญสหรัฐบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 32-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยปัจจุบันเงินบาทอ่อนค่าลงมาอยู่ระดับ 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ราคาสินค้าเกษตร ติดลบ 5-7% การบริโภคภาคเอกชน เพิ่ม 3.7% และการส่งออกคาดว่าจะขยายตัวสูงกว่า 8%

“แนวโน้มเงินเฟ้อไตรมาส 3 น่าจะขยายตัวเพิ่ม 1.35% และไตรมาส 4 เพิ่ม 1.5% ทำให้ทั้งปีเงินเฟ้อน่าจะอยู่ในระดับ 1% โดยค่ากลางอยู่ที่ 1.2%” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว

สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคเงินเฟ้อ (เงินเฟ้อพื้นฐาน) หักสินค้าอาหารสดและพลังงาน เดือน มิ.ย.2561 เท่ากับ 102.6 เพิ่มขึ้น 0.11% เทียบกับ พ.ค.2561 และเพิ่มขึ้น 0.83% เทียบกับ มิ.ย.2560 ส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐาน 6 เดือนของปี 2561 เพิ่มขึ้น 0.69%